--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

พงศ์เทพ ปัดปรับใหญ่โครงสร้าง ศธ.


"พงศ์เทพ"ปัดปรับใหญ่โครงสร้าง ศธ. / จี้ครูมีจิตสำนึกแก้ปัญหายาเสพติด
ตามที่ นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ มีความเห็นถึงการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ถึงเวลาทบทวนการปรับโครงสร้าง ศธ.ใหม่ทั้งหมด เพราะถ้ายังใช้โครงสร้างปัจจุบันต่อไป การศึกษาชาติก็จะยิ่งอ่อนแอ โดยเฉพาะในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่หลังจากมารวมกับ ศธ.แล้ว การอุดมศึกษาไทยมีความอ่อนแอลง และหากต้องการให้เกิดความเข้มแข็งทั้งการอุดมศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็ควรแยกอุดมศึกษาออกมาเป็นอีกกระทรวงหนึ่งต่างหาก ซึ่งอาจจะทำได้หลายรูปแบบ เช่น แยก สกอ.ออกมาเป็นกระทรวง นำงานอุดมศึกษาไปรวมกับงานวิจัยเป็นกระทรวง เพราะกว่า 80% ของผู้ที่ทำงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็สามารถที่จะนำอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และงานวิจัยมารวมกันเป็นกระทรวงได้
   
และยังเห็นว่าการนำการศึกษาพิเศษ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปไว้ในสำนักงานปลัด ศธ.ก็ไม่เหมาะเช่นกัน เพราะเป้าหมายการจัดการศึกษาให้คนกลุ่มพิเศษ ก็เพื่อให้มีความรู้เหมือนผู้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และตามหลักวิชาการไม่ควรที่จะแยกเด็กพิเศษออกจากเด็กปกติ ควรต้องให้สามารถเรียนร่วมและดำรงชีวิตปกติอยู่ร่วมกัน ส่วนการยกฐานะสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ขึ้นเป็นองค์กรหลักที่ 6 ใน ศธ.นั้น ที่จริงแล้วเรื่องการศึกษาตลอดชีวิตคือหลักการที่สอดแทรกอยู่ในทุกองค์กรหลักอยู่แล้วก็รู้สึกแปลกใจที่แยกการศึกษาตลอดชีวิตออกมาเป็นอีกแท่งหนึ่งนั้น
     
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตอนนี้บอกได้เลยว่าเรื่องการปรับโครงสร้างใหญ่ๆ จะไม่พิจารณาในปีนี้ เพราะไม่อยากให้เรื่องการปรับโครงสร้างไปกระทบกับเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา หากไปเน้นเรื่องโครงสร้างก็จะมาสาระวนกันใหญ่ แทนที่จะไปพัฒนานักเรียน นักศึกษาที่ได้รับประโยชน์จริงๆ ดังนั้นจึงไม่อยากดึงความสนใจกับเรื่องการปรับโครงสร้าง ศธ.
   
วันเดียวกันที่โรงเรียนสตรีวิทยา นายพงศ์เทพ เป็นประธานเปิดโครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุข และกล่าวตอนหนึ่งว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญ เรื่องปัญหายาเสพติดมาตลอด โดยได้กำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากปัญหายาเสพติดมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเยาวชน และเป็นบ่อเกิดแห่งปัญหามากมาย และหากเมื่อใดเราไม่เอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก็จะทำให้ยาเสพติดกลับเข้ามาสู่สังคมไทยมากขึ้น เพราะจากการสำรวจพบว่า ยาเสพติดได้เข้ามาระบาดตามชุมชน โรงงาน รวมถึงสถานศึกษามากขึ้น ซึ่งทุกภาคส่วนต้องกลับมาร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
   
สำหรับ ศธ.เองได้ดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษามาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะยังมีตัวเลขการระบาดของยาเสพติดในหมู่นักเรียน นักศึกษาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นสถานศึกษาจะต้องกลับไปทบทวน พร้อมกำหนดมาตรการป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้เป็นแนวปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรมากขึ้นกว่าเดิม โดยจะต้องให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้ถึงโทษ และรู้จักวิธีปฏิเสธหลีกเลี่ยงยาเสพติด รวมถึงใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษา จะต้องนำนโยบายการป้องกัน และการแก้ไขปัญหายาเสพติดไปปฏิบัติ และต้องจัดทำแผนปฏิบัติการครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและนอกสถานศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม อยากให้ครู อาจารย์มีจิตสำนึกในการแก้ไขปัญหา เข้าถึงจิตใจในตัวลูกศิษย์ของตนเอง เชื่อว่าจะสามารถรับรู้ปัญหาลูกศิษย์แต่ละคนได้"

ที่มา.สยามรัฐ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น