คณะอนุฯ แก้ไขรธน. ได้ข้อสรุป เสนอยุบ"ศาลรธน.-ศาลฎีกาฯ-ผู้ตรวจการแผ่นดิน" อ้างเป็นตัวปัญหา เข้ายุค"ตุลาการภิวัฒน์" พร้อมฉีกมาตรา 309 ป้องกันรัฐประหาร ลั่นไม่แตะคดี"คตส." ไม่ช่วย"ทักษิณ" เตรียมส่งข้อสรุปให้ชุดใหญ่ศึกษา 14 ม.ค.นี้ ก่อนนำเสนอ ปธ.สภา "โฆษกศาลยุติธรรม"ชี้ดึง"ศาล รธน.-ศาลปกครอง"เป็นแผนกในศาลฎีกาเป็นแนวคิดฝ่ายการเมือง ด้านเพื่อไทยโยนมหาวิทยาลัยชั้นนำเคาะทางออกประชามติ แก้ รธน. ระบุหากไม่ตอบรับอาจดึง"ฮอวเวิรด์"มาดำเนินการแทน
ที่รัฐสภานายโสภณ เพชรสว่าง ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ที่มีตนเป็นประธานได้ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จะส่งข้อสรุปทั้งหมดให้กับคณะกรรมการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มี นายประสพ บุษราคัม เป็นประธานพิจารณาต่อ ว่าจะเห็นชอบตามแนวทางที่คณะอนุกรรมการฯเสนอมาหรือไม่ โดยจะมีการประชุมในวันที่ 14ม.ค.นี้ จากนั้นจะได้ส่งผลสรุปเสนอเป็นรายงานต่อ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา ในฐานะที่เป็นผู้ตั้งให้คณะกรรมการฯชุดนี้ขึ้นมา จากนั้นประธานสภาจะนำไปทำอะไรก็แล้วแต่วินิจฉัยของประธานสภาฯ
นายโสภณ กล่าวต่อว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร ได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมีสาระสำคัญคือ จะไม่มีการแก้ไขหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนที่มาของ ส.ส. ,ส.ว.จะย้อนกลับไปใช้แบบปี 2540 คือ มี 700 คน แยกเป็น ส.ส. 500 คน (ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100คน) ส่วน ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200คน นอกจากนี้จะเสนอให้มีการยุบ "ศาลรัฐธรรมนูญ" แล้วกลับไปใช้ "ตุลาการรัฐธรรมนูญ"ให้มีอำนาจเพียงการตีความกฎหมายที่ขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือการขัดกันระหว่างหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่มีอำนาจตัดสินเรื่องของการยุบพรรค โดยที่มาของตุลาการรัฐธรรมนูญ มาจากการคัดเลือกของรัฐสภา ส่วนเหตุผลที่เสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ เพราะปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจมากเกินไป นำไปสู่ตุลาการภิวัฒน์ ทำให้ถูกมองว่าศาลเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง จึงควรกลับไปสู่จุดเดิม โดยให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4-5 ปี
นายโสภณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะเสนอให้ยกเลิกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินคดีที่เกี่ยวกับการเมืองแทน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงไม่เป็นธรรมในการตัดสินคดีที่ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ และอาจจะมีการเมืองเข้ามาแทรกแซง จึงควรให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ตัดสิน เพราะเปิดโอกาสให้สามารถอุทธรณ์ ฎีกาได้ เช่นเดียวกันก็จะให้ยุบผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยให้ศาลปกครองเป็นผู้ทำหน้าที่แทน
นายโสภณ กล่าวด้วยว่า ส่วนการทำหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเสนอให้มีการลดอำนาจ ป.ป.ช. จากเดิมหลังจากที่ ป.ป.ช.ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด ฟ้องศาล หากอัยการสูงสุดมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง ป.ป.ช. ก็สามารถยื่นฟ้องเองได้ โดยแก้ไขให้อำนาจการสั่งฟ้องอยู่ที่อัยการสูงสุดเท่านั้น ป.ป.ช.ไม่สามารถยื่นฟ้องได้
ส่วนมาตรา 309 จะเสนอให้ยกเลิก เพราะเป็นมาตราที่สนับสนุนการทำรัฐประหารโดยไม่มีความผิด จึงต้องยกเลิก เพื่อไม่ให้มีการทำรัฐประหาร โดยจะเขียนให้ชัดเจนว่าอำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหาถือว่าเป็นการได้มาซึ่งอำนาจโดยมิชอบ แต่จะไม่มีผลย้อนหลังกับคดีความที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)ตัดสินไปแล้ว ส่วนคดีที่ยังไม่ตัดสินก็ให้สู้คดีกันไป และยืนยันว่าข้อเสนอให้ยุบ มาตรา 309 ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นผิด แต่เจตนาคือเพื่อป้องกันไม่ให้มีการรัฐประหารเกิดขึ้นเท่านั้น" นายโสภณ กล่าว
ข้อเสนอดังกล่าวส่วนใหญ่จะยุบหรือลดอำนาจองค์กรอิสระ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมือง นายโสภณ กล่าวว่า อย่าไปมองแบบนั้น เพราะอำนาจทุกอย่างอยู่ที่ประชาชน โดยมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจแทน ถ้าทำอะไรไม่เหมาะสม ประชาชนก็คงจะไม่เลือกเข้ามา
วันเดียวกัน นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ที่จะให้มีการรวมศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ เป็นแผนกในศาลฎีกา ว่า ศาลยุติธรรมไม่เคยมีความคิดที่จะเอาศาลใดมารวมกับศาลยุติธรรม เป็นความคิดของฝ่ายการเมืองทั้งนั้น ในส่วนของศาลยุติธรรมก่อนหน้านี้ได้ตั้งคณะกรรมการติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อศาลหลายเดือนที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการฯได้นำรัฐธรรมนูญปี 2550 มาพิจารณาถึงอำนาจของศาลว่าเรื่องใดไม่ใช่บทบาทของศาลยุติธรรม เช่น การที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ ประธานศาลฎีกา เป็นกรรมการสรรหา กรรมการในองค์กรอิสระตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง และการให้ศาลยุติธรรมตัดสินหรือชี้มูลข้อพิพาททางการเมือง เพราะหากศาลตัดสินไปทางใด ก็จะมีการมองว่าเข้าข้างอีกฝ่าย เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้ศาลทำหน้าที่ดังกล่าวชั่วคราวเท่านั้น
"ศาลยุติธรรมคงต้องรอดูการทำประชามติและฟังประเด็นจากฝ่ายการเมืองว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับศาลยุติธรรมอย่างไรบ้าง หลังจากนั้นคณะกรรมการติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญของศาลยุติธรรม ที่มีนายสมศักดิ์ จันทรา รองประธานศาลฎีกา เป็นประธานจึงจะกลับมาประชุมอีกครั้งว่าจะเสนอความเห็นใดเพิ่มเติมจากที่ข้อสรุปเบื้องต้นดังที่กล่าวไปหรือไม่ เพื่อที่จะให้การทำงานของศาลยุติธรรมมีเสถียรภาพมั่นคง" โฆษกศาลยุติธรรมกล่าว
ขณะที่ นายไพโรจน์ มินเด็น โฆษกศาลปกครอง กล่าวปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ โดยกล่าวเพียงสั้นๆว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ศาลปกครองคิดว่าควรจะต้องทำอย่างไร ยังไม่สามารถตอบได้ในตอนนี้
ที่พรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ผลการสัมมนาพรรคเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ชัดเจนว่าพรรคเห็นพ้องให้เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่จะทำต่อจากนี้ คือ คณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและแนวทางการทำประชามติ ที่มีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ และรมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ก็จะนำแนวทางที่ได้ไว้จากการสัมมนา คือ การให้คณะรัฐศาสตร์- นิติศาสตร์ ในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของรัฐ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไปศึกษาเรื่องดังกล่าวไม่เกิน 45-60 วัน ก็เป็นหน้าที่ของคณะทำงานทำหน้าที่ไปหารือเพื่อมีข้อสรุปออกมา
เมื่อถามว่า หากคณาจารย์หรือสถาบันเหล่านี้ไม่ตอบรับข้อเสนอจากฝ่ายการเมือง เพราะอาจกังวลจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง นายภูมิธรรม กล่าวว่า ที่เราเสนอแล้วนี้ เพราะสถาบันการศึกษามีความเป็นกลางมากที่สุด หากไม่ตอบรับ แสดงว่าต้องมีปัญหาอะไรแล้ว ไม่ได้เป็นการดึงสถาบันมาเป็นเครื่องมือการเมือง หากเกิดแบบนี้จริง อาจต้องมาหาสถาบันอื่นๆ อาทิ สถาบันการศึกษาจากต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยฮอวเวิรด์ก็ได้ ถัาเป็นไปได้
ที่มา.สยามรัฐ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น