--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553

" พระนเรศวร " ตำนานนักต่อสู้ผู้ไม่มี(วัน)ตาย จาก"จักรพรรดิราช"สู่เบื้องหน้า"ม็อบแดง"สู้อำมาตย์???

การเคลื่อนม็อบแดง ยึดกรุง ทุกครั้ง จตุพร พรหมพันธ์ แกนนำ นปช. จะต้องอัญเชิญพระองค์ดำ หรือ พระนเรศวร นำทัพเสื้อแดง สู้อำมาตย์ เอาเข้าจริง ตำนานอันยิ่งใหญ่ของพระนเรศวร ถูกนำมารับใช้การเมืองตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา จากยุควีรกรรมของพระมหากษัตริย์อันยิ่งใหญ่ มาสู่ชาตินิยม จนมาล่าสุด พระนเรศวร ถูกอัญเชิญมาอยู่ เบื้องหน้าคนเสื้อแดง เหตุใด จึงเป็นเช่นนั้น เรามีคำตอบ

...สมเด็จพระนเรศวรเปรียบเสมือนวีรบุรุษของราชสำนักมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ราชสำนักในแต่ละยุค "สร้าง" สมเด็จพระนเรศวรให้สอดคล้องกับคติความเชื่อและความคิดทางการเมืองของตน ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ภาพของสมเด็จพระนเรศวรเป็นไปในแนวทางจักรพรรดิราชและธรรมราชาภายใต้โลกทัศน์แบบศาสนา

เนื่องด้วยคติที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงอยุธยา เรื่องของสมเด็จพระนเรศวรเป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันความชอบธรรมในการปกครองและเป็นเสมือนตำราในการศึกษาเรื่องราวขนบธรรมเนียมประเพณีของพระราชวงศ์ในอดีต

งานเขียนเหล่านี้จึงมักเป็นพระราชพงศาวดารที่เสพกันเฉพาะชนชั้นในราชสำนักเท่านั้น
ทว่าเมื่อโลกทัศน์ของชนชั้นนำเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบทางโลกย์มากขึ้น รวมทั้งสถานการณ์ภายในคือความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับขุนนางและสถานการณ์ภายนอกคือลัทธิจักรวรรดินิยม ทำให้เกิดการปฏิรูปการปกครองในรัชกาลที่ 5 เกิดสำนึกความเป็นชาติ
สำนึกถึงขอบเขตของดินแดนสมเด็จพระนเรศวรจึงกลายเป็นพระมหากษัตริย์นักรบผู้ปกป้องประเทศ กู้เอกราชชาติภายใต้โครงเรื่องแบบ "ราชาชาตินิยม" วีรกรรมของพระองค์แพร่ลงมาสู่ประชาชนเพื่อปลูกฝังประวัติศาสตร์และความเป็นชาติ

ความคิดแนวนี้ถูกผลิตซ้ำโดยราชสำนัก ทั้งผ่านหนังสือ บทละคร และภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในที่สุด เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พระราชประวัติของพระองค์ยังกลายเป็นบทเรียนและสัญญาณที่บ่งบอกถึงการต่อสู้ของคณะเจ้าต่อคณะราษฎร จะเห็นได้ว่าสมเด็จพระนเรศวรยังทรงเป็นผู้ที่ราชสำนักไทยให้ความสำคัญและยังคงนึกถึงอยู่เสมอ

เรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรยังคงถูกสร้างต่อ ๆ มาในหลายรูปแบบ แต่เปลี่ยนมือผู้สร้างจากราชสำนักมาเป็นสามัญชน กองทัพ เรื่องราวของพระองค์เป็นประโยชน์ในเรื่องการทหาร มีการสถาปนาวันกองทัพบกไทยขึ้นมาใน พ.ศ. 2495 ตรงกับวันที่ 25 มกราคมของทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา กองทัพใช้เรื่องสมเด็จพระนเรศวรอธิบายประวัติความเป็นมาของตนเองว่ามีความเป็นมายาวนานคู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทย

ในยุคสงครามเย็น พระองค์เป็นเสมือนสัญลักษณ์ในการต่อสู้กับ "คอมมิวนิสต์" พระบรมราชานุสาวรีย์ถูกสร้างขึ้นมามากมาย รวมทั้งเกิดเพลงปลุกใจ "ทหารพระนเรศวร" และ "มาร์ชนเรศวร" เมื่อสถานการณ์ภัยแดงเริ่มคลี่คลาย อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรกลายเป็นสถานที่สักการะบูชาและบนบานของประชาชน เกิดการนำวีรกรรมของพระองค์ไปประกอบการแสดงแสงสีเสียง แต่งเป็นนวนิยายเรื่องต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตคือ ไม่ว่าผู้สร้างเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรจะเป็นชนชั้นใด พระองค์มักได้รับการนำเสนอแบบ "ด้านเดียว" มาตลอด คือความเป็นกษัตริย์นักรบ แม้จะมีความพยายามเสนอภาพอื่น ๆ บ้าง

เช่น นวนิยายหลายเรื่องที่เขียนให้พระองค์มีการกระทำและอารมณ์หลากหลาย ดูเป็นมนุษย์มากขึ้น นำเสนอเรื่องความรักของพระองค์ซึ่งไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร แต่ก็ไม่สามารถแทนภาพกษัตริย์นักรบที่ถูกสั่งสมมาอย่างยาวนานได้เลย

เรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชถูกนำไปใช้ในหลายรูปแบบ หลายสถานการณ์ โดยบุคคลหลายระดับ หลายกลุ่ม ทุกคนกลายเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งเคยจำกัดวงอยู่ในราชสำนักเท่านั้น

แต่ละคนนำเอาประวัติศาสตร์ไปสร้างประโยชน์ สร้างความเชื่อมั่นศรัทธาบางอย่างให้แก่ตนเองและพวกพ้อง
ความเป็นวีรบุรุษของสมเด็จพระนเรศวรจะคงอยู่ในสังคมไทยต่อไป แต่ในอนาคตจะถูกใช้อย่างไร เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหรือมากมายแค่ไหน ก็ต้องขึ้นอยู่กับเวลา สถานการณ์ในอนาคต และ "มนุษย์" ซึ่งเป็นผู้ที่ทรงพลังที่สุดในการเขียนและสร้างประวัติศาสตร์มาทุกยุคทุกสมัย!!!

( หมายเหตุ จาก งานวิจัย ปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษาศาสตร์ จุฬาฯ เรื่อง ภาพลักษณ์สมเด็จพระนเรศวร ของราชสำนักไทย สมัยรัตนโกสินทร์ ถึงทศวรรษ 2480 ของ วริศรา ตั้งค้าวานิช )

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
***********************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น