--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

กลุ่มประกันวินาศฯ รับดูแลสต็อกข้าวเสี่ยงสูง-ไม่คุ้ม !!?


 กลุ่ม วินาศภัย แหยงประกันสต็อก ข้าวโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล “มิตซุย” เมินไม่ถนัดประกันภัยพืชผล ด้าน “กรุงเทพ-เมืองไทย” ชี้เพิ่มเงื่อนไขโจรกรรมทำเสี่ยงสูง แต่หากใช้เงื่อนไขเดิมคือ คุ้มครองอัคคีภัย-น้ำท่วม-ลมพายุยังรับไหว คงเหลือแค่ “ทิพย” ใจสู้แอ่นอกรับได้หมด ยกเว้นเงื่อนไข “หาย ไร้ร่องรอย” ส่อแววทุจริต

หลังจากภาครัฐและหน่วย งานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การ คลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาด เพื่อเกษตรกร (อตก.) ร่วมหารือ กับบริษัทประกันภัยถึงแนวทางการรับประกันภัยสต็อกข้าวสารตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนั้น

ล่าสุด นายวิชัย สันติมหกุลเลิศ รองผู้จัดการ บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันส์ จำกัด สาขาประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันภัยทรัพย์สิน สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่า ทาง อคส. และ อตก.มีหนังสือมาถึงสมาคมฯ ให้เชิญชวนสมาชิกยื่นซองประกวด ราคา ซึ่งทางสมาคมฯ ได้แจ้งไปยังทุกบริษัทว่าสามารถยื่นได้โดยตรงที่ 2 หน่วยงานดังกล่าวตามความสมัครใจ โดยเงื่อนไขในการรับประกันภัยเป็นไปที่สมาคมฯกำหนด คือ 1.ประกันอัคคีภัย บริษัทประกันจะรับประกันในอัตรา 90% ของมูลค่าทรัพย์สินที่จัดเก็บในแต่ละคลังสินค้าที่เข้าร่วมและอีก 10% ที่เหลือผู้เอาประกันรับผิดชอบเอง 2.การประกันภัยโจรกรรม คุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายของทรัพย์สินอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์ที่รู้สาเหตุความเสียหายรวมทั้งความสูญเสีย

นายวิชัย กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทมิตซุยฯนั้นยังไม่สนใจ เนื่องเพราะไม่ชำนาญประกันภัยพืชผล แต่หากไม่มีใครรับประกันแล้วหากสมาคมฯ ขอความร่วมมือให้ร่วมกันรับ 5 - 10% ก็พร้อม แต่เท่าที่ทราบมีหลายบริษัทเสนอตัวเข้าไป ทั้งนี้จากสถิติที่ผ่านมามีความเสี่ยงเกี่ยวกับไฟไหม้มากที่สุด

ด้านนายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็น “สยามธุรกิจ” ทางทิพยฯ สนใจเข้าไปรับประกัน โดยรับได้ทุกเงื่อนไข ยกเว้นการสูญหายแบบไร้ร่องรอย

“คณะกรรมาธิการฯ ได้เรียกเราเข้าไปคุยแล้ว เราก็บอกไปว่ารับเงื่อนไขได้หมด แต่ปฏิเสธเฉพาะไม่รับประกันการสูญหายแบบไร้ร่องรอย (Forcible) คือ ถ้าข้าวหายไปโดยไม่มีร่องรอยงัดแงะประตู-หน้าต่างเลย เราไม่คุ้มครอง หรือเราพิสูจน์ได้ว่าหายโดยเจตนา เกิดจากการฉ้อฉล เราก็ไม่รับเหมือนกัน” นายสมพรกล่าว และว่า ที่ผ่านมา ทิพยฯ รับประกันสะต็อกข้าวของอคส.หลายโครงการ ทั้งรับเดี่ยวและรับคู่กับบริษัทอื่น เช่น บมจ.กรุงเทพประกันภัย โดยส่วนใหญ่จะเป็นคุ้มครองกรณีอัคคีภัย และภัยเปียกน้ำที่รับแบบมีซับลิมิต และพื้นที่เสี่ยงก็รับประกัน แต่อัตราเบี้ยก็อาจจะแตกต่างกันไปตามความเสี่ยงของพื้นที่

ด้านนายพนัส ธีรวณิชย์กุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย ให้ความเห็น “สยามธุรกิจ”ว่า ที่ผ่านมาบริษัทรับประกันสต็อกข้าวของอคส.อยู่หลายโครงการ เช่นก่อนหน้านี้ก็รับประกันร่วมกับทิพยฯโดยหลักเป็นคุ้มการครองอัคคีภัย และภัยธรรมชาติ เช่น ลมพายุ เปียกน้ำ “สต็อกข้าวตามโครงการรับจำนำฯของรัฐบาล เราอาจไม่รับ เพราะเงื่อนไขเยอะ เบี้ยอาจจะแพง รัฐบาลก็อาจจะไม่เลือกเรา”

ขณะที่นายวาสิต ล่ำซำ รองกก.ผจก.บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สต็อกข้าวตามโครงการรับจำนำของรัฐบาลรอบนี้มีเงื่อนไข ความเสี่ยงสูง จึงไม่สนใจรับประกัน อย่างไรก็ตามหากเป็นเงื่อนไขเดิม คือ คุ้มครองอัคคีภัย น้ำท่วม และลมพายุ ก็ยังน่าสนใจ

“ที่ผ่านมาเราจะเลือกรับประกันในบางพื้นที่ดูตามความเสี่ยง เช่น ภาคกลางติดน้ำจะไม่รับ กรณีคุ้มครองอัคคีภัยก็จะดูสภาพโรงเรือนจัดเก็บเป็นอย่างไร ซึ่งเดิมก็พิสูจน์ยากอยู่แล้วกรณีข้าวเกรดต่ำ-เกรดสูงมาทำประกัน หากยิ่งเพิ่มเงื่อนไขก็ไม่น่ารับประกัน”

ด้านนายอานนท์ โอภาสพิมลธรรม รอง กก.ผจก.ใหญ่ บมจ.วิริยะประกันภัย กล่าวกับ “สยามธุรกิจ” ว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทเคยเข้าไปรับประกันเป็นไปการเข้าไปร่วมกันรับประกันในนามสมาคมฯ แต่ปีนี้ให้ต่างคนต่างเสนอราคาเข้าไปเองบริษัทไม่มีความพร้อมมากพอจึงไม่ได้เสนอตัวไป อีกทั้งปีนี้มีความเสี่ยงสูงเพราะมีความคุ้มครองข้าวสูญหายซึ่งบริษัทคุ้มครองไม่ไหว เอาเข้าสัญญาประกันต่อยาก

“หลายปีก่อนการประกันสินค้าเกษตรจะมีความเสียหายในเรื่องของไฟไหม้เยอะ บริษัทประกันกลัวกันมาก สัญญาประกันต่อไม่อยากให้เอาเข้าไป”

นายนที พานิชชีวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บมจ.ไทยศรีประกันภัย ให้ความเห็นว่า ไทยศรีฯ ไม่สนใจโครงการนี้ เพราะควบคุมยาก แต่ถ้ามีระบบไซโลดีๆ ก็น่าสนใจ

แหล่งข่าวจากบริษัทประกันภัยรายหนึ่งให้ความเห็นว่า สิ่งที่บริษัทกลัวกันคือเวลาสต็อกข้าวเกิดไฟไหม้หรือสูญหายพิสูจน์ยากมีสินค้าอยู่จริงหรือไม่อย่างเมื่อ 2-3 ปีก่อนเกิดไฟไหม้สต็อกข้าวเสียหาย 100-200 ล้านบาทก็พิสูจน์ยาก

ที่มา.สยามธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น