--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

กิตติรัตน์ จี้ ธปท.สกัดเงินร้อน ชี้ บาทต่ำ 30/ดอลล์ ส่งออกยาก ธปท.รับเห็นสัญญาณเก็งกำไร !!?


กิตติรัตน์นั่งไม่ติด ห่วงบาทแข็ง ชี้ต่ำ 30/ดอลล์ ผู้ส่งออกทำงานยาก จี้ ธปท.ดูแล คุมเงินร้อนทะลักเข้า ขณะที่ ประสารรับผันผวน เริ่มเห็นสัญญาณเก็งกำไร แต่ยังไม่แทรกแซง แบงก์ชี้ยังแข็งต่อเนื่อง แต่ค้านลดดอกเบี้ย-ขึ้นภาษีสกัดเงินนอก

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยกรณีเงินบาทแข็งค่าในรอบ 16 เดือนว่า การแข็งค่าของเงินบาทขณะนี้ ถือเป็นระดับที่น่าเป็นห่วงและจะกระทบต่อผู้ส่งออก รวมถึงไม่สะท้อนความต้องการเงินบาทที่แท้จริง โดยบาทแข็งขึ้นมาทดสอบระดับที่สำคัญ คือ หลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับที่ผู้ส่งออกทำงานยาก ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะต้องดูแลความผันผวนระยะสั้น หรือการไหลเข้าออกของเงินทุนที่รวดเร็ว หรือ Hot Money

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงสัปดาห์นี้มีความผันผวน เนื่องจากมีเงินทุนเข้ามาลงทุนในหุ้นและตราสารระยะสั้นมาก และเริ่มเห็นสัญญาณการเก็งกำไร ซึ่ง ธปท.ติดตามอยู่อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทขณะนี้สอดคล้องกับประเทศในภูมิภาค ธปท.อยากให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามกลไกตลาด ไม่อยากเข้าไปฝืน ซึ่งการเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนก็มีต้นทุนŽ นายประสารกล่าว

นายประสารกล่าวว่า ปีนี้มีโอกาสที่เงินทุนเคลื่อนย้ายจะเป็นเงินทุนไหลเข้าสุทธิ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพมากกว่าเศรษฐกิจของประเทศตะวันตก ทั้งนี้ ธปท.ก็ส่งเสริมให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น โดยปี 2555 ยอดเงินที่นักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ (ทีดีไอ) สุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท และการลงทุนในหลักทรัพย์ในครอบครองอีกประมาน 8 พันล้านบาท

ส่วนผลกระทบจากค่าเงินบาทต่อภาคการส่งออก นายประสารกล่าวว่า ธุรกิจที่มีผลกำไรน้อยอาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจที่มีผลกำไรมากซึ่งสามารถต่อรองกับคู่ค้าได้

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บาทแข็งค่าขณะนี้เกิดจากการไหลเข้าจากเงินทุนต่างชาติเพื่อเก็งกำไร ซึ่งค่าเงินแข็งเร็วกว่าที่ประมาณการไว้ และน่าจะแข็งต่อเนื่องไปอีกระยะ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 17 มกราคม 2556 ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น 2.69% ขณะที่ค่าเงินเพื่อนบ้านแข็งค่าขึ้น 0.5-1.5%

ค่าเงินระดับปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นอันตรายสำหรับการส่งออก ซึ่งมองว่าอาจจะได้เห็นระดับ 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในกลางปีนี้ และมองว่าช่วงปลายปีนี้จะอยู่ที่ 29.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐŽ นายธิติกล่าว

นายธิติกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การจะนำนโยบายการเงินมาใช้เพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าอาจจะไม่เหมาะสมนัก เนื่องจากการลดดอกเบี้ยเพื่อชะลอการไหลเข้าจะเหมาะสมกับประเทศที่มีเงินเฟ้อต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย แต่ประเทศไทยดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.75% ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 3.5% การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อได้ ส่วนการใช้มาตรการเก็บภาษี อาจจะทำให้เงินทุนไหลออกไปและอาจจะไม่กลับมาลงทุนในไทยอีก ซึ่งเรื่องการดูแลค่าเงินเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก

นายคนิสร์ สุคนธมาน กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เปิดเผยถึงผลกระทบต่อการส่งออกจากเงินบาทแข็งค่าว่า แม้ผู้ประกอบการจะต้องมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ถือว่ามีหลายช่องทางที่สามารถลดความเสี่ยงได้ โดยเฉพาะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า เพื่อปิดความเสี่ยง แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะรายเล็กและรายกลาง ไม่ให้ความสำคัญ เนื่องจากจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ยอมรับว่าเงินบาทแข็งค่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกถึง 60% โดยขณะนี้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมปีก่อนถือว่าแข็งค่าขึ้น 4.4% ถือว่าแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาครองจากมาเลเซียเท่านั้นŽ นายคนิสร์กล่าว

สำหรับค่าเงินบาทวันที่ 17 มกราคม เปิดที่ 29.80-29.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าต่อเนื่องจนแตะที่ระดับ 29.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 17 เดือน ก่อนจะปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยตามแรงเทขายเพื่อทำกำไร จนมาปิดที่ 29.76-29.78 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น