--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

การเมืองสภาอุตฯ ภาพสะท้อนเมืองไทย

บทบรรณาธิการ

เหลือเวลาอีกไม่มากนัก การเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็จะเปิดฉากอย่างเป็นทางการ แม้จะเริ่มเห็นแนวโน้มของฝ่ายที่จะได้รับชัยชนะ ค่อนข้างชัดเจน แต่ดูเหมือนความวุ่นวายอาจไม่ยุติลงอย่างราบรื่น สมานฉันท์ อย่างที่สมาชิก ตลอดจนผู้ติดตามความเคลื่อนไหวจากภายนอกคาดหวังกัน ปัญหาความขัดแย้งขยายผลลงไปกลายเป็นความแตกแยก แบ่งข้าง แบ่งฝ่าย ไกลเกินที่จะย้อนกลับมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนในอดีต

สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นกับองค์กรร่วมภาคเอกชนอย่างสภาอุตสาหกรรมฯ กลายเป็นภาพสะท้อนเชื่อมโยงไปถึงสังคมการเมืองไทยในภาพใหญ่ได้เป็นอย่างดี เพราะลึก ๆ แล้วสถานการณ์การเมืองไทยก็ไม่ได้มีฉากที่แตกต่างกันเลย ความขัดแย้งของแนวคิด มุมมอง ความเชื่อทางด้านการเมืองของคนในประเทศไทย ฝังรากลึกลงไปในแต่ละระดับ พร้อมกับความตื่นตัวทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด และคงเป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังว่า สภาพสังคมการเมืองไทยจะย้อนกลับไปเป็นเหมือนดังเช่นภาวการณ์ก่อนหน้าการเข้ามา ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมถึงต่อกรณีการปฏิวัติเดือนกันยายน 2549

เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะทำให้ "คนชั้นกลาง" กลุ่มคนในสังคมเมือง-กรุงเทพฯ กลุ่มที่นิยมแนวคิดแบบ "สีเหลือง" รวมถึงคนอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่ฝังใจกับภาพลบของ พ.ต.ท.ทักษิณ เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยในนิยามของตนเอง หันกลับมาพิจารณาข้อเรียกร้องทางการเมืองของ "กลุ่มคน เสื้อแดง" โดยปราศจากอคติ เช่นเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หากจะสร้างกระบวนการโน้มน้าวให้ "คนรากหญ้า" ชาวชนบท ในเขตภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หันกลับมาทบทวนข้อเรียกร้องที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางประชาธิปไตยที่ไม่ปิดกั้น กีดกัน "คนสีอื่น"

ข้อดีประการเดียวของสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองนับจากวันที่ 12 มีนาคม 2553 เป็นต้นมา นั่นคือการที่ทุกฝ่ายใช้ความอดทนในระหว่างการเผชิญหน้ากัน ตั้งมั่นอย่างมีวินัย ที่จะไม่ใช้ความรุนแรง แม้จะมีความพยายามในด้านสงคราม ข่าวสาร หรือการเคลื่อนไหวที่ส่งผลกระทบต่อคนกรุงเทพฯบางส่วนก็ตาม อย่างน้อยการชุมนุมอย่างสงบ การเตรียมแผนตั้งรับด้วยมาตรการที่เป็นขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ก็ช่วยให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในมุมมองของนานาประเทศ ดูดีมีวุฒิภาวะมากยิ่งขึ้น

และคงจะเป็นเรื่องดียิ่งกว่านี้ หากทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. และ ฝ่ายรัฐบาลอันมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนหลัก ไม่ตั้งอยู่บนทิฐิ หรือมุ่งมั่นเพียงแต่ต้องการจะเป็น "ผู้ชนะ" ให้ได้ในเหตุการณ์ครั้งนี้ หากลดอคติดังกล่าวได้ โอกาสของการเปิดเวทีสำหรับ "การเจรจา" ก็จะมีความเป็นไปได้สูงขึ้น บทสรุปหรือฉากจบที่สวยงาม ไม่เกิดความสูญเสียทุก ๆ ฝ่าย ตามที่ คนส่วนใหญ่ของประเทศปรารถนาที่จะเห็น ก็คงไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความฝัน

จุดสำคัญของการ "ยอมรับความต่าง" เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน เรียกร้อง ต่อรองโดยสันติวิธี ใช้วิถีทางของการเจรจา พิจารณาข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่ายด้วยเหตุด้วยผล นั่นน่าจะเป็นทางออกทางเดียวสำหรับสังคมการเมืองไทยในนาทีนี้


ที่มา. ประชาชาติธุรกิจ
***********************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น