--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

มองนิติรัฐ-นิติธรรมอีกรอบเรามีคำตอบอะไรกับกรณียึดทรัพย์?

คอลัมน์ .โต๊ะกลมระดมความคิด
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
โดย ดร.ดำรงค์ เปลี่ยนศรีศร

เรื่องของนิติรัฐ Rechtsstaat เป็นถ้อยคำที่เราพูดถึงกันบ่อยภายหลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งใช้ควบคู่ไปกับอีกคำคือ นิติธรรม

นิติรัฐเป็นถ้อยคำซึ่งใช้กันในประเทศที่มีระบบประมวลกฎหมายถือกำเนิดจากภาคพื้นยุโรป มีรากฐานของกฎหมายโรมัน Jus Civille เป็นแม่แบบ หมายถึงระบบบริหารรัฐหรือสังคมที่ถือกฎหมายเป็นใหญ่ เป็นการปกครองโดยกฎหมาย แต่มิใช่เป็นการใช้กฎหมายตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ สำหรับประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบ “คอมมอนลอว์” มีประเทศอังกฤษเป็นต้นแบบนั้น ก็จะอ้างถึงหลัก “นิติธรรม” หรือ Rule of Law จากกรณีทั้งของหลักนิติรัฐและนิติธรรมที่เรามักใช้ควบคู่กันไปก็ยังมีรายละเอียดแตกต่างในความหมายที่ควรทำความเข้าใจ (อ่านรายละเอียดของ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ในเว็บไซต์ Newskythailand.com)

โดยหลักการนิติรัฐ กฎหมายไม่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม เพราะภายใต้กฎหมายนั้นบุคคลจะต้องเสมอภาคกัน มีสิทธิที่จะรู้ก่อนล่วงหน้าว่ากฎหมายจะมุ่งประสงค์บังคับให้ตนต้องปฏิบัติอย่างไร? รู้ว่าถ้าฝ่าฝืนจะเกิดผลร้ายอะไร? บุคคลจะได้ประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องสอดคล้องกับกฎหมาย แนวความคิดพื้นฐานเหล่านี้ยังเกี่ยวข้องไปสู่หลักต่างๆอีกมากมาย เป็นต้นว่า ถ้าไม่มีความผิดก็ไม่มีโทษโดยปราศจากกฎหมาย ห้ามการลงโทษซ้ำซ้อน การลงโทษโดยออกกฎหมายย้อนหลัง ฯลฯ ด้วยความเข้าใจเช่นนี้หลักนิติรัฐจึงเป็นการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชน แน่นอนที่นิติรัฐมีความสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดให้อำนาจของรัฐต้องผูกพันอยู่กับกฎหมาย กฎหมายนั้นกำหนดขอบเขตภารกิจของรัฐ มีกลไกที่จะควบคุมการใช้อำนาจของรัฐ ตลอดจนกฎหมายยังต้องประกันสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล

ดังนั้น รัฐที่มุ่งสนใจที่ใช้แต่เพียงกฎหมายออกมาบังคับ ผู้ปกครองผูกตัวเองเฉพาะกฎหมายโดยไม่สนใจว่ากฎหมายและกระบวนการจะถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่? ผู้ปกครองและรัฐเช่นนี้จึงไม่ใช่นิติรัฐอย่างแน่นอน การพร่ำพูดถึงแต่เรื่องห้ามประพฤติผิดกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมและหลักประกันของสิทธิเสรีภาพ จึงเท่ากับเป็นรัฐที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทั้งแสวงหาอำนาจ รักษาอำนาจ ตลอดจนกำจัดคู่แข่งขันทางอำนาจ...สภาพเช่นนี้มีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งก็น่าคิดว่าจะเป็นผลนำไปสู่อะไรที่สังคมจะต้องมีบทเรียนร่วมกัน?

เรากล่าวถึงหลักนิติธรรม (Rule of Law) ต้องเริ่มต้นจากการที่กษัตริย์อังกฤษเมื่ออดีตมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครอง ดำรงตนอยู่เหนือกว่ากฎหมายที่ใช้บังคับในบ้านเมือง ทั้งกฎหมายลายลักษณ์อักษรของรัฐสภาหรือคอมมอนลอว์ ซึ่งพัฒนาขึ้นมาโดยศาล ต่อมาด้วยพัฒนาการทางการเมืองรัฐสามารถแก้ไขปัญหาของกษัตริย์อังกฤษที่มีอำนาจเหนือรัฐสภาและเหนือศาล และศาลก็ได้เข้าไปมีบทบาทยืนยันความเป็นกฎหมายสูงสุดของคอมมอนลอว์ จะเป็นกษัตริย์ก็ดี รัฐสภาก็ตาม จะไปตรากฎหมาย ออกกฎเกณฑ์ใดๆให้ขัดกับคอมมอนลอว์ย่อมไม่ได้ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงว่าศาลจะมีอำนาจสูงสุด เพราะต้องผูกพันกับกฎหมายที่รัฐสภาได้ตราขึ้น จะไปอ้างคอมมอนลอว์เพื่อปฏิเสธกฎหมายซึ่งรัฐสภาตราขึ้นมาไม่ได้ ระบบคงมีการถ่วงดุลกันเช่นนี้!

หลักนิติธรรมจึงเกี่ยวข้องกับความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา มีสาระสำคัญได้แก่ การที่บุคคลทุกคนจะต้องเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นใดย่อมอยู่ภายใต้ปรกติธรรมดาของแผ่นดินคือ ไม่มีการใช้อภิสิทธิ์ มีข้อยกเว้นหรือเลือกที่รักมักที่ชัง หลักนิติธรรมจึงต้องปฏิเสธความคิดและพฤติกรรมต่างๆที่จะสร้างความไม่เสมอภาคทางกฎหมาย...มีคำถามว่ากรอบแนวคิดเช่นนี้อาจทำให้รัฐสภากลายเป็นอำนาจสูงสุดได้ ซึ่งความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะการตรากฎหมายยังขึ้นอยู่กับเจตจำนงของประชาชน เมื่อพรรคการเมืองเสียงข้างมากอยู่ในรัฐสภา ก็เป็นเหตุผลที่ว่าจะต้องระมัดระวังในการออกกฎหมายที่ไปกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน พรรคการเมืองไม่มีใครกล้าเสี่ยงต่ออนาคตของการเลือกตั้ง? หลักนิติธรรมจึงสร้างให้เกิดการคาดหมายได้ล่วงหน้าจากผลการกระทำของรัฐ ความชัดเจนของกฎหมาย ความแน่นอนมั่นคงของกฎหมาย แม้กระทั่งความสะดวกที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ

การมีรัฐบาลปัจจุบันที่เป็นเช่นนี้ มีรัฐธรรมนูญเช่นนี้ มีองค์กรอิสระและกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ที่ถูกวิจารณ์ถึงระบบยุติธรรมสองมาตรฐาน มีอำนาจนอกระบบจากเครือข่ายของอำมาตย์ เราคงห่างไกลที่จะไปพูดถึงหลักการของนิติธรรมและนิติรัฐ รัฐเช่นนี้จึงเป็นเพียงรัฐสมอ้างว่ามีนิติรัฐและนิติธรรม ภายใต้สภาพเงื่อนไขทั้งหมดจึงไม่มีความเป็นธรรมใดๆ ตัวอย่างคำพิพากษาในกรณียึดทรัพย์ก็พอให้คำตอบว่าทั้งนิติรัฐกับนิติธรรมของเรามีมาตรฐานตรงไหน?

**********************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น