ดังได้กล่าวมาแล้วว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเหตุการณ์ที่มีการวางแผนล่วงหน้า มีผู้จงใจปลุกปั่นยั่วยุ
โดยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ และรัฐบาลต่อๆมามีนโยบายให้เสรีภาพประชาชน และสื่อมวลชนมากขึ้น ทั้งการพูด การเขียน ประจวบกับในช่วงนั้นปรัชญาลัทธิเหมา-มาร์กซ์ เลนิน กำลังเฟื่องฟู หนังสือฝ่ายซ้ายและอุดมการณ์สังคมนิยมจึงถูกเผยแพร่ในเมืองไทยอย่างกว้างขวาง รวมทั้งผลงานของนักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าของไทยในอดีตก็ได้ถูกนำมาเผยแพร่และตีพิมพ์ใหม่ จนกระทั่งหน่วยงานต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐอเมริกาได้เตือนเป็นนัยว่า บัดนี้เมืองไทยมีหนังสือของฝ่ายซ้ายวางแผงจำหน่ายมากกว่า 200 ปกแล้ว
อีกทั้งในช่วงนั้น ทั้งลาว กัมพูชา และเวียดนาม ฝ่ายคอมมิวนิสต์ล้วนประสบชัยชนะและสถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ อุดมการณ์สังคมนิยมในไทยก็เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก ฝ่ายชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมของไทยจึงตื่นตระหนกเกรงกลัวคอมมิวนิสต์กันไปหมด การจัดตั้งองค์กรฝ่ายขวาเพื่อต่อต้านแนวคิดของขบวนการนักศึกษาจึงเร่งมีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพราะพวกเขาเกรงว่ากลุ่มนักศึกษาที่กำลังคร่ำเคร่งกับการศึกษาปรัชญาลัทธิเหล่านี้อาจกลายเป็นฐานกำลังที่แข็งแกร่งให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ก็เป็นได้
เป็นที่ทราบกันดีว่ากลุ่มก้อนที่อุทิศตนเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัย ปฏิบัติงานอย่างแข็งขันเต็มกำลังไม่แพ้นักศึกษาคือ นักเรียนอาชีวะ แต่หลังจบเหตุการณ์ 14 ตุลา ประชาชนส่วนใหญ่กลับให้การชื่นชมแต่นักศึกษา โดยหลงลืมนักเรียนอาชีวะเสียสิ้น ซึ่งเป็นช่องว่างที่ พล.ต.สุดสาย หัสดินฯ ผู้จัดตั้งกลุ่มกระทิงแดงมองเห็น โดยกล่าวว่า นักศึกษาเหมือนสมอง และนักเรียนอาชีวะเหมือนกับลำตัว
ยุทธศาสตร์ของกลุ่มกระทิงแดงคือ แยกหัวออกจากลำตัว โดยดึงลำตัวมาเข้าพวกกับกลุ่มกระทิงแดง นอกจากนี้กลุ่มกระทิงแดงยังอ้าแขนรับกลุ่มนักเรียนมัธยมฯที่มีปัญหาต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน กลุ่มเด็กข้างถนน กลุ่มทหารรับจ้างที่ถูกปลดเนื่องจากปัญหาเรื่องความประพฤติ ทั้งหมดนี้รวมตัวกันเพื่อต่อต้านการประท้วงของนักศึกษา และป่วนกิจกรรมต่างๆที่ขบวนการนักศึกษาจัดขึ้น โดยใช้ความรุนแรงอย่างเปิดเผย ทั้งพกปืน ขว้างระเบิด และจุดไฟเผาอาคารสถานที่ ทั้งนี้ รัฐบาลก็ไม่เคยจับกุมดำเนินคดี
นอกจากกลุ่มกระทิงแดงยังมีกลุ่มอื่นๆที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านขบวนการนักศึกษาอีกหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน เป็นการรวมกลุ่มของตำรวจตระเวนชายแดน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการ และประชาชน โดยร่วมเป็นหูเป็นตา รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ส่งให้ทางการ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินีนาถได้รับกิจการลูกเสือชาวบ้านไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และผู้ที่ผ่านการอบรมแล้วจะได้รับพระราชทานผ้าพันคอ และปลอกรัดผ้าพันคอทุกคน กลุ่มนวพล แปลว่า พลังใหม่ หรือพลังเก้า ทำงานครอบคลุมพื้นที่ในระดับจังหวัดและอำเภอ โดยสมาชิกแต่ละคนต้องหาสมาชิกให้ได้ 10 คนขึ้นไป มุ่งเน้นอุดมการณ์ว่าชาติจะอยู่ได้เพราะมีวัดกับวัง โดยผู้ที่เป็นหลักในการก่อตั้งคือ กลุ่มทหารในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เช่น พล.อ.สายหยุด เกิดผล และ พล.อ.วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ ฯลฯ
ชมรมวิทยุเสรี เป็นกลุ่มสถานีวิทยุของทหาร ทำงานโดยการเผยแพร่ข้อมูลปลุกระดม โจมตี และประณามกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ การโฆษณาชวนเชื่อ การเปิดเพลงปลุกใจ เช่น เพลงหนักแผ่นดิน เพลงรกแผ่นดิน เพลงถามคนไทย ฯลฯ ออกอากาศเป็นประจำทางสถานีวิทยุยานเกราะ และยังมีองค์กรฝ่ายขวาอีกมากมายที่ตั้งขึ้นพร้อมไปกับการทำลายภาพลักษณ์นักศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยสมาชิกของทุกๆกลุ่มจะถูกปลุกปั่นและระดมโจมตีให้เคียดแค้นชิงชังนักศึกษา คำขวัญอันลือลั่นของกลุ่มฝ่ายขวาในยุคนั้นคือ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”
เมื่อปลุกเร้าจนอารมณ์ผู้คนเต็มไปด้วยความเกลียดชังถึงขีดสูงสุด และพลังนักศึกษาอ่อนกำลังลง วันที่ 19 กันยายน 2519 ก็มีการนำจอมพลถนอม กิตติขจร กลับเข้าประเทศในสภาพของสามเณร อ้างว่ามาเยี่ยมบิดาที่ชราภาพ จากนั้นตรงไปที่วัดบวรนิเวศวิหารเพื่อบวชเป็นพระภิกษุ โดยมีพระญาณสังวรฯ เป็นองค์อุปัชฌาย์ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการนักศึกษาอีกครั้ง โดยยื่นเรื่องให้รัฐบาลดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 23 กันยายน 2519 ที่ประชุมลงมติคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอม แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ไม่ดำเนินการอะไร กลับตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง และในคืนวันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถได้เสด็จฯไปที่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อสนทนาธรรมกับพระญาณสังวรฯ พอเช้าวันที่ 24 กันยายน นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น ได้แถลงว่า “การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯวัดบวรฯกลางดึก แสดงให้เห็นว่าพระองค์ต้องการให้พระถนอมอยู่ในประเทศต่อไป”
เหตุการณ์ปะทุดุเดือดขึ้นเมื่อมีการฆาตกรรมพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอย่างโหดเหี้ยมทารุณ แล้วนำศพไปแขวน โดยพนักงานทั้ง 2 คนเป็นสมาชิกแนวร่วมประชาชนที่ออกติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอม จึงมีการแสดงละครสะท้อนภาพเหตุการณ์โดยกลุ่มนักศึกษาที่ลานโพธิ์ แต่ภาพการแสดงเพื่อให้สังคมตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกลับถูกนำไปประโคมข่าวโดยหนังสือพิมพ์ดาวสยาม และโจมตีว่าขบวนการนักศึกษาจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเลือกผู้แสดงที่มีใบหน้าคล้ายคลึงกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เพื่อเป้าหมายการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นแผนการส่วนหนึ่งของคอมมิวนิสต์
หลังจากนั้นมีการระดมผู้คนจำนวนมากออกไปร่วมชุมนุมต่อต้านขบวนการนักศึกษา และปลุกระดมยั่วยุอย่างหนัก จนเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้เริ่มยิงอาวุธเข้าใส่ผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตนับจำนวนศพได้ 42 ศพ แต่ยังมีผู้สูญหายและผู้บาดเจ็บอีกจำนวนนับร้อย ส่วนผู้ที่รอดพ้นจากการเสียชีวิตราว 3,000 กว่าคนถูกจับกุมดำเนินคดี บางส่วนหลบหนีการจับกุมออกต่างจังหวัด และออกนอกประเทศ
สิ่งที่น่าสลดใจที่สุดคือ ตลอดเวลาที่มีการเข่นฆ่าทำร้ายขบวนการนักศึกษา มีประชาชนจำนวนมากที่ล้วนตกเป็นเหยื่อของการถูกปลุกระดมให้มีความเกลียดชังถึงขั้นสูงสุด ยืนรายล้อมมุงดูด้วยความรู้สึกสาสมใจ ในขณะเดียวกันผู้อยู่เบื้องหลังการนองเลือดนี้ก็เฝ้ามองอย่างมีความสุข และพึงพอใจ ทั้งยังได้รับความเชื่อถือ ศรัทธาจากผู้ถูกปลุกปั่นว่า “การสังหารหมู่ครั้งนี้เป็นเรื่องที่สมควรต้องกระทำ”
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
**********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น