ทุกวันนี้รู้สึกว่าวันคืนจะผ่านไปเร็ว เผลอไม่นานก็จะสิ้นปีแล้วก็ขึ้นปีใหม่แล้ว หลายคนที่ตกเป็นเหยื่อของกระแสที่ว่าวันที่ 21 ธ.ค. 2555 จะเป็นวันสิ้นโลก ก็คงจะเบาใจไปได้ เพราะเป็นความเชื่อที่ตั้งอยู่บนตรรกะที่อธิบายไม่ได้ คนที่เชื่อหมอดู หรือโหราจารย์
ทั้งหลายที่อาศัยดูดวงชะตาของบ้านเมือง ก็อย่าไปเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้ตำราโหราศาสตร์ที่บรรดาหมอดู หรือโหรใช้เป็นพื้นฐานในการทำนายทายทักบอกไว้เช่นนั้น ก็อย่าได้ปักใจเชื่อให้มากนัก ให้เชื่อในหลัก "อิทัปปัจจยตา" ของพระพุทธองค์ของเราดีกว่า เพราะเป็นหลักความจริง
เรามาลองเป็นหมอดูพยากรณ์ว่าเศรษฐกิจบ้านเราในปี 2556 ตามหลักตรรกะว่าจะเป็นอย่างไรน่าจะดีกว่า ความเห็นที่กล่าวต่อไปนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ได้เกี่ยวกับการมีตำแหน่งแห่งที่ใด ๆ ทั้งในภาคราชการและภาคเอกชน ลองมาดูว่าสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในปีหน้าน่าจะเป็นอย่างไรก่อน
เรื่องแรก ข่าวใหญ่ปลายปีก็คือข่าวเรื่องพลังงาน เพราะพลังงานหรือราคาน้ำมันเป็นเรื่องที่สำคัญกับบ้านเรามาก ข่าวที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่สำคัญคือข่าวที่สหรัฐอเมริกามีเทคโนโลยีใหม่ที่จะระเบิดชั้นหินดินดานลึกลงไปใต้ดินถึงกว่า 2 กม. แล้วอัดน้ำ
ลงไปเอาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้เป็นผลสำเร็จ และสามารถนำมาใช้ทดแทนการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางมากขึ้นเรื่อย ๆ ปริมาณการผลิตจะแซงหน้าประเทศซาอุดีอาระเบียได้ในปี 2556 และอาจจะกลายเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบในอนาคตข้างหน้า บัดนี้เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมแล้ว เพราะซาอุดีอาระเบียได้ประกาศลดการผลิตของตนลงวันละ 1 ล้านบาร์เรล เมื่อเป็นเช่นนี้สัญญาณก็ค่อนข้างชัดว่าราคาน้ำมันน่าจะมีแนวโน้มลดลง การที่สหรัฐอเมริกาเริ่มบอกขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวให้กับประเทศที่ทำสัญญา
เขตการค้าเสรีกับอเมริกาและประเทศที่เป็นพันธมิตรที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ก็น่าจะเป็นข่าวดีกับประเทศของเรา เพราะค่าเงินดอลลาร์น่าจะแข็งขึ้น ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยทางการของธนาคารกลางประกาศว่าจะคงที่ ซึ่งอาจถึง 0.25 เปอร์เซ็นต์ไปอีก 2 ปี
เรื่องที่สอง เรื่องของญี่ปุ่นมีปัญหาจะต้องปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศทั้งหมดใน 18 ปีข้างหน้าและต้องหันกลับมาใช้พลังงานธรรมดา ซึ่งน่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของญี่ปุ่นคงต้องสูงขึ้นอย่างมาก สร้างความหวั่นไหวให้กับภาคเอกชนของญี่ปุ่นไม่น้อย
นอกจากกระแสการต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อันเกิดจากความหวาดกลัวจะเกิดเรื่องเหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ปัญหาความขัดแย้งเรื่องเกาะเซนกากุ หรือที่จีนเรียกว่าเกาะเตียวหยู เป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้ง อันมีรากฐานมาจากความเป็นชาตินิยมของทั้งสองฝ่าย ความขัดแย้ง
ดังกล่าวจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น หรือจะลดลง เป็นเรื่องคาดเดายาก เพราะเป็นเรื่องการเมือง แต่ก็สร้างปัญหาให้กับธุรกิจอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นไปลงทุนเอาไว้เป็นอันมาก นักลงทุนญี่ปุ่นอึดอัดหวั่นไหวอย่างจริงจังมาก
ทั้งสองปัจจัยเป็นสาเหตุให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นหาทางโยกย้ายอุตสาหกรรมออกจากญี่ปุ่นและจีน ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสดีของประเทศไทย ถ้าเราเร่งปรับปรุงพัฒนาถนนหนทาง ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน
โดยเร็วเพื่อรองรับโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้นเรื่องที่สาม ที่สื่อมวลชนตะวันตกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของจีนจะเริ่มชะลอความร้อนแรงลง เพราะความสำคัญของจีน หรือสหรัฐอเมริกา และยุโรปอ่อนกำลังลง
แต่ข่าวล่าสุด การไม่ได้เป็นอย่างนั้น เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวในอัตราที่สูง ทั้ง ๆ ที่การเกินดุลการค้า และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลน้อยลง อีกทั้งขนาดเศรษฐกิจก็ใหญ่ขึ้นมากแล้ว ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะจีนเร่งการลงทุนโดยภาครัฐบาลขนานใหญ่มาโดยตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา การก่อสร้างทางหลวง ทางด่วน สนามบิน รถไฟ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือน้ำลึก ท่าเรือธรรมดา อาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัย สำนักงาน สิ่งต่าง ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แม้หนี้สาธารณะต่อรายได้ประชาชาติจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ความเสี่ยงในเรื่องการเงินไม่มี แม้กระนั้นทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนก็ไม่ได้ลดลง
ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจของจีนยังเดินหน้าต่อไป ทั้ง ๆ ที่ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นอย่างมาก ขณะนี้สูงกว่าประเทศของเราแล้ว ก็น่าจะเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนเก่า เพราะระดับการพัฒนาได้สูงขึ้นไประดับหนึ่งแล้ว ในบรรดาประเทศอาเซียนเก่าทั้งหลาย ประเทศไทยคงเป็นประเทศที่น่าจะได้เปรียบที่สุด เพราะที่ตั้งของประเทศอยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่
ไม่ต้องลงทะเลอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ประเทศจีนดำเนินนโยบายอย่างชาญฉลาดมาก เคยเขียนยกย่องมาหลายครั้งแล้ว แม้ว่าจะไม่สบอารมณ์ของไอเอ็มเอฟและสหรัฐอเมริกาก็ตามยิ่งราคาน้ำมันมีทีท่าจะเป็นขาลง ก็น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของจีนได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะจีนเป็นผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ
เรื่องที่สี่ การเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ของประเทศเมียนมาร์ หรือประเทศพม่าที่เราคุ้นมาก จากการที่ประเทศพม่า
ล้าหลังทุกอย่าง เพราะนโยบายอันโง่เขลาของกองทัพพม่าที่คิดว่าตัวจะต้องรวบอำนาจไว้ปราบปรามประชาชนคนกลุ่มน้อย
กลัวประเทศจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ จึงปิดประเทศยึดอำนาจจากรัฐบาลประชาชน พม่าจึงมีความล้าหลังชาวโลกเขาหมดทุกด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การศึกษา การทหาร เทคโนโลยี การบริหารจัดการ รวมทั้งทรัพยากรมนุษย์ด้วย
เมื่ออยู่ ๆ รัฐบาลพม่าก็เปลี่ยนนโยบายเปิดประเทศ จะพาประเทศก้าวไปสู่ประชาธิปไตย จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ก็คงไม่หนีประเทศไทยที่น่าจะได้รับประโยชน์ร่วมกับประชาชนชาวพม่า ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีเงินทุน มีทรัพยากรมนุษย์ มีที่ตั้งเป็นประตูไปสู่พม่า รวมทั้งความสัมพันธ์ทางการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ไม่ว่าจะเป็นไทยใหญ่ มอญ กะเหรี่ยง ชนชาติเหล่านี้ก็มีอยู่ในเมืองไทยไม่น้อยกว่าพม่า เพียงแต่กลายเป็นคนไทยไปหมดแล้ว เมื่อพบคนไทยใหญ่ หรือคนมอญจากพม่ามาทำงานเมืองไทย ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นคนต่างชาติมากนัก ฝั่งเขาก็คงรู้จักอย่างเดียวกับเรา เหมือน ๆ กับคนที่มาจากลาว และกัมพูชา
เรื่องที่ห้า ยุทธศาสตร์การพัฒนาของภูมิภาค ซึ่งในระยะข้างหน้านี้เน้นในเรื่องการเชื่อมโยงภายในภูมิภาค หรือที่เรียกกันว่า "Connectivity" โดยมีจีนและญี่ปุ่น มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 และอันดับ 3 ของโลก ซึ่งมีเงินทุนและเครือข่ายการตลาดที่เข้มแข็งกระจายไปทั่วโลก เป็นหัวเรือใหญ่ที่จะทะลุเชื่อมโยงปักกิ่ง เฉิงตู คุนหมิง เวียงจันทน์ กรุงเทพฯ กัวลาลัมเปอร์ ไปถึงสิงคโปร์
ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็ผลักดันการเชื่อมโยงทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามัน เพราะช่องแคบมะละกาที่ดูเหมือนกว้าง แต่ร่องน้ำสำหรับเดินเรือแคบนิดเดียว ไม่กี่ไมล์ทะเล เรือเดินสมุทรต้องรอคิวผ่าน 2-3 วัน และนับวันจะมีการจราจรคับคั่งยิ่งขึ้น ญี่ปุ่นผลักดันให้เปิดท่าเรือน้ำลึกที่เมืองทวาย แล้วมีทางด่วน ทางรถไฟทั้งธรรมดาและรถไฟความเร็วสูง ระยะแรกเชื่อมท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุดกับแหลมฉบังเข้ากับท่าเรือที่เมืองทวาย เปิดประตูสู่พม่า บังกลาเทศ และอินเดียยุทธศาสตร์เชื่อมโยงเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตกมาพบกันที่ประเทศไทยของเรา รัฐบาลไทยขานรับในขณะที่เราสะสมเงินออมมานานกว่า 15 ปี เอกชนไทยเข้มแข็งพอสมควร โอกาสอย่างนี้เพิ่งเกิดในระยะ 5-6 ปีที่แล้ว เรามัวแต่ยุ่ง ๆ อยู่กับการไล่ล่ากัน จึงไม่มีใครคิดถึง
เรื่องที่หก เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด เมื่อคราวเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างของประเทศ สร้างความ
เสียหายอย่างมหาศาลให้กับภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวของเรา ทีแรกต่างก็คาดการณ์ว่าคงต้องใช้เวลานานพอสมควรในการซ่อมแซมเครื่องจักร ในการเปลี่ยนเครื่องจักร ในการเรียกขวัญและกำลังใจนักท่องเที่ยว ในการฟื้นฟูเครือข่ายโยงใยการตลาด
แต่เอาเข้าจริงสิ่งต่าง ๆ ที่ขาดตอนไป เริ่มจากขวัญกำลังใจฟื้นกลับคืนมาเร็วกว่าที่คาด เริ่มจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวก่อนเพราะกองทัพนักท่องเที่ยวจีน ทะลักเข้ามาแทนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น นักท่องเที่ยวยุโรปและอเมริกาเป็นจำนวนมาก เพราะเศรษฐกิจเขายังไม่ชะลอตัวอย่างที่คิด ไปไหนมาไหน แม้แต่ที่ตลาดนัดจตุจักรก็พบแต่นักท่องเที่ยวจีน พ่อค้าแม่ขายที่พูดภาษาอังกฤษ งู ๆ ปลา ๆ ก็กลับมาพูดจีนกลาง งู ๆ ปลา ๆ เสียแล้ว บริษัทห้างร้านขายของมียี่ห้อ โรงแรม ภัตตาคารแพง ๆ ก็เริ่มต้องมีภาษาจีน หรือพนักงานขายที่พูดจีนได้ไว้ต้อนรับลูกค้า ตลาดล่าง ตลาดกลาง และตลาดบน ลูกค้ากลายเป็นคนจีนไปเสียแล้ว
ยิ่งจีนกับญี่ปุ่นมีความตึงเครียดทางการเมือง นักท่องเที่ยวก็หันมาประเทศอาเซียนมากขึ้น และในบรรดาอาเซียน ประเทศไทยก็เป็นศูนย์กลางที่จะต่อไปนครวัด ไปย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ ไปเวียงจันทน์ หลวงพระบาง ไปเวียดนาม ทั้งฮานอย และไซ่ง่อน
ส่วนเรื่องที่เป็นตัวถ่วงและเป็นปัญหามาก ก็น่าจะมีสองเรื่องเรื่องแรก เรื่องการเมืองที่ทะเลาะกันไม่เลิก และคงจะเลิกกันได้ยาก ถ้าไม่ระมัดระวัง เพราะเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างคนชั้นสูงที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ และความเชื่ออนุรักษนิยม ไม่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ต้องการรักษาสถานะเดิมทางการเมือง ความคิดและวิสัยทัศน์เดิม กับคนชั้นล่างที่เติบใหญ่ขึ้น ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง มีฐานะทางสังคมสูงขึ้น เพราะฐานะทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไป การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ มากขึ้น
การเรียกร้องความเท่าเทียมกันทั้งในเรื่องศักดิ์ศรี การบังคับใช้กฎหมาย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมที่รัฐจะพึงปฏิบัติ การมีมาตรฐานเดียวกัน น่าจะรุนแรงมากขึ้น ตามหลักความเป็น "อนิจจังของรัฐ" แรงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงกับแรง
ต่อต้านน่าจะมากขึ้น ถ้าไม่มีใครยอมถอย การปะทะกันก็จะเกิดขึ้นอีกกติกาที่เขียนโดยฝ่ายชนะ โดยการใช้กำลังทหารปฏิวัติยึดอำนาจ ก็น่าจะถูกต่อต้านกดดันให้แก้ไขมากขึ้น ถ้าก้าวไปอย่างสันติตามแนวทางประชาธิปไตยไม่ได้ ก็น่าจะเป็นไปในทางที่ไม่น่าปรารถนามากขึ้น
อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือการทะลักเข้ามาของเงินทุนระยะสั้น หรือที่เรียกว่า "hot money" จะรุนแรงขึ้น ถ้าความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินบาทกับดอกเบี้ยเงินดอลลาร์ยังจะสูงอยู่อย่างนี้ เพราะความกลัว "เงินเฟ้อ" ซึ่งไม่น่าจะมีจนเกินไปของทางการ เงินบาทอาจจะแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเศรษฐกิจทั้งระบบปรับตัวไม่ทัน โอกาสที่พูดมาทั้งหลายก็อาจจะไม่เกิด
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น