--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

เอกชนลุ้น อภินิหาร AEC ปลุกเศรษฐกิจภูมิภาค ดับพิษขึ้นค่าแรง !!?


ใน ห้วง 1 ปีที่ผ่านมา บรรยกาศการค้าขายในภูมิภาคอยู่ในภาวะ "ประคองตัว" ไม่ได้หวือหวาดังที่คาดหวัง แม้จะคาดหวังว่าประเทศที่เพิ่งฟื้นตัวจากมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ปลายปี 54 จะช่วยฉุดตัวเลขการค้าให้ดีขึ้น และรัฐบาลทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเข้ามาบูรณะฟื้นฟูประเทศ เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงาน มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น มาดูกันว่าทรรศนะของ "ผู้รู้" ที่สัมผัสกับข้อมูลตัวเลขการค้าขายในพื้นที่ เหลียวหลังแลหน้าเศรษฐกิจภูมิภาคเป็นอย่างไรบ้าง..

"ชวลิตร ธรรมวงศ์" ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย มองว่าทิศทางการค้าขายปี 56 จะรุ่งเรือง หรือรุ่งริ่งอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ว่าจะสามารถหยิบ ฉวยความได้เปรียบของตนเองมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้เพียงใด สำหรับ จ.เชียงราย ก็ต้องมีการปรับตัวกันขนานใหญ่เพราะจากการค้าชายแดนจะถูกยกระดับเป็นการค้า ระหว่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยสำคัญในเรื่องการเปิดท่าเรือแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ใน อ.เชียงแสน ทำให้ศักยภาพการค้ามีมากขึ้น ขณะที่กลางปี 56 สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 อ.เชียงของ กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว จะเปิดใช้ การเดินทางเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนก็จะสะดวก มากยิ่งขึ้น เมื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

ประธาน หอการค้าเชียงราย บอกอีกว่า ปี 56 เศรษฐกิจของเชียงรายจะดีขึ้นอย่างแน่นอน สอดรับกับ "เกรียงไกร วีระฤทธิพันธ์" ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย ที่เชื่อว่าเพราะธุรกิจหลัก ด้าน ภาคการเกษตร การค้าชายแดน และการท่องเที่ยว ถือว่าเชียงรายมีศักยภาพสูง

สำหรับ "ด่านบ้านฮวก" อ.ภูซาง จ.พะเยา "หัสนัย แก้วกุล" ประธานหอการค้าจังหวัดพะเยา เห็นว่า น่าจะเป็นอีกจุดที่เชื่อมโยงโครงข่ายการค้าขายและการเดินทางกับเพื่อนบ้าน แล้วสร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้าระหว่างกันได้ เพราะรัฐบาลไทยได้ปล่อยเงินกู้ให้เพื่อนบ้านได้ตัดถนนเชื่อมเมืองสำคัญๆ ของ สปป.ลาว ด้วย จึงถือเป็นโอกาสทองทางธุรกิจที่ไม่เพียงแต่การค้าชายแดนจะเพิ่มขึ้น โอกาสทางภาคการท่องเที่ยวก็สูงตามมาด้วย

"บุญชู กมุทมาโนชญ์" ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพะเยา ระบุว่า สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจก้าวไปอย่างมั่นคง คือการเป็นหนึ่งเดียว หรือความเป็นปึกแผ่นแห่งภูมิประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างประเทศที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมาก จนเกินไป

โดยที่ "ด่านบ้านฮวก" จะเป็นประตูทางเชื่อมของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ไปสู่เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจหรือฮับภาคเหนือ อย่าง "เชียงใหม่" ได้

ถือ เป็นความคาดหวังที่สอดคล้องกัน เพราะ "องอาจ กิตติคุณชัย" ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ มีความเห็นไม่ต่างกันว่าเศรษฐกิจปี 2556 น่าจะดีขึ้น เพราะปี 2555 ที่ผ่านมาภาพรวมของเชียงใหม่ไปได้สวย มีนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่จำนวนมาก สถานการณ์ของโรงแรมและที่พักดีต่อเนื่อง ถึงเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะฝั่งยุโรปจะมีผลกระทบบ้าง แต่การท่องเที่ยวเชียงใหม่ดีมากๆ

"แต่ก็อาจมีผลกระทบจากค่าแรง ซึ่งปีหน้าแรงงานขึ้นต่ำกระชากขึ้นสูงทันที อาจทำให้น่าห่วง รวมทั้งค่าพลังงาน ก๊าซแอลพีจีจ่อจะขึ้นราคาเป็นขั้นบันได และที่มีแนวโน้มน่ากังวลคือการที่สหรัฐอเมริกาจะย้ายเงินเข้าสู่ระบบเอเชีย ทั้งการซื้อหุ้นและลงทุนทำให้เงินแข็ง ไม่ดีต่อการส่งออกของไทยที่ต้องได้รับผลกระทบ" องอาจระบุ

ด้านภาค อุตสาหกรรม จ.เชียงใหม่ ยังมีจุดแข็ง นักลงทุนยังมุ่งเข้ามาลงทุน มีการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ สร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ โครงการอสังหาริมทรัพย์ของเอกชนรายใหญ่ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

"ณรงค์ คองประเสริฐ" ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ชี้ว่า ประเด็นเรื่องปัจจัยที่จะฉุดตัวเลขเศรษฐกิจในพื้นที่ซึ่งคาดว่าไม่เฉพาะ เชียงใหม่ แต่ลามไปทั่วทุกจังหวัดแล้วคือเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท !!

ขยับ มาที่ จ.นครราชสีมา ประตูไปสู่ภาคอีสาน "จักริน เฉิดฉาย" ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ประเมินภาวการณ์เจริญเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่เมืองโคราชแล้ว ยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แม้ ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) ของจังหวัดตลอดปี 55 จะอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 6%

เพราะในการพิจารณาแยกภาคเศรษฐกิจ ระหว่าง ธุรกิจขนาดใหญ่ กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จะเห็นว่าเดินสวนทางกันอย่างชัดเจน

"ธุรกิจ ขนาดใหญ่ อาทิ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า โครงการบ้านจัดสรร มีผลประกอบการดีมาก ส่วนธุรกิจ SMEs กลับประสบกับปัญหาการขาดทุนเป็นอย่างหนัก และปิดกิจการไปแล้วเกือบครึ่ง สาเหตุหลักมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมทั้งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท"

แม้ว่าในมุมมองของ "จักริน" จะเห็นว่าปี 55 ไม่ค่อยดีแต่จากการประเมินร่วมกันของหอการค้าทั้ง 20 จังหวัดภาคอีสานที่ประชุมกันเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีการประเมินว่าในปี 56 เศรษฐกิจโดยรวมของภาคอีสาน จะมีปัญหาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ เรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และนโยบายรถคันแรก

"การ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้มีย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน หรือไม่เช่นนั้นก็ปลดลดจำนวนพนักงาน ส่วนรถยนต์คันแรก หอการค้าภาคอีสานก็เป็นห่วง เพราะผู้ที่ซื้อส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 6,000-20,000 บาท เมื่อหักค่าผ่อนรถยนต์แล้ว ก็จะเหลือเงินเก็บน้อยมาก หรือบางคนไม่พอใช้..เท่ากับว่ากำลังผู้บริโภคที่จะมาใช้จ่ายซื้อของจึงลดลง แล้วกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม"

ดังนั้น จึงคาดว่าเศรษฐกิจของจังหวัดในปี 2556 จะมีแนวโน้มชะลอตัว และ GPP อาจจะลดลงเหลือ 5%

กับ สภาวการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ "สุรพล กำพลานนท์วัฒน์" นายกสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา ระบุว่าแม้จะมีปัญหาเรื่องความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ภาวะเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มดี

โดยส่วนหนึ่งมองว่ามาจากบรรดาผู้ซื้อรถยนต์คันแรกจะขับรถท่องเที่ยวกันมากขึ้น ?!?

"มาตรการ ที่ภาคธุรกิจอยากให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือและส่งเสริมให้แก่ผู้ประกอบการ ในปี 56 น่าจะเป็นความช่วยเหลือเรื่องผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs อาทิเรื่อง การลดดอกเบี้ยสินเชื่อ และลดภาษี" สุรพลระบุ

ด้าน "นฤมล อมรรัตน์วิทยา" ผู้บริหารห้างโอเดี้ยน ช็อปปิ้งมอลล์ หาดใหญ่ มองในฐานะผู้ประกอบการว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในพื้นที่ตลอดปี 55 อยู่ในเกณฑ์ที่ดีโดยเฉพาะช่วงไตรมาสสุดท้าย เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของหาดใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ต้องฝากให้รัฐบาลดูเรื่องปัญหาค่าครองชีพด้วย เพราะการปรับค่าแรง มีผลกระทบต่อเนื่อง

"ค่าแรง 300 บาท ..ทำให้ทุกอย่างขึ้นราคาหมด แล้วยังจะมาปรับราคาก๊าซอีก ..ต่อไปข้าวปลาอาหารทุกอย่างก็จะแพงขึ้น ประชาชนก็จะเดือดร้อนมากขึ้นไปอีก" นฤมลกล่าว

ขณะที่ "นฤมล ขรภูมิ" ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เห็นด้วยว่า เรื่องค่าแรง 300 บาท ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลให้มาก โดยเฉพาะ SMEs เพราะมีภาวะความเป็นไปได้ที่อัตราว่างงานจะสูงขึ้น เนื่องจากธุรกิจต้องปรับลดพนักงานเพื่อความอยู่รอด

"นิรันดร์ ขอคงประเสริฐ" ประธานชมรมปลาป่นจังหวัดระนอง และผู้ประกอบธุรกิจห้องพัก บอกว่า ธุรกิจการประมงมีการหดตัวอย่างรุนแรง เนื่องจากราคาสินค้าประมงที่ขายได้ไม่คุ้มทุน ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องหยุดกิจการไป และพม่า ได้ปรับตัวเรื่องธุรกิจประมงและต่อเนื่องประมงเพื่อให้ทัดเทียมกับของไทย ดังนั้น โอกาสทองของการทำประมงในพม่านับวันมีแต่จะน้อยลงแล้ว ปี 56 จึงจะเป็นปีที่ผู้ประกอบการ รวมถึงแรงงานจะลำบาก

"ปัญหาเศรษฐกิจใน ภาพรวมที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ได้มองที่พื้นฐานที่ แท้จริงของสังคมไทย ถ้าภาคการผลิตทั้งในทางอุตสาหกรรม หรือการเกษตรไม่สามารถจะเดินหน้าไปได้แล้ว ในส่วนอื่นๆ ที่ต่อยอดก็คงไม่สามารถจะดำเนินไปได้เช่นกัน" นิรันดร์กล่าว

เหล่า นี้เป็นเสียงสะท้อน ที่มีทั้งความหวัง และความกังวล กับอนาคตที่คนไทยทั้งประเทศ ภาคเศรษฐกิจทุกส่วนที่กำลังจะเผชิญร่วมกันในปีงูเล็กที่มาถึงแล้ว


ที่มา มติชนรายวัน
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น