หมายเหตุ - เป็นใจความสำคัญคำยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร (ชินวัตร) อดีตภริยา นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว เมื่อวันที่ 26 มีนาคม หลังศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินจำนวน 46,373 ล้านบาทเศษ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว รวม 5 คน ตกเป็นของแผ่นดิน
คำอุทธรณ์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและครอบครัวทั้งหมด ยื่นต่อศาลฎีกาฯสรุปประเด็นได้ดังนี้ พยานหลักฐานใหม่ที่ใช้ในการยื่นอุทธรณ์ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 278 ประกอบด้วย
1.หนังสือของการไปรษณีย์และการสื่อสารของประเทศพม่า ยืนยันว่า นโยบายการปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซ์ซิมแบงก์ให้กับรัฐบาลพม่าจำนวน 4,000 ล้านบาท เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และการเอื้อประโยชน์ตามที่ศาลฎีกาฯวินิจฉัย
2.หนังสือของบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ยืนยันว่า ตามสัญญาสัมปทานให้สิทธิกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ใช้สัญญาณความถี่ซีแบนด์ ทั้งหมดเพียงหนึ่งช่องทางจากดาวเทียมทุกดวง ไม่ใช่ดวงละหนึ่งช่องทางตามที่ศาลฎีกาฯวินิจฉัย ดังนั้นแม้ดาวเทียมไอพีสตาร์ ไม่มีซีแบนด์ ก็ไม่กระทบกระเทือนสัญญาสัมปทาน จึงไม่ใช่ดาวเทียมสำรอง
3.กฎบัตรสหประชาชาติ ปฏิญญาสากล กติการะหว่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าการที่ศาลฎีกาฯ ยอมรับประกาศ คปค. (คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) มาใช้บังคับและให้มีผลเหนือกว่ารัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ ที่ออกโดยกระบวนการนิติบัญญัติ เป็นการผิดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
4.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยประเด็นการออก พ.ร.ก. (พระราชกำหนด) สรรพสามิต แสดงให้เห็นว่าศาลฎีกาฯ ต้องผูกพัน จะพิพากษาขัดแย้งไม่ได้
5.บทความและบทวิเคราะห์ทางวิชาการที่มีความเห็นแตกต่างจากคำพิพากษาศาลฎีกาฯ เช่น บทวิเคราะห์ของ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า มาตรการทั้ง 5 ข้อตามข้อกล่าวหาของอัยการสูงสุด รัฐไม่ได้เสียหาย
ซึ่งประเด็นข้างต้นดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหา (พ.ต.ท.ทักษิณ) ประสงค์จะนำพยานหลายปากที่เกี่ยวข้องในประเด็นดังกล่าวเข้าไต่สวน แต่ศาลฎีกาฯไม่อนุญาต จึงถือว่าเป็นพยานที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาวินิจฉัยจากศาลฎีกามาก่อน จึงเข้าเงื่อนไขเป็นพยานหลักฐานใหม่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 278
ในอุทธรณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว ยังอ้างพยานหลักฐานใหม่อีกส่วนหนึ่งถึงกรณีศาลฎีกาวินิจฉัยไม่ครบถ้วน คือคำเบิกความของพยานที่มีจำนวนหลายสิบปาก เช่น คำเบิกความของนายทะเบียนหลักทรัพย์ เจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ ปลัดกระทรวงและอธิบดี คณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น โดยอ้างว่าศาลฎีกาฯไม่ได้หยิบยกคำเบิกความของพยานเหล่านั้น ซึ่งเบิกความสอดคล้องกันมาวินิจฉัย และไม่ได้วินิจฉัยให้เหตุผลว่า พยานเหล่านั้นไม่ควรเชื่อถือหรือเบิกความไม่ถูกต้องไม่เป็นความจริงอย่างไร
และอ้างถึงพยานเอกสารจำนวนมากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว นำเสนอต่อศาลในชั้นไต่สวนที่แสดงที่มาที่ไปในประเด็นต่างๆ และสามารถหักล้างข้อกล่าวหาของ คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) และอัยการได้ แต่ศาลฎีกาฯไม่ได้หยิบยกพยานหลักฐานเหล่านั้นขึ้นมาวินิจฉัยในคำพิพากษา
เช่น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการตรา พ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิต และการมีมติคณะรัฐมนตรีให้นำภาษีสรรพสามิต มาหักออกจากส่วนแบ่งรายได้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต้องผูกพันศาลฎีกาฯ แต่ปรากฏว่าในคำพิพากษา กลับวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างอื่นที่ขัดแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ ยังมีใบหุ้น ทะเบียนหุ้น เอกสารแสดงการชำระหนี้ผ่านธนาคาร บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และเอกสารการจ่ายเงินปันผล ซึ่งเอกสารต่างๆ ยืนยันการเป็นเจ้าของในกรรมสิทธิ์หุ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่กฎหมายมีบทบัญญัติให้สันนิษฐานว่าผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามที่ได้ระบุในเอกสาร จึงแสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน โอนขายหุ้นทั้งหมดไปแล้วตั้งแต่ปี 2543 ก่อน พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ศาลฎีกาฯกลับไม่ได้วินิจฉัยให้ครบถ้วน เพียงแต่นำเอาเอกสารเรื่องการแจ้งการได้มาและจำหน่ายหลักทรัพย์มาวินิจฉัยว่าไม่ใช่เอกสารแสดงการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้น แต่กลับนำพฤติการณ์อื่นมาวินิจฉัยประกอบการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หุ้น
ขณะที่ คำพิพากษายังมีบางประเด็นที่คลาดเคลื่อนกับข้อเท็จจริง เช่น ตั๋วสัญญาใช้เงินค่าหุ้นที่นายบรรณพจน์ (ดามาพงศ์) ออกให้คุณหญิงพจมาน หายไปหนึ่ง แล้วนายบรรณพจน์ออกให้แต่มีการแก้ไขคำนำหน้าจาก นางŽ เป็น คุณหญิงŽ ก่อนที่จะได้รับโปรดเกล้าฯ ซึ่งศาลฎีกาฯวินิจฉัยเพียงว่าเป็นพิรุธ เพราะตั๋วสัญญาฉบับอื่นไม่ได้หายไปด้วย แต่ก็ไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าตั๋วสัญญาที่เป็นพิรุธนั้นมีการชำระหนี้ครบถ้วนผ่านสถาบันการเงินจนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ก่อนที่จะถูกตั้งข้อกล่าวหา
และยังได้มีการแสดงตั๋วสัญญาใช้เงินไว้ในรายการบัญชีทรัพย์สินและได้ยื่นต่อ ป.ป.ช.ตั้งแต่ปี 2544 แล้ว จึงเป็นการทำตั๋วย้อนหลังไม่ได้ การดูเพียงเรื่องคำนำหน้าโดยไม่ดูเรื่องสาระสำคัญอื่นจึงเท่ากับศาลฎีกาฯยังไม่ได้วินิจฉัยพยานหลักฐานที่เป็นสาระสำคัญในคดี อีกทั้งการชำระหนี้โดยออกตั๋วสัญญาเป็นสิ่งที่กฎหมายรับรองให้ปฏิบัติได้ แต่เหตุใดจึงกลายเป็นความไม่ถูกต้อง ซึ่งคำพิพากษาไม่ได้ให้เหตุผลไว้
เช่นเดียวกับประเด็นการขายหุ้น บ.ชินคอร์ปฯ ให้กับบุตรและคนในครอบครัว ต่ำกว่าราคาตลาด คือขายในราคาหุ้นละ 1 บาท ซึ่งเป็นพาร์หรือราคาทุน กลับถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าไม่มีการซื้อขายหุ้นกันจริง ทั้งที่การยกทรัพย์สินให้กับบุตร สามารถทำได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าตอบแทน แต่ศาลฎีกาฯกลับเห็นว่าเป็นการโอนหุ้นให้กับบุตรชาย บุตรสาวและคนในครอบครัวถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณ
ส่วนประเด็นราคาหุ้น บ.ชินคอร์ป ในตลาดหลักทรัพย์ขึ้นลงตามปกติสอดคล้องกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์มาโดยตลอด โดยก่อน พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี หุ้นชินคอร์ป มีมูลค่ารวม 30,000 ล้านบาทเศษ ดัชนีอยู่ที่ 327.51 จุด ในขณะช่วงเวลาที่ขายหุ้นให้กลุ่มเทมาเส็กประเทศสิงคโปร์ มีราคาอยู่ 70,000 ล้านบาท ดัชนีอยู่ที่ 750.28 จุด ซึ่งในคำพิพากษาก็ไม่ได้มีคำวินิจฉัยการขึ้นลงของราคาหุ้นดังกล่าว
ส่วนเรื่องปล่อยเงินกู้ประเทศพม่า ยังมีอีกประเด็นที่ ศาลฎีกาฯไม่ได้วินิจฉัยว่า การนำเงิน 300 ล้านบาทเศษ มาซื้อสินค้า บ.ไทยคม ครั้งเดียว ทำให้ร่ำรวยผิดปกติมาโดยไม่สมควรอย่างไร และการอนุมัติเงินกู้ 4,000 ล้านบาท ไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่ได้นำเงินมาซื้อสินค้า บ.ไทยคม ทั้งหมด แต่การพิจารณาอนุมัติปล่อยกู้ มาจากเหตุผลอื่น
การยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาฯดังกล่าวจึงขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีคำสั่งรับอุทธรณ์ของทั้งหมดไว้พิจารณา และให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีคำสั่งหรือพิพากษาให้ยกคำร้องของอัยการสูงสุดผู้ร้องในคดีนี้ และมีคำสั่งเพิกถอนคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ที่พิพากษาให้เงินจากการขายหุ้น บ.ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเงินปันผล จำนวน 46,373,687,454.70 บาท รวมทั้งมีคำสั่งเพิกถอนการอายัดเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวทั้งหมดทุกบัญชี
ที่มา.มติชนออนไลน์
**************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น