"ผมไม่ผิดหวังกับการเจรจาที่ล้มเหลว เพราะผมไม่ได้คาดหวังตั้งแต่ต้นอยู่แล้วว่าจะประสบความสำเร็จ
เหตุทั้งสองฝ่ายนั่งลงหารือไม่ได้มุ่งหวังผล เนื่องจากทราบดีว่าเงื่อนไขของแต่ละฝ่ายยากที่จะรับได้ แต่ถือว่าเป็นบรรยากาศที่ดีในระบอบประชาธิปไตย ที่ความขัดแย้งถูกยกขึ้นมาบนเวทีเจรจา แทนที่จะห้ำหั่นบนท้องถนน"
ฝ่ายรัฐบาลชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่า จะไม่ยุบสภาในระยะสั้นอย่างแน่นอน ตราบใดที่งบประประมาณรายจ่ายปี 2554 ยังไม่มีผลบังคับใช้ เพราะทุกรัฐบาลหวังอย่างยิ่ง ที่จะเป็นผู้จัดสรร "เม็ดเงิน" ผ่านงบประมาณด้วยตัวเอง
ตามปฏิทิน งบประมาณปี 2554 นั้น 27 เม.ย. คณะรัฐมนตรี จะพิจารณากรอบในรายละเอียด และช่วง 26-27 พ.ค. พิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร 6 ก.ย. จะพิจารณาในที่ประชุมวุฒิสภา และคาดว่า 10 ก.ย. 2553 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะสามารถนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2554 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย
นัยของรัฐบาล เงื่อนไขงบประมาณรายจ่ายปี 2554 หลังเดือนก.ย. ถึงยุบสภาได้...จึงไม่แปลกที่ยื่นข้อเสนอ จะยุบสภาได้สิ้นปี สอดรับกับมุมมองของ "บรรหาร ศิลปอาชา" ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เห็นว่า ยุบสภาได้ต้องรอ 6-7 เดือน
แต่สิ่งที่เป็นเงื่อนไข ยิ่งใหญ่กว่างบประมาณรายจ่าย คือ ขั้นตอนการโยกย้ายข้าราชการตำรวจและนายทหาร "โดยเฉพาะโผโยกย้ายนายทหารระดับสูง" ซึ่งกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการ ก็อยู่ช่วงเดือนส.ค.หรือเดือนก.ย.นั่นแหละ!
รัฐบาลและนายทหารที่กุมอำนาจในกองทัพ ปัจจุบันยอมไม่ได้ ที่จะให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นก่อนเดือนส.ค.หรือเดือนก.ย. นำไปสู่ "ความไม่แน่นอนในกองทัพ"
หากมั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้ง คงไม่น่าวิตก แต่สถานการณ์วันนี้ "สุ่มเสี่ยง" แพ้หรือชนะ โอกาสเท่ากัน ยิ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เตรียมคลอดนโยบายหาเสียง "พักหนี้ 5 ปี หนี้ไม่เกิน 5 แสน" น่าจะได้รับการตอบสนอง ความนิยมในวงกว้าง เพราะยากที่ประชาชนจะตระหนักว่านั่นคือภาษีของตัวเอง
กองทัพจึงไม่พิสมัยความไม่แน่นอนทางการเมือง ก่อนเดือนก.ย. นี้ เพราะอาจจะนำไปสู่ความไม่แน่นอนของบุคคล ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก คนใหม่ และในอีกหลายตำแหน่งที่สำคัญ
ขั้วอำนาจในปัจจุบันวางแถวไว้เรียบร้อยแล้ว !
นี้คือเหตุผลที่รัฐบาลไม่ได้ยกมาเจรจาหน้าทีวี
พ.ต.ท.ทักษิณ และ แกนนำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เข้าร่วมเจรจา ก็ทราบเงื่อนไขเรื่องนี้ดี จึงยื่นข้อเสนอยุบสภา ภายใน 15 วัน หรืออาจจะยืดให้ถึง 3 เดือน ตามที่นักวิชาการเสนอ
เพราะเชื่อว่าหากมีการเลือกตั้งก่อนเดือนก.ย. 2553 พรรคเพื่อไทย "ชนะแน่"! ด้วยนโยบาย "ประชานิยมสุดขั้ว" พักหนี้ 5 ปี 5 แสนบาท เพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านฯ และอีกมากมาย
ได้อำนาจทางการเมือง ก่อนเดือนก.ย. เพื่อเข้าไปจัดสรร ตำแหน่งคนของตัวเองเข้าไปในองค์กรหลักของประเทศ อย่างเช่นหลังเลือกตั้งปี 2544 เคยปฏิบัติมาแล้ว หรืออีกนัย เบรกไม่ให้รัฐบาล แต่งตั้งโผนายทหารได้สำเร็จ
สามแกนนำ นปช.จึงปฏิเสธข้อเสนอรัฐบาลที่จะยุบสภาภายใน 9 เดือน
เมื่อทั้งสองฝ่ายรู้เงื่อนไข "จริง" และมีคำตอบอยู่แล้ว ไยถึงมานั่งเจรจา ขายฝันให้คนทั้งประเทศมีความหวัง ?
เพราะได้ออกฟรีทีวีทุกช่อง..."เรียลลิตี้โชว์ทางการเมือง" เพื่อใช้สื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวเอง !
เสื้อแดง...หวังสื่อรายงานสิ่งที่พูดบทเวทีผ่านฟ้า ผ่านสื่อกระแสหลัก ที่มีการถ่ายทอดสดตลอดเจรจา 2 ชั่วโมง...เนื้อหาในวันเจรจา จึงดูเป็นตั้งกระทู้...กล่าวหา...อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล มากกว่า จะเป็นการ "เจรจา" อย่างแท้จริง (ยกเว้น วีระ มุสิกพงศ์)
รัฐบาล...ต้องการ "สื่อ" ไปยังทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะ "ฝ่ายตรงกลาง" ตอบโต้ทุกข้อกล่าวหา เพื่อให้เห็นความชอบธรรม ของการดำรงอยู่ แทนที่จะยุบสภาในระยะเวลาอันสั้น
เอาเข้าจริง...เงื่อนไข ยุบสภา 15 วัน หรือ 3 เดือน ที่ นปช.เสนอ หรือ 9 เดือนที่รัฐบาลเสนอ เกี่ยวข้องกับการรักษาอำนาจและแย่งชิงอำนาจทางการเมืองทั้งสิ้น
การดำรงอยู่และได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อที่จะจัดการบางอย่าง
เงื่อนไขที่ไม่ได้อยู่ในการเจรจาหน้าทีวี จึงไม่แปลกที่ทั้งสองฝ่าย "ยอมกันไม่ได้" ทั้งๆ ที่น่าสงสัยว่าทำไม 9 เดือน ก็ไม่ได้นานเกินไปที่จะรอ และเสื้อแดงน่าจะ "ประกาศเป็นชัยชนะได้ว่า กดดันจนนายกรัฐมนตรียอมเจรจาและระบุช่วงวันยุบสภาชัดเจน"
หากมีการเจรจารอบสาม และหวังผลได้ข้อตกลงจากการหารือผ่านหน้าจอทีวี...ไม่มีประโยชน์อีกแล้วครับ !
โดย.วีระศักดิ์ พงษ์อักษร
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
*************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น