--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556

อำนาจเหนือเมฆ ยังคงอยู่ ต่างฝ่ายก็สู้ แบบประคองตัว !!?


คอลัมน์ : หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

รัฐบาลปูนิ่มยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่า ก้าม จะแข็งพอที่จะขู่คนอื่นได้

ข่าว ละครเหนือเมฆ หยุดออกอากาศแบบฉุกเฉิน มีการโจมตีว่าเป็นฝีมือของรัฐบาล บางคนว่า นี่เป็นการคุกคามสื่อ ดูแล้วน่าจะวิเคราะห์กลับข้างมากกว่า รัฐบาลปู เพิ่งลอกคราบ กลางปี 2554 ยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่ากระดองและก้ามจะแข็ง

วันนี้มีแต่ถูกคนอื่นคุกคาม และรัฐบาลก็ยอมไปหมดทุกเรื่องจนกองเชียร์ขัดใจ ราคาพืชผลตกก็ปิดถนนขู่ ผรท.ปลอมอยากได้เงินแสนก็แต่งชุดติดดาวแดงมาขู่ พวกคัดค้านประชาธิปไตยไม่พอใจก็จะแช่แข็ง มีคนหาเรื่องฟ้องสารพัด ซึ่งอาจมีคนถูกปลด ถูกยุบ ถูกตัดสิทธิ

ส่วนสื่อต่างๆ ทั้งขู่ทั้งด่ารัฐบาลได้ ทุกช่อง ทุกฉบับ ทุกเรื่อง ตั้งแต่ เสื้อผ้า หน้า ผม จนไปถึงนโยบายต่างประเทศ

รัฐบาลนี้เอาตัวรอดจากการข่มขู่คุกคามมาได้ ถึงวันนี้ก็บุญแล้ว

ช่อง 3 ไม่กลัวรัฐบาลนี้เลย แต่กลัวจะตกอยู่ในสภาพของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข บ.ก. ที่อยู่ผิดสีผิดข้างต้องติดคุกไม่ได้ประกันตัวจนถึงทุกวันนี้

อำนาจเหนือเมฆมีจริง

ที่ อยู่เหนือเมฆ จริงๆ ไม่ใช่ในละคร คืออำนาจแฝงที่แผ่รังสีทะลุเมฆลงมา ทำให้เกิดเรื่องเดือดร้อนวุ่นวายในชีวิตจริงๆ ของคนไทยมาตลอด 6 ปีนี้ อำนาจเหนือเมฆได้เปลี่ยนเมฆให้เป็นฝนเหลืองเหมือนในสงครามเวียดนาม

พิษของมันสามารถโค่นรัฐบาล นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร โดยการรัฐประหาร 2549 โค่นรัฐบาล ของ นายกฯ สมัคร สุนทรเวช, รัฐบาล นายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยตุลาการภิวัฒน์และสามารถตั้งรัฐบาลเทพประทานในค่ายทหาร อำนาจเหนือเมฆมาชะงักเมื่อปะทะกับ พลังเสื้อแดง แต่ก็ทำให้มีคนตายนับร้อย

หลังจากการล้อมปราบในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นมีการใช้กำลังอาวุธโต้ตอบกัน ทางออกคือการเลือกตั้ง ในที่สุด เพื่อไทยก็ ชนะ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้อำนาจเหนือเมฆก็ไม่สามารถขวางมือที่มองเห็นของประชาชนได้ แต่ใครๆ ก็รู้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่มีอำนาจที่แท้จริง เพราะเห็นผลงานตุลาการภิวัฒน์มาแล้ว หลังเลือกตั้ง 2554 อำนาจเหนือเมฆยังคงมีบทบาทอยู่

รัฐบาลจะย่างเท้าแต่ละก้าว เหมือนอยู่ในสนามทุ่นระเบิด จะไปมีปัญญาไปคุกคามคนอื่นได้อย่างไร

ปี 2556...อำนาจเหนือเมฆจะอ่อนตัวลง

ต้องใช้ผ่านองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 เท่านั้น

ทีม วิเคราะห์มองว่า การต่อสู้ในปี 2556 ยังไม่มีการแตกหัก จะไม่มีการทำรัฐประหารในช่วงระยะเวลาใกล้นี้ เพราะมีแรงต้านสองด้านคือจากประชาชนและคนเสื้อแดงในประเทศ และแรงต้านจากนานาชาติอำนาจเหนือเมฆ จะใช้ได้เฉพาะด้านกฎหมาย ผ่านตัวแทน ที่เป็นองค์กรและอำนาจตุลาการภิวัฒน์ แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้เกิดการตรึงกำลังแบบขยับเท้าไม่ได้

ตุลาการ+องค์กรอิสระสามารถตรึง ฝ่ายบริหาร+สภาไว้ได้ ส่วนอำนาจอาวุธ+อำนาจนอกระบบ ก็ถูกตรึงไว้ด้วยกำลังอำนาจของประชาชน วันนี้แม้ไม่มีการเจรจาโดยตรง แต่ดูเหมือนมีการตกลงกันโดยอ้อม ว่าจะไม่มีการล้ำเส้นซึ่งกันและกัน การต่อสู้จึงดูท่าจะยืดเยื้อจนน่ารำคาญคงมีการฟ้องกันไปมา และสู้กันผ่านสื่อแบบปีที่ผ่านมา เกมที่ทั้งสองฝ่ายจะเล่นต่อไปไม่ใช่ฟุตบอลแต่เป็นวอลเลย์บอล มีเน็ตกั้นอยู่ตรงกลาง จะมีการเสิร์ฟ การรับ ตั้งลูก หลอก แล้วตบหรือหยอดแล้วแต่ยุทธวิธีของแต่ละฝ่าย

เมื่อทั้งสองกลุ่มรุกไม่ได้ ก็ต้องรักษาพื้นที่แห่งความได้เปรียบที่มีอยู่เอาไว้

สำหรับกลุ่มอำนาจใหม่เป้าหมายคือการรักษาอำนาจบริหารและสภาเอาไว้ สามารถใช้เวลาทำงานตามนโยบาย ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางความคิดของประชาชน เวลาจะทำลายทั้งบุคคลและความคิดเก่าให้ถดถอยและเสื่อมลง

ส่วนกลุ่มอำนาจเก่าเป้าหมายคือรักษารัฐธรรมนูญ 2550 เอาไว้ จึงพยายามถ่วงเวลาการแก้ไขเพื่อหวังจะอยู่ในตำแหน่งที่ชี้เป็นชี้ตายให้นาน ที่สุด และพยายามขัดขวางการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ในทุกเรื่อง ทั้งสองฝ่ายจึงคิดเกม และคิดแก้เกมกันอยู่ตลอดเวลา

เกมที่ต้องปะทะในปี 2556

แพ้ หรือ ชนะ มีผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว

1.เกม ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เกมนี้ฝ่ายรัฐบาลจะโจมตีเข้าใส่ทำคะแนนได้ไม่ยาก เพราะในสภาพเป็นจริง ประชาชนไม่มีวันย้อนกลับไปกินข้าวแกงหรือก๋วยเตี๋ยวชามละ 10 บาท ได้อีกแล้ว น้ำมันก็ไม่มีลิตรละ 14 บาท ทองคำก็ไม่มีวันหวนกลับไปที่บาทละ 5,000

นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงภาคบังคับ ใครไม่อยากจ่ายค่าแรงขนาดนี้ก็ต้องทำด้วยตัวเอง กระแสการต้านโดยการหยิบยกเรื่องโรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวได้จนต้องปิด คงจะมีปรากฏขึ้นชั่วครู่ ชั่วยาม และจะหายไปในที่สุด

อีกปีเดียวทุกคนก็ลืมไปแล้วว่าเราเคยเถียงกันเรื่องค่าแรง 300 บาท แต่ทุกคนก็จะจำว่าครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีนโยบายแบบนี้ เหมือนกับ 30 บาท รักษาทุกโรค

ส่วนเกมแก้ปัญหาหรือกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ก็จะมีการตอบโต้กันเป็นปกติ

2. เกมเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นเกมบังคับที่มาตามกำหนดเวลา การแพ้ชนะของเกมนี้ มีผลต่อกำลังใจทั้งสองฝ่าย

ถ้าประชาธิปัตย์ (ปชป.) ชนะ พวกที่สนับสนุนอำนาจนอกระบบทั้งหลายก็จะรู้สึกว่ายังมีความหวัง ยังเหลือฐานที่มั่นใหญ่และจะพยายามรวบรวมกำลังโจมตีฝ่ายรัฐบาลอย่างต่อ เนื่อง

แต่ถ้าเพื่อไทยชนะ การรุกของอำนาจนอกระบบก็จะเสื่อมถอยและหดหายไปไม่น้อย เรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีความซับซ้อนตั้งแต่การคัดตัว จนถึงการชิงชัย จึงขอยกไปวิเคราะห์โอกาสหน้าโดยเฉพาะ

3. เกมนิรโทษกรรม นักสู้ธุลีดิน หรือนำนักโทษการเมืองออกจากคุก นี่เป็นเรื่องที่กลุ่มเสื้อแดงเรียกร้องมาโดยตลอด แม้ฝ่ายอำนาจเก่าที่มีคดีติดตัว ยังไม่แสดงปฏิกิริยาอะไรที่สนับสนุน แต่เชื่อว่า ถ้ามีการเร่งรัดคดีที่จะทำให้เข้าไปอยู่ในคุก ทั้งสองฝ่ายจะเห็นร่วมกันในที่สุด เกมนี้รัฐบาลจะถูกบีบ โดยประชาชนทั่วไปและคนเสื้อแดง ซึ่งอาจกำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้ บางด้านไม่เหมือนพรรคเพื่อไทย แต่การจะเรียกร้องหรือเคลื่อนไหว จะต้องดูกำลังและสภาพการณ์ทางการเมืองที่เป็นจริงว่า ถ้าทำแล้ว จะสำเร็จหรือล้มเหลว แต่ถ้าไม่ทำ ไม่เคลื่อนไหวอะไรเลย ทุกอย่างก็จะเชื่องช้าหรือเงียบหายไปเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง

เรื่องนี้ว่าไปแล้วเป็นเรื่องที่เสียหาย สำหรับรัฐบาล เพราะมีมิตรร่วมรบที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาด้วยกัน ถึงเวลาเข้าสู่อำนาจรัฐ มีบางคนมีอำนาจมีตำแหน่ง แต่เพื่อนร่วมรบ ยังต้องติดคุก ติดคดี ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามที่ทำความผิดเดินลอยชายอยู่ในโรงแรมห้าดาวอย่างสบายใจ

ที่ผ่านมากลุ่มอำนาจเก่าใช้ สองมาตรฐานจนผู้คนเสื่อมความนับถือ แต่อีกด้านรัฐบาลก็เสื่อมความเชื่อถือจากแนวร่วมไปด้วยเพราะยังต่อสู้เรื่อง นี้ไม่สำเร็จ ปีนี้ถ้ารัฐบาลยังไม่เดินเกมเอาคนที่เหลือออกจากคุกอย่างจริงจัง ปัญหาในแนวร่วมอาจขยายตัวได้

ส่วนการปรองดองจะยังไม่เกิดขึ้นในปี 2556 อย่าไปคาดหวังกับ คุณบรรหาร ศิลปอาชา เพราะเป็นเพียงแค่คนดู ใครแรงมากลากไปทางไหนก็ตามไป คงเป็นแค่ความปรารถนาดีระดับกองเชียร์ ถ้าคนที่ขัดแย้งกันจริงๆ มันไม่ยอมปรองดอง ก็ต้องสู้กันต่อไป

4. เกมเขาพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน การสร้างกระแสชาตินิยมของกลุ่มอำนาจเก่าเรื่องพื้นที่รอบปราสาทเขาพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตร มาเป็นประเด็นให้ขัดแย้งกับกัมพูชา ทำให้ฝ่ายรัฐบาลต้องเสียเวลาไปอธิบายกับประชาชนทั้งประเทศ แต่ต้องไม่หลงเหลี่ยมไปขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะยังมีพื้นที่ทับซ้อนในทะเลอีก 26,400 ตารางกิโลเมตร กับกัมพูชา และอีก 6,000 ตารางกิโลเมตร กับเวียดนาม ซึ่งทุกพื้นที่จะต้องใช้ประโยชน์ร่วมกันในการขุดเจาะหาน้ำมันและก๊าซมาใช้ ก่อนที่ทรัพยากรซึ่งใช้อยู่จะหมดไปในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า

รัฐบาลและภาคเอกชนกำลังดิ้นรนหาแหล่งพลังงานสำรอง เช่น การซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากลาว ซื้อก๊าซจากพม่า การพยายามหาแหล่งใหม่ในพื้นที่ทับซ้อน การหาแหล่งน้ำมันบนบกแถบอีสาน ล้วนยังไม่มีผลชัดเจน แต่ผู้รับผิดชอบยังต้องพบกับการโจมตีเรื่องผลประโยชน์ และปัญหาสิ่งแวดล้อม

ในขณะที่มีบางบริษัท บางชาติ มีความยินดีกับความขัดแย้ง เพื่อจะหาจังหวะแทรกเข้ามาแย่งทรัพยากรเหล่านี้แต่คงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะ เจ้าของสัมปทานเก่าแก่ที่เดินเรื่องจองพื้นที่มานานนับสิบปีคือบริษัท จากอเมริกาและญี่ปุ่น

เรื่องนโยบายรักชาติส่วนใหญ่จะซ่อนเล่ห์หมกเหลี่ยมมีผลประโยชน์แอบแฝง ไม่มีใครที่อยู่ดีๆ จะยกพวกไปปะทะกับเพื่อนบ้านให้เสียผลประโยชน์และเสียหน้า

5. เกมแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นสนามรบแบบยืดเยื้อของทั้งสองฝ่าย แต่เป็นการรบที่มีการเจรจาต่อรองกันได้ ตราบที่รัฐธรรมนูญยังไม่ถูกแก้ไขอย่างจริงจัง อำนาจตุลาการภิวัฒน์ก็ยังไม่โจมตีเข้าใส่รัฐบาล ในขณะนี้จะเห็นว่า เริ่มมีการเฉลี่ยความยุติธรรม กระจายด้านลบมาทางอีกฝ่ายบ้างเล็กน้อยเพื่อให้ดูว่า ความยุติธรรม ลดจากสองมาตรฐานมาเป็นมาตรฐาน+ครึ่ง

ปี 2556 เกมแก้รัฐธรรมนูญจะถูกยืดระยะเวลาให้ยาวออกไปเพราะเป็นความจำเป็นร่วมกันของ ทั้งสองฝ่ายที่ต้องการรักษาสมดุลของอำนาจ ตรึงพื้นที่ของอำนาจให้ไปเสียน้อยที่สุด

เกมนี้ต้องมีการยกเมฆ กลั่นเมฆให้เป็นน้ำ ปั้นน้ำให้เป็นตัว ถ้าจะให้น่ากลัวต้องเป็นตัวทักษิณ

แต่กระบวนการแก้ไขที่ถูกยืดออกไป ถ้าหากว่ามีการให้การศึกษาแก่ประชาชนในรูปแบบต่างๆ ก็จะเป็นการเปิดเผยความจริง ยกระดับความคิด ความรู้ของประชาชน อีกด้านหนึ่งก็จะดึงเวลาและความสนใจของทั้งสองฝ่าย ไม่ให้ไปเปิดเกมรุกรบในด้านอื่น

สภาพของรัฐบาลและผู้อยู่ในอำนาจก็เหมือนคนที่เดินอยู่บนสะพานสูง ต้องการจับราวสะพานเพราะกลัวตก ถ้าไม่มีราวสะพานให้จับก็ไม่อยากจะเดิน การเคลื่อนไหวใดๆ จึงมาจากจุดยืนที่ต่างจากประชาชนที่ไม่มีสิ่งที่ต้องสูญเสียมากนัก

ถ้าประชาชนไม่ยอมรับการต่อสู้แบบประคองตัว

จะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไป

ปัญหา แรก ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาล, สภาและ ตุลาการก็จะสูงขึ้น ชาวบ้านจะถามว่าอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่ผ่าน ส.ส. ทั้งสภา หายไปไหน ทำไม ส.ส. ไม่ยอมทำหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในการไม่ยอมลงมติวาระสาม เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ กลับอ้างคำแนะนำของศาลซึ่งไม่มีหน้าที่แก้ไข หรือร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าสภาไม่ทำหน้าที่ ประชาชนก็อยากเลือกคนใหม่เข้าไปแทน และไม่พอใจรัฐบาลที่ไม่ทำตามนโยบาย ไม่พอใจตุลาการที่แทรกแซง องค์กรในกระบวนยุติธรรมจะกลายเป็นเป้า ใหญ่

ปัญหาที่สองคือเมื่อถึงปีใหม่ 2557 ถ้าความขัดแย้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ยังหนักหน่วง แก้ไขไม่ได้ แนวทางการต่อสู้ ของสองฝ่ายอาจเปลี่ยนก็ได้ กลุ่มที่เรียกร้องการรัฐประหารทุกค่ำเช้า จะรู้สึกว่าไม่มีใครทำอะไรพวกเขาได้ การเลือกตั้งครั้งต่อไปดูแล้วก็ไม่มีโอกาสชนะ ชาวบ้านก็เบื่อความขัดแย้งแล้ว การผลักดันให้เกิดการรัฐประหารอย่างจริงจังจะเกิดขึ้น

อีกด้านหนึ่งพวกสายเหยี่ยวแดงที่ไม่ยอมทนต่อความยุติธรรมสองมาตรฐาน ก็จะเผยแพร่แนวคิดว่า การปฏิรูปการเมืองแบบสันติไม่มีทางเป็นจริง มีแต่การปฏิวัติโดยประชาชน จึงจะกวาดล้างพวกที่สร้างความอยุติธรรมให้หมดไปได้

บทเรียนที่ประชาชนได้รับจากการปราบปรามหรือการใช้สองมาตรฐาน จะทำให้คนหันมานิยมแนวทางนี้มากขึ้นแบบเพลง ที่ว่า

พออดทน ถึงที่สุด ก็สุดทน ต้องเปลี่ยนหน ทางสู้ ดูสักครา

นั่นหมายความว่าความรุนแรงมีโอกาสเริ่มขึ้นและลุกลามต่อไป

ที่มา.มติชนสุดสัปดาห์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น