.jpg)
ความเป็นอิสระของตุลาการถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติรัฐและเป็นหลักค้ำจุนที่สำคัญของความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย หลักความเป็นอิสระของตุลาการนั้นหมายความว่า ตุลาการต้องเป็นอิสระทั้งจากภายนอก คือจากฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารรวมทั้งอิสระจากฝ่ายตุลาการด้วยกันเอง กล่าวคือ การพิจารณาคดีของผู้พิพากษาจะไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตุลาการที่อาวุโสกว่าหรือผู้บังคับบัญชา ความเป็นอิสระของตุลาการนั้นสำคัญมาก และเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผู้พิพากษาจะต้องวางตนให้เป็นที่ยอมรับหรือไว้วางใจของคนทั้งสังคม
หากวิญญูชนตั้งข้อสงสัยหรือเคลือบแคลงในตัวผู้พิพากษาท่านใดท่านหนึ่งหรือสงสัยต่อสถาบันแล้วก็อาจเป็นผลเสียแก่องค์กรตุลาการเองได้ ความไว้วางใจต่อองค์กรตุลาการว่าเป็นองค์กรที่จะอำนวยความยุติธรรมนั้นสำคัญมากและเป็นสิ่งที่จะต้องแสดงต่อสังคมให้ปรากฏชัดดังคำกล่าวของผู้พิพากษาอังกฤษนามว่า Lord Hewart ได้กล่าวไว้ในคดี R v Suusex Justice ex p McCharty [1924] คดีนี้มีข้อเท็จจริงย่อว่า นายแมคคาร์ธี คนขับมอร์เตอร็ไซด์ได้ขับรถโดยประมาท ซึ่งได้ถูกดำเนินคดี ปรากฎว่าจ่าศาลท่านหนึ่งซึ่งมีส่วนร่วมในการพิจาณาคดีของนายแมคคาร์ธีได้เป็นสมาชิกของสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายแห่งหนึ่งโดยที่นายแมคคาร์ธีไม่ทราบ ปรากฏว่าศาลชั้นต้นตัดสินให้นายแมคคาร์ธีมีความผิด แต่นายแมคคาร์ธีอุทธรณ์โดยต่อสู้ว่า คำพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์ ผู้พิพากษาที่ตัดสินให้นายแมคคาร์ธีมีความผิดได้เบิกความว่า การที่ตนตัดสินให้นายแมคคาร์ธีมีความผิดนั้น ตนเองไม่เคยปรึกษาต่อจ่าศาลเลยเกี่ยวกับรูปคดี
อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษา Herwart ได้กล่าวว่า "ผู้พิพากษามิเพียงแต่ต้องแสดงให้ปรากฏชัดต่อคู่ความว่าตนดำรงความยุติธรรมเท่านั้น แต่ต้องแสดงให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกด้วยว่าตนเองได้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมด้วย" (...justice should not only be done, but should manifestly and undoubtedly be seen to be done.) จากคำกล่าวของ Lord Hewart จึงมีวลีติดปากในหมู่ผู้พิพากษาอังกฤษว่า "Not only must justice be done; it must also be seen to be done"
ประเด็นที่ควรมีการอภิปรายก็คือ การที่มีอดีตตุลาการ 1 ท่านและอีก2 ตุลาการไปนั่งที่บ้านแห่งหนึ่งนั้นมีผลกระทบต่อความไว้วางใจของสาธารณชนเพียงใด ขัดกับหลักความเป็นอิสระของตุลาการหรือจริยธรรมของตุลาการหรือไม่อย่างไร1
-----
1 ในประมวลจริยธรรมของตุลาการข้อ ๑ กล่าวว่า "หน้าที่สำคัญของผู้พิพากษาคือ การประสาทความยุติธรรมเก่ผู้มีอรรถคดี…..ทั้งจักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่าตนปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น