--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

เพื่อไทยปักหลักสู้ "นอกสภา" ฝ่ายนิติบัญญัติ-คณะรัฐมนตรี รุกชิง-ยึดคืนพื้นที่รัฐสภา-ทำเนียบ

ในที่สุด ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารก็ชิงพื้นที่ในการปฏิบัติงานกลับคืนจาก "เสื้อแดง"

โดยใช้เวลากว่า 13 วันของการชุมนุมของ นปช.ที่กินพื้นที่ครอบคลุมทั่วทั้งเกาะรัตนโกสินทร์

การเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป ของ "ชัย ชิดชอบ" เพื่อหาทางลง-ทางออกให้ฝ่ายรัฐบาล- ฝ่ายค้านมาเจรจา-ตั้งกระทู้-ถกเถียงใน ห้องประชุมสภา แทนการตะโกนด่ากันบนท้องถนน

เหนืออื่นใด รัฐบาลต้องการแสดงสัญลักษณ์ทางการบริหาร ว่าสามารถทำให้โครงสร้างอำนาจและการบริหารบ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะ "ปกติ"

ด้วยการรุกคืบจัดประชุมคณะรัฐมนตรี และเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังจากว่างเว้น-กินเวลากว่า 15 วัน

วาระการปะทะกันระหว่างฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้านจึงสร้างสีสันทางการเมืองหลากรูป-หลากแบบ

เมื่อรัฐบาลชิงลงมือสั่งการให้ "ทหาร-ตำรวจ" เข้าปฏิบัติการรุกเงียบตั้งแต่ยามวิกาล ก่อนการประชุม 12 ชั่วโมง เพื่อ วางแนวสกัดกั้นไม่ให้ "เสื้อแดง" เข้าใกล้ "ฝ่ายนิติบัญญัติ"

ทำให้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต้องข้ามเครื่องกีดขวางไม่น้อยกว่า 7 ชั้น และเข้าสู่ถนน ที่ถูกสั่งปิดไม่น้อยกว่า 4 สาย รอบนอกสภา กว่าจะเดินเข้าห้องประชุมได้ ต้องผ่าน จุดตรวจไม่น้อยกว่า 3 จุด

ทว่ามีแต่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเท่านั้นที่สามารถ "ฝ่าด่าน" ของ "ทหาร-ตำรวจ" เข้าสู่สภาได้

ส่วน ส.ส.เพื่อไทยเกือบทั้งหมด นำโดย นายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ต้องนำ "รถส่วนตัว" เป็นเครื่องกีดขวาง-ดักทาง-สกัดกั้น ไม่ให้ ส.ส.ที่เหลือเดินทางเข้าสู่สภาได้

การตั้งเวทีส่งเสียงปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงด้วยวาทะ-เหตุผล "ส.ส.ไม่มีศักดิ์ศรี หากต้องเข้าประชุมโดยผ่านแถวทหาร-ตำรวจ"

ระหว่างทางการเข้าสู่พิธีกรรม-การประชุมเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติ จึงมีทั้งเสียง-ภาพการทะเลาะ-โต้เถียงกันของบรรดาผู้ทรงเกียรติหลายคู่-หลายตำแหน่ง

ตั้งแต่ระหว่าง ส.ส.พรรคเพื่อไทยกับพรรคร่วมรัฐบาล ไปจนถึงระหว่าง ส.ส.พรรคเพื่อไทยกับประธานรัฐสภา

และยังมี "คู่ผสม" ระหว่างทหารที่ปฏิบัติการด้านจิตวิทยา+ส.ส.ประชาธิปัตย์ กับนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.ปากดี-เพื่อไทย ที่ตั้งวงปราศรัยย่อยท้าทายใกล้ ๆ ราชสำนัก-เขตพระราชฐานหน้าสวนจิตรลดา

ในที่สุด สัญลักษณ์-พิธีกรรมของฝ่ายนิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎรก็บรรลุผล เมื่อ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.พรรคร่วมสามารถเดินทางเข้าประชุมได้จนครบองค์ประชุม

ส่วน ส.ส.เพื่อไทย ที่จัดประชุม "นอกสภา" ก็สลายการชุมนุมจากหน้ารัฐสภา เคลื่อนตัวเข้าสู่เวที นปช.-เสื้อแดงที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ หากการปะทะครั้งนี้ทำให้ฝ่ายรัฐบาลได้ภาพ-ได้ความชอบธรรม

ฝ่ายค้านก็ได้ภาพความพยายามในการ "แสดง-โชว์" การต่อสู้ "นอกสภา" และโฆษณา-ชวนเชื่อว่ากำลัง "ทหาร-ตำรวจ" เข้ายึด-ปิดล้อมรัฐสภาจนไม่สามารถฝ่าด่านเข้าสู่ห้องประชุมได้

ตามที่ฝ่ายค้าน "อ้าง" ว่าการประท้วงไม่เข้าร่วมประชุม เพราะรัฐบาลใช้อำนาจฝ่ายบริหารมาดำเนินการแทรกแซงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐสภา

และการพยายามตอบโต้-ทางสัญลักษณ์-ย้อนศรอย่างรู้ทางฝ่ายรัฐบาล ด้วยคำพูดที่ต้องการกระจายเสียงไปทั่ว ทุกสื่อว่า "ทหารไม่มีสิทธินำกำลังเข้ายึดรัฐสภา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติ ตามระบอบประชาธิปไตย"

ข้ออ้างของ "ฝ่ายค้าน" ถูก "ฝ่ายความมั่นคง" ตอบโต้ โดยรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง "สุเทพ เทือกสุบรรณ"

การชี้แจงขั้นตอนการรักษาความปลอดภัย ระบุต้นเรื่องมาจากประธานสภาผู้แทนราษฎรให้เลขาธิการสำนักงานทำหนังสือถึงรองนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี เพื่อหามาตรการป้องกันความปลอดภัยในการประชุมสภาในระหว่างที่มีการชุมนุม

พร้อมกันนี้ ฝ่ายรัฐบาลได้โชว์-สัญลักษณ์ของความสำเร็จในพิธีกรรม การประชุม ด้วยการโหวต-ผ่านกฎหมาย 3 ฉบับ ในชั้นของสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ, ร่างพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายรามอินทราวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ในท้องที่เขตบางเขน เขตสายไหม และเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร

และร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ถูกโหวตโดยฝ่ายรัฐบาล ผ่านฉลุย ไร้เงาฝ่ายค้าน

แผนขั้นต่อไปของฝ่ายความมั่นคงที่ผนึกกันแนบแน่นระหว่างฝ่ายรัฐบาล-ทหาร-กองทัพ คือการรุก-บุกเข้ายึดพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลคืนกลับมาเป็นฐานบัญชาการของฝ่ายบริหาร

การจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่าง "ปกติ" ในอีกไม่นานเกินควร จึงเป็น เป้าหมายต่อไปของฝ่ายรัฐบาล

1 ใน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า ส.ส.ควรทำหน้าที่ในสภา โดยเฉพาะวันพุธ-พฤหัสฯ ต้องเข้าประชุมสภาและพูดในสภา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา

"ผมเห็นด้วยกับมาตรการรักษาความปลอดภัย รับมือการชุมนุมรอบสภา แต่ที่ไม่เห็นด้วย คือวิธีการนำกำลังและ สิ่งกีดขวางมาวางรอบรัฐสภา เพราะรู้สึกว่าทำเกินไป เห็นแล้วรู้สึกหดหู่ เหมือนประเทศไม่ได้เป็นประชาธิปไตย แต่อยู่ในภาวะสงคราม หรือกำลังรัฐประหาร" ทายาท-การเมืองของ "สมศักดิ์" กล่าว

เสียงโจษจัน-เล่าขาน การไม่เข้าร่วมสังฆกรรม-พิธีกรรม ที่แสดงสัญลักษณ์ ของฝ่ายนิติบัญญัติ จาก "ไชยันต์ ไชยพร" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า

"พรรคเพื่อไทยไม่น่าจะตีความไปถึงเรื่องศักดิ์ศรี เพราะถ้าคิดเรื่องศักดิ์ศรี ก็ต้องตอบให้ได้ว่า หากผู้ชุมนุมเดินทางมาล้อมรัฐสภาแล้วจะทำอย่างไร รวมทั้งหากลไกรัฐสภาล้มเหลว ส.ส.ไม่ทำหน้าที่ในสภา กลับมีแต่กลไกการเคลื่อนไหวบน ท้องถนน ก็จะทำให้สถานการณ์แรงขึ้น จนกระทั่งอาจเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร เช่น ในปี 2549 ที่เป็นผลจากการกดดันนอกสภาอย่างมาก"

ส่วน นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการ จากสำนักเดียวกัน ค่ายรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ไปปรากฏตัว "แดง" เห็นต่าง "ไม่ใช่การนำทหาร มาล้อมรัฐสภา แต่เป็นเรื่องความชอบธรรมในการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษา ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพราะเหมือนเป็นการประกาศศัตรูภายในประเทศ"

"พวก ส.ส.ที่ไม่เข้าประชุมสภานั้น แม้จะเข้าใจได้ถึงเหตุผลที่แสดงออกมา เช่นนั้น แต่ตัว ส.ส. ก็ต้องตอบประชาชน ให้ได้ ว่าหน้าที่ของเขาอยู่ตรงไหน เพราะการมาดูแลประชาชนของตัวเองบนถนนนั้น ทำได้อยู่แล้ว แต่หน้าที่ในสภา ส.ส.ก็ต้องตรวจสอบรัฐบาลและผลักดันกลไกรัฐสภาให้ทำงานได้ หรือหากไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็ควรจะเข้าไปตั้งกระทู้ในสภา"

ความพยายามของฝ่ายรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์ "ข้ามกองเลือด" เข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรซ้ำรอยกับ สมัย "7 ตุลา" ถูกนำไปตีความ-พลิกประเด็น-ยกระดับการต่อสู้ของฝ่ายค้านและฝ่ายเสื้อแดง

การประชุมเพื่อแสดงรูปแบบ-สัญลักษณ์โครงสร้างอำนาจของประเทศเพียงครึ่งวัน โหวตผ่านกฎหมาย 3 ฉบับ ถูกพรรคเพื่อไทยนำเรื่องขึ้นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ และร้องเรียนต่อองค์การสหประชาชาติ และเป็นประเด็นหลักในการอภิปรายริมสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

การต่อสู้ระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล จากนี้ไปไม่จำกัดสถานที่-เวลา-กาละ-เทศะเฉพาะพื้นที่ในสภาผู้แทนราษฎรอีกแล้ว


ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
**************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น