หลังมีการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำ นปช. กรุงเทพโพลล์ และเอแบคโพลล์รีบเดินหน้าทำแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชนทันที โดย กรุงเทพโพลล์เผย คนกรุง 45.6% เจรจาแล้วยังเหมือนเดิม ขณะที่ 42% เห็นด้วยยุบสภา เฉือนหวิว 41% ไม่เห็นด้วย ขณะที่เอแบคโพลล์ชี้ 47% ไม่มั่นใจว่ายุบสภาคือทางออก มั่นใจแค่ 35% แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและลงลึกในรายบุคคลที่ยากจะชี้ทิศทางการเมืองไทย
@กรุงเทพโพลล์เผย คนกรุง 45.6% เจรจาแล้วยังเหมือนเดิม ขณะที่ 42% เห็นด้วยยุบสภา เฉือนหวิว 41% ไม่เห็นด้วย
วันนี้ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ได้ทำการเปิดเผยผลสำรวจเรื่อง อนาคตการเมืองไทยหลังการเจรจา 2 ครั้งระหว่างรัฐบาลกับแกนนำ นปช. โดยผลสำรวจระบุว่า คนกรุงเทพ ฯ ร้อยละ 45.6 คิดว่าสถานการณ์การเมืองไทยภายหลังการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำ นปช. มาแล้ว 2 ครั้ง จะยังคงเหมือนเดิม ร้อยละ 21.0 คิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ร้อยละ 20.4 คิดว่าสถานการณ์จะแย่ลง และมีร้อยละ 13 ที่ไม่แสดงความคิดเห็น โดยให้คะแนนความพึงพอใจต่อการทำหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง 6.09 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10
ต่อประเด็นเรื่องการยุบสภานั้น ร้อยละ 42.0 เห็นด้วยกับการยุบสภา ร้อยละ 41.0 ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา และมีร้อยละ 17.0 ไม่ขอแสดงความคิดเห็น
ต่อประเด็นหากจะมีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ สิ่งที่เห็นว่าควรมีการแก้ไขเพื่อสร้างรากฐานที่ดีให้กับระบบการเมืองไทยในอนาคตนั้น ร้อยละ 41.8 เห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยแก้ไขในบางประเด็นของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เช่น ประเด็นข้อกำหนดการยุบพรรคการเมือง ที่มาของ สว. และองค์กรอิสระ การแบ่งเขตเลือกตั้ง สส. ร้อยละ 30.6 ขณะที่อีกร้อยละ 11.2 เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้แทนฉบับปี 2550 นอกจากเรื่องแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ร้อยละ 27.9 ยังมีการเสนอให้แก้ไขในเรื่องอื่นๆ เช่น กำหนดมาตรการป้องกันและเพิ่มโทษของการซื้อสิทธิขายเสียง สร้างคุณธรรมและจริยธรรมให้กับนักการเมือง โดยมีร้อยละ 30.3 ที่เห็นว่าทุกอย่างดีอยู่แล้ว ไม่มีเรื่องใดต้องแก้ไข
โดยสิ่งที่คนกรุงเทพฯ อยากฝากบอกถึงรัฐบาล 5 อันดับแรก คือ เป็นกำลังใจให้รัฐบาลทำงานต่อไปให้ดีที่สุด ร้อยละ 26.9 ให้รัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหาเพื่อจะได้ยุติปัญหาโดยเร็ว ร้อยละ 16.3 ให้เสียสละ ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน ร้อยละ 13.8 ให้ประนีประนอม ไม่ให้ใช้ความรุนแรง ปล่อยให้เป็นไปตามกฎหมาย ร้อยละ 7.0 ให้คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ร้อยละ 6.6
และสิ่งที่คนกรุงเทพฯ อยากฝากบอกถึงแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. (5 อันดับแรก) คือ ให้ยุติการชุมนุมโดยเร็ว ร้อยละ 32.7 ไม่ควรนึกถึงประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง ควรนึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ร้อยละ 19.5 ชุมนุมได้แต่ควรชุมนุมอย่างสงบไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ร้อยละ 19.0 เป็นกำลังใจให้ชุมนุมต่อไป ร้อยละ 10.4 ให้เจรจาหาทางออก และถอยกันคนละก้าว ร้อยละ 5.1
@เอแบคโพลล์ชี้ 47% ไม่มั่นใจว่ายุบสภาคือทางออก มั่นใจแค่ 35%
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ความคิดเห็นของสาธารณชนต่อการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำคนเสื้อแดง โดยประชาชนเกือบครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 49.4 ติดตามการถ่ายทอดสดการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ร้อยละ 34.4 ไม่ได้ติดตามการถ่ายทอดสด แต่ติดตามจากสื่ออื่นๆ และร้อยละ 16.2 ไม่ได้ติดตามเลย
โดยประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.9 สนับสนุนวิธีการเจรจาระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 47.8 ไม่มั่นใจว่า การยุบสภาเลือกตั้งใหม่จะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ ขณะที่ร้อยละ 35.9 มั่นใจ ที่เหลือไม่มีความเห็น และเมื่อถามถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการตัดสินใจเรื่องการยุบสภา พบว่า ร้อยละ 42.2 ขอให้ทำงานต่อไปจนครบวาระ แต่ร้อยละ 27.2 เสนอให้ยุบสภาภายใน 15 วัน ร้อยละ 13.9 ให้ยุบสภาภายใน 6 เดือน ร้อยละ 13.8 ให้ยุบสภาภายในอีก 9 เดือนข้างหน้า
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงคะแนนความเป็นผู้นำโดยภาพรวมของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ภายหลังการเจรจา พบว่า ร้อยละ 35.5 ให้คะแนนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.4 ระบุเหมือนเดิม ร้อยละ 26.2 ระบุลดลง ที่เหลือไม่มีความเห็น และเมื่อถามถึงคะแนน ความเข้มแข็ง กล้าหาญของกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงที่ออกมาในหนทางประชาธิปไตย พบว่า ร้อยละ 35.9 ให้คะแนนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.7 ระบุเหมือนเดิม แต่ร้อยละ 32.7 ระบุลดลง ที่เหลือไม่มีความเห็น
ที่น่าพิจารณาสำหรับทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุมคือ ประชาชนส่วนใหญ่ระบุสิ่งที่อยากให้รัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงใช้โอกาสนี้ช่วยกันทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศคือ ร้อยละ 91.0 ระบุให้ช่วยกันแก้ปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ ร้อยละ 89.2 ระบุปัญหาเศรษฐกิจ ร้อยละ 87.2 ระบุปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ร้อยละ 87.0 ระบุปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม ร้อยละ 84.5 ระบุปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 80.7 ระบุปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชน และร้อยละ 79.2 ระบุปัญหาภัยแล้ง ตามลำดับ
โดยศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปทุมธานี เพชรบุรี เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ขอนแก่น ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู พัทลุง ระนอง และ สุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,191 ครัวเรือน ดำเนินการสำรวจในวันที่ 30 มีนาคม 2553
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น