--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2553

มุมมองสื่อต่างชาติ: อคติในสื่อโทรทัศน์ ยิ่งแบ่งแยกผู้ประท้วงชาวไทย

Prachatai:
ขณะที่มีคนบางกลุ่มยังเป็นห่วงเรื่อง ‘ความขัดแย้ง’ และพยายามรณรงค์ให้ ‘คนไทยรักกัน’ แต่หารู้ไม่ว่าสื่อต่างชาติวิเคราะห์การนำเสนออย่างมีอคติของสื่อไทยเองที่ยิ่งขยายวงความขัดแย้ง โดยยกตัวอย่างฟรีทีวีที่ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลทำให้แต่ละฝ่ายต่างหันไปหาเคเบิลทีวีช่องที่สนับสนุนฝ่ายตน

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ไซมอน มอนท์เลค จาก คริสเตียน ไซเอนส์ มอนิเตอร์ (CSM) นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการแพร่ภาพข่าวการชุมนุมกลุ่ม นปช. หรือกลุ่มเสื้อแดงของไทยในสื่อโทรทัศน์ โดยใช้ชื่อว่า “อคติในสื่อโทรทัศน์ ยิ่งแบ่งแยกผู้ประท้วงชาวไทย” (Biased TV stations intensify divides in Thailand protests)

โดยกล่าวถึงการนำเสนอข่าวอย่างมีอคติของสื่อโทรทัศน์ ที่ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาล ขณะเดียวกันการเติบโตของเคเบิลทีวี ทำให้สื่อของแต่ละฝ่ายต่างมีที่ทางของตนเอง และนำเสนอในสิ่งที่เน้นมุมมองจากฝ่ายตน

++++++++++++++++

ขณะที่การประท้วงในไทยดำเนินไปจนถึงสัปดาห์ที่สองแล้ว สถานีโทรทัศน์ที่เป็นคู่แข่งกันก็รายงานการชุมนุมทั้งวันทั้งคืน ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็เน้นเรื่องผลกระทบด้านลบของการชุมนุม

กลุ่มเสื้อแดงพากันท่องไปทั่วกรุงเทพฯ ด้วยรถยนต์, รถกระบะ และ รถจักรยานยนต์ เมื่อวันเสาร์ (20) ที่ผ่านมา ในการชุมนุมประท้วงรัฐบาลครั้งล่าสุด ตำรวจระบุว่ามีผู้ชุมนุมราว 65,000 รวมขบวน ที่มีความยาวหลายไมล์

แต่ในขณะเดียวกันนั้นเอง โทรทัศน์ของไทยที่เป็นสื่อที่คนนิยมดู บอกว่ามีผู้เข้าร่วม 25,000 คน และเช่นเคย ภาพข่าวของผู้ชุมนุมถูกการแถลงข่าวของรัฐบาลคลุมทับไปหมด ไม่มีการนำเสนอเรื่องของผู้ชุมนุมโดยทั่วไป และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทีมีผู้ชุมนุมประท้วงด้วยการเทเลือดหน้าทำเนียบรัฐบาล สื่อที่สนับสนุนรัฐบาลก็พากันโหมเรื่องอันตรายต่อสุขภาพ เรื่องการใช้เลือดในเชิงจริยธรรม ขณะที่สื่อผ่ายต้านรัฐบาลเน้นเรื่องการใช้สัญลักษณ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมหลั่งเลือดเพื่อประท้วง

และหลังจากที่การประท้วงดำเนินเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 สื่อกระแสหลักของไทยก็ควรถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นกลาง ซึ่งจริง ๆ ระยะเวลาที่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองและการแบ่งขั้ว 4 ปี ที่ผ่านมา ก็น่าจะพิสูจน์ได้แล้ว มีนักวิจารณ์บอกว่าช่องสถานีฟรีทีวีที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลหรือกองทัพนั้นเต็มไปด้วยอคติ

ด้วยเหตุนี้เอง ชาวไทยหลายคนเริ่มหันไปหาสื่อที่อยู่ข้างเดียวกันอย่างพวกเคเบิลทีวี วิทยุชุมชน และอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกทางการเมืองลึกขึ้น และทำให้การหาจุดร่วมทำได้ยากขึ้น

วันจันทร์ (22) ที่ผ่านมา แกนนำผู้ชุมนุมปฏิเสธไม่ยอมรับการเจรจากับรักษาการนายกรัฐมนตรี และยืนยันอยากเจรจากับตัวนายกรัฐมนตรีเอง ตัวนายกฯ อภิสิทธิ์เองก็ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ให้เขายุบสภาและเลือกตั้งใหม่

ก่อนหน้านี้อคติในสื่อไทยก็เคยทำให้เกิดความขัดแย้งมาแล้ว ในปี 1992 (เหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ. 2535) เมื่อทหารยิงผู้ชุมนุมในกทม. ช่องสถานีของรัฐบาลรายงานว่ามีพวกคอมมิวนิสต์ปลุกระดมให้เกิดจลาจล ภาพที่ถูกใส่ความว่าเป็นการต่อต้านเชื้อพระวงศ์ในหนังสือพิมพ์ปี 1976 (เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519) ก็ทำให้เกิดการสังหารหมู่นักศึกษาโดยกลุ่มที่ถูกจัดตั้งโดยกองทัพ

ไม่กี่ปีที่ผ่านมากลุ่มนักกิจกรรมที่ขัดแย้งกันทั้งสองฝ่ายต่างกดดันสถานีโทรทัศน์เรื่องการเสนอข่าว และมีการคุกคามผู้สื่อข่าวที่นำเสนอจำนวนผู้ชุมนุมน้อยกว่าความจริง จากกรณีนี้เองทำให้สื่อบางแห่งหลีกเลี่ยงการประเมินจำนวนผู้ชุมนุม “พวกเราไม่อยากมีปัญหา เราจึงหลีกเลี่ยงการรายงานเรื่องจำนวน” บรรณาธิการสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งกล่าว

สถานีโทรทัศน์ที่นำเสนอคนละมุม

เรื่องที่ทำให้ยิ่งเป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากขึ้นคือการที่แต่ละฝ่ายต่างมีสื่อของตัวเอง ฝ่ายเสื้อแดงที่ได้รับการสนับสนุนจากคนชนบทและจากชนชั้นแรงงานของไทย เปิดสถานีพีเพิลแชนแนล ที่ถ่ายทอดการประท้วงตลอดวันตลอดคืน ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามคือเสื้อเหลืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางสิทธิเลือกตั้งก็รับข่าวสารจาก เอเอสทีวี ทั้งสองช่องล้วนแต่มีอคติสูง

สุภิญญา กลางณรงค์ นักรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อกล่าวว่า การแพร่ขยายของ ‘สื่อใหม่’ (new media) ทำให้เกิดการตรวจสอบการควบคุมข่าวสารของรัฐบาล เธอกล่าวอีกว่าสื่อโทรทัศน์ไม่มีพลังในการบิดเบือนความจริงได้มากเท่าในปี 1992 (พ.ศ. 2535) อีกแล้ว เพราะพวกเขาต้องแข่งกับสื่ออื่น ๆ รวมถึงการส่งรูปและข้อความผ่านทางโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต

“ฉันคิดว่า (รัฐบาล) รู้ว่าหากพวกเขาใช้การควบคุมหรือบงการมากเกินไป ประชาชนจะไม่เชื่ออีกต่อไป” สุภิญญากล่าว

บรรณาธิการข่าวโทรทัศน์ผู้ไม่เอ่ยนามเพราะกลัวถูกคุกคามบอกอีกว่า ความแตกต่างจะทำให้ผู้ชมตกอยู่ในความมืด เขาบอกอีกว่ารัฐบาลแทรกแซงการนำเสนอข่าว ซึ่งเรื่องนี้ก็เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ “แต่ในตอนนี้มันเลวร้ายกว่าเดิม” เขากล่าว



ที่มา: แปลจาก Biased TV stations intensify divides in Thailand protests, Simon Montlake, The Christian Science Monitor, 23-03-2010

http://www.csmonitor.com/World/Asia-Pacific/2010/0322/Biased-TV-stations-intensify-divides-in-Thailand-protests
*******************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น