ญาติวีรชน 35ขวาง นปช.เสนอพรก.นิรโทษฯแกนนำม็อบ ชี้คนเป็นผู้นำต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทั้ง "ทักษิณ-อภิสิทธิ์" พร้อมขอบคุณ "ผบ.ทบ."หยุดคุกคามสื่อ ทำให้บรรยากาศการเมืองลดความตึงเครียดลง โฆษกประธานสภาฯมาแปลกค้านออกพรก.นิรโทษฯล้างผิดปี 50-54 ชี้กระบวนการยุติธรรมยังทำงานปกติอยู่ แขวะหากจะทำควรเป็นช่วงเกิดการรัฐประหาร แนะช่องนิติราษฎรแก้ม.112 ล่ารายชื่อหมื่นรายชื่อผ่านช่องหมวดสิทธิเสรีภาพ
นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 แถลงชื่นชมและแสดงความขอบคุณพล.อ.ประยุทธ์ จันท์โอชา ผบ.ทบ.ที่ได้ออกมาขอโทษสังคมในกรณีทหารคุกคามสื่อ ทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพบกดีขึ้น ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของลูกผู้ชายชาติทหารและถือเป็นวิสัยทัศน์ที่สำคัญของผู้นำเหล่าทัพในการมองไปข้างหน้าและลดความตึงเครียดในบ้านเมืองลง พร้อมทั้งขอร้องอย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก อยากให้ทหารอาชีพทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด
ส่วนที่กลุ่มนปช. ยื่นเรื่องให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมนั้น ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่จะออกเป็นพรก. เพราะไม่เหมาะสม ควรออกเป็นพรบ.โดยผ่านสภามากกว่า จะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย โดยออกเป็นพรบ.นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนที่ร่วมชุมนุมทางการเมืองที่ยังติดคุกอยู่ แต่ไม่รวมแกนนำที่รับผิดชอบและคนที่มีคดีความผิดทางอาญา รวมถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ต้องต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารที่ก่อเหตุ ผู้นำเหล่าทัพต่างๆ จะต้องมาต่อสู้ในชั้นศาลต่อไปตามปกติ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ก็ไม่มีความผิดอยู่แล้ว เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองไทยต่อไป
"คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จะไปขอคำแนะนำและขอการสนับสนุนกับประธานรัฐสภา รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันผลักดันให้เป็นพระราชบัญญัติที่นิรโทษกรรมให้แก่ภาคประชาชนเท่านั้น ทั้งนี้ ผมอยากขอให้อดีต คอป. ชุดอาจารย์คณิต ได้ออกมาสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะเป็นไปตามแนวทางของ คอป.ด้วย"นายอดุลย์กล่าว
ด้านนายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เรียกร้องที่จะมีการเสนอ พ.ร.ก.นิรโทษกรรม สำหรับผู้ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี50-54ว่า ตนเห็นเพียงแค่ข่าว การนิรโทษกรรมถือเป็นอำนาจรัฐบาลที่จะออกเป็น พ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมก็ได้ แต่ส่วนตัวตนเห็นว่าต้องยึดหลักการของกฎหมายเป็นหลัก โดยหากจะมีการนิรโทษกรรมจริงก็ควรจะเป็นการนิรโทษในช่วงที่ไม่มีกระบวนการยุติธรรมปกติ ซึ่งหมายถึงเป็นช่วงที่มีรัฐบาลจากคณะรัฐประหารและองค์กรที่เกิดจากในช่วงรัฐประหารจนทำให้ผู้อื่นได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่หากคดีอาญาใดที่ยังมีอายุความ และยังมีหลักฐานที่ดำเนินการได้อยู่ก็ควรจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ ทั้งนี้ขอเสนอของกลุ่ม นปช.ไม่น่าจะถูกต้อง และมีเหตุผลตอบสังคมไม่ได้
“เมื่อมีกระบวนการยุติธรรมปกติ และคดียังไม่หมดอายุความ ก็ควรจะปล่อยให้ทำงานไปตามปกติ เพราะมันยังไปต่อได้ ผมว่าไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมทั้งหมดตามที่นปช.เสนอ เพราะขัดหลักการกฎหมาย”
นายวัฒนา ยังกล่าวถึงกรณีนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎรยืนยันจะเดินหน้าเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา112 ว่า หากมีการเปลี่ยนหลักการใหม่ โดยโยงเข้ากับหมวดสิทธิเสรีภาพ ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไปรวบรวมรายชื่อใหม่จำนวน10,000รายชื่อมาเสนอ เพราะร่างแก้ไขดังกล่าวที่ถูกตีตกไปนั้น เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์การเสนอกฎหมายโดยประชาชน ที่ระบุว่าจะเข้าชื่อเสนอได้ต้องเป็นนโยบายแห่งรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเท่านั้น แต่ร่างดังกล่าวที่ส่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์โดยตรงจึงถูกตีตกไป
อีกทั้งเมื่อมีการส่งเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาแล้ว หากประธานหรือรองประธานรัฐสภาไม่พิจารณาก่อนปล่อยให้เข้าสู่ระเบียบวาระก็จะถูกดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ได้ ดังนั้นหากกลุ่มนิติราษฎร์ยังต้องการผลักร่างดังกล่าวก็ไปเสนอต่อพรรคการเมืองเพื่อให้ส.ส. จำนวน 20 คน แก้ไขกฎหมายได้ทุกเรื่อง”
ที่มา.สยามรัฐ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น