--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

เปิดวิวาทะเดือด !! "อภิสิทธิ์-จตุพร" ชง6ประเด็นอัดนายกฯ "มาร์ค"แบะท่าขอเวลา9เดือนแก้รธน.-ยุบสภา

นายกฯเปิดโต๊ะเจรจาวันที่2 "จตุพร"ยิงคำถาม"มาร์ค"เคยบอก"สมัคร"ให้ยุบสภาแก้ปัญหา สื่อบันทึกภาพเพียบ

การเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายระหว่าง รัฐบาล และ 3 แกนนำนปช. ในวันที่ 2 เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 18.20 น. โดยใช้เวลา ประมาณ 2 ชั่วโมง โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกฯ พยายามเสนอระยะเวลาให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน และประชาชนลงประชามติ จากนั้นจึงยุบสภา โดยใช้เวลา 9 เดือน ซึ่งนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำนปช. ก็มีแนวโน้มจะรับไปพิจารณา โดยให้ทั้งฝ่ายไปจัดทำแผนรายละเอียดระยะเวลาร่วมกันของแต่ละฝ่าย และนำกลับมาหารืออีกครั้งในวันพฤหัสฯที่ 1 เมษายน แต่ในตอนท้าย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว โดยกล่าวสรุปว่า ข้อเสนอของนปช.ในวันนี้ให้นายกฯยุบสภาภายใน 15 วันไม่ได้รับการตอบสนอง ส่วนข้อเสนอใหม่ของรัฐบาลในวันนี้ ให้ยุบสภา ใน 9 เดือน ยังไม่ขอรับข้อเสนอ แต่ขอนำไปหารือกับผู้ชุมนุมก่อน จึงค่อยนัดหารือกันในรอบที่ 3 ส่วนฝ่ายรัฐบาลจะทำแผนไว้ตามเดิม คือนัดหารือรอบที่สาม ในวันที่ 1 เมษายน ส่วนนปช.จะร่วมหารืออีกหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่นปช.จะพิจารณาเอง โดยการหารือจบในเวลา 20.20 น.

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 29 มีนาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกฯ และนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเจรจาเป็นวันที่ 2 กับนายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มเสื้อแดง ที่สถาบันพระปกเกล้าฯ ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยสถานีโทรทัศน์ทุกช่องถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ

ปรากฏว่า มีบรรดาช่างภาพ สื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ สถานีโทรทัศน์ ทั้งสื่อไทยและสื่อต่างประเทศ มาตั้งช่องเปิดทางถ่ายทอดสด และถ่ายภาพประวัติศาสตร์ นับร้อยคน ทำให้การเจรจาในวันที่สองต้องล่าช้าไปกว่า 20 นาที

นายวีระ มุสิกพงศ์ : ขอบคุณท่านนายกฯ ชาวบ้านรู้สึกสบายใจ ที่บ้านเมืองจะกลับสู่ปกติ มาถึงข้อเรียกร้อง ก่อนจากกันเมื่อวาน พวกผมได้ขอให้นายกฯ ยุบสภาภายใน 15 วัน ขอถามตรง นายกฯและคณะ มีความเห็นอย่างไร

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : ขอตอบว่า คงต้องมีเงื่อนไขที่เราต้องช่วยกันทำ ถึงจะมั่นใจว่า เป็นทางออกที่ยอมรับของทุกฝ่าย ของฟันธงได้เลยว่า ยุบวันนี้ หรืออีก 15 วัน ไม่ตรงกัน ว่าจะแก้ปัญหาให้บ้านเมืองกลับไปปกติสุขได้ จากการหารือกันว่า ประชาชน ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการยุบสภาในตอนนี้ วาระของผมเหลือเวลาอีก 1 ปี กับ 9 เดือน ถ้าให้ผมจัดเลือกตั้งก่อนครบวาระคงไม่มีปัญหา โดยการจัดการปัญหาต่างๆ ให้แก้ไขปัญหาได้ โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คงจะใช้ระยะเวลาไม่นาน พร้อมจะคุยในกรอบนี้หรือไม่ เพราะถ้าไม่ยอมรับผมก็ขอบอกว่า ทำไม่ได้ แน่นอน แต่ถ้ายอมรับกรอบนี้ เราก็เจรจากันต่อได้

นายจตุพร พรหมพันธุ์ : ตอนนายกฯเป็นฝ่ายค้าน เคยขอให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ยุบสภาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : (โต้ขึ้นทันทีว่า) เหตุการณ์ตอนนั้น เป็นคนละกรณีกับตอนนี้ เพราะตอนนี้ มีการกดดันของผู้ชุมนุม แต่ตอนนั้น ผู้ชุมนุมไม่ต้องการให้ยุบสภา

นายจตุพร พรหมพันธุ์ : คนเสื้อแดง ติดใจเรื่อง 2 มาตรฐาน ทำให้มีคนมาชุมนุมกันจำนวนมาก เป็นบาดแผลร้าวลึกของคนไทย ประเด็นต่อไป ท่านเข้ามาเป็นนายกฯ เข้ามาสู่ในวาระ 1 ปี 4 เดือน ช่วงแรกถ้าจะให้ยุบสภามันเร็วเกินไป แต่ถือว่า เป็นนานกว่า 2 รัฐบาล สมัคร-สมชาย นอกจากนี้ ยังได้เป็นนายกฯโดยไม่ชอบ และล้มเหลวหลายอย่าง ทำให้คนไทยเป็นหนี้ทั้งประเทศ และการกู้เงินมาใช้จ่าย เป็นเงินกว่า 8 แสนล้าน ถือว่าใช้เงินมหาศาลมาใช้นอกงบประมาณแผ่นดิน ทำให้เหนืออำนาจการตรวจของของคณะกรรมาธิการสภา จนมีข่าวการทุจริตจำนวนมาก ถึงกับเรียกว่า กู้มาโกง เช่น โครงการไทยเข้มแข็ง ไทยพอเพียง และการจัดซื้ออาวุธ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการลอกข้อสอบ ในกระทรวงมหาดไทย การสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ

ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอเรียนว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีโอกาสเป็นไปได้ ตั้งแต่ท่านเป็นนายกฯ เคยรับปากพรรคร่วม แต่ก็ไม่ได้ทำตาม โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหลายๆประเด็น แม้กระทั่งเรื่องการสำเร็จราชการแทน ประเด็นแก้ไขรธน.ไม่เชื่อว่า จะทำได ้และเห็นว่า มันสายไปแล้ว และหมดเวลาไปแล้ว นอกจากนี้ ที่นายกฯบอกว่า จะแก้ไขปัญหาวิกฤตประเทศให้ไปได้ จึงขอให้นายกฯประกาศยุบสภา และจัดเลือกตั้งภายใต้รธน.ปี 2550 ได้ ซึ่งถือว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับประโยชน์มากที่สุด

ที่ลำดับความมา ทั้งหมด เพื่อต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลับมาเป็นประชาธิปไตย จะทำให้นายกฯเป็นผู้ยิ่งใหญ่ หากปฏิบัติได้ ผมจึงสรุปว่า ที่พวกผมประเมิน พวกผมไม่ต้องมีข้อขัดแย้ง ที่มาเรียกร้องให้ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ ที่ยุบสภาแล้ว จะทำให้บ้านเมืองกลับสู่ปกติได้อย่างไร ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ไม่ต้องการให้เกิดสงครามกลางเมืองหรือการเข่นฆ่าประชาชน จึงเรียนว่า การเปลี่ยนแปลงด้วยวิถีประชาธิปไตย จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด การอยู่ภายใต้รัฐทหารนั้น ไม่เหมาะสม การเสียสละของนายกฯจะนำประเทศฝ่าวิกฤตไปได้ ถ้าเสียสละและได้รับเลือกตั้งอย่างยิ่งใหญ่ ถ้ายังเป็นนายกฯอยู่ต่อไป อาจจะจบด้วยกันเป็นทรราชได้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : ที่บอกว่า ได้มาเป็นนายกฯโดยมิชอบ ขอตอบประเด็นนี้ก่อน การเลือกนายกฯ ถือว่าเป็นพิเศษกว่าทุกครั้ง และอยู่ในกระบวนการรัฐสภาทั้งสิ้น ขอเรียนให้เข้าใจที่ทุกต้อง ถ้าท่านบอกรธน.โดยมิชอบ จะลงเลือกตั้งทำไม ประเด็นก็คือว่า เมื่อมีกติกา ก็ต้องเล่นตามกติกา กติกาเขาเล่นตามประสบการณ์ในอดีต ป้องกันทุจริต ได้มาโดยมิชอบ วันนี้ อยู่ดีๆ บอกว่า ทำไมในสภามา 2 ปี บอกว่ามันไม่ถูกต้องแต่ต้น มันก็แปลกอยู่

เรื่องรธน. ผมพูดว่า เคยรับปากว่าจะแก้ แต่เรื่องแก้รธน. อาจจะคิดกันคนละเรื่อง ผมรู้สึกว่า บางทีเราเลือกกันตามชอบ ไม่ชอบ เช่นเมื่อรัฐบาลได้มาจากรธน. ก็เป็น 2 มาตรฐานเหมือนกัน มาเรื่อง 2 มาตรฐาน มีการพูดตั้งแต่เมื่อปี 2544-45 สมัยคุณทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) เรื่องปิดบังทรัพย์สินของภรรยา และมีกรณีของคุณประยุทธ มหากิจศิริที่คล้ายคลึงกัน แต่กลับมีการลงโทษคุณประยุทธ ส่วนคุณทักษิณ ถูกตัดสินว่าไม่ผิด เรื่องนี้ละ 2 มาตรฐาน คดีซุกหุ้นทักษิณ ผมคิดว่าเป็น แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เรายอมรับ เราต้องยอมรับกระบวนการของศาล ถ้าวันนี้ เลือกคดีโน้นคดีนี้ยอมรับบ้างไม่ยอมรับบ้าง มันก็ไม่มีข้อยุติ

เวลาพูดเรื่อง 2 มาตรฐาน บางคดีไม่ดำเนินการ บางคดีเร่งรัด คดีไหนยากมันก็นาน คดีจักรภพ (จักรภพ เพ็ญแข) ก็นานแล้ว บางคดีไม่ซับซ้อนก็มีการออกหมายจับแล้ว บางคดีก็เสร็จไปแล้ว คุมขังไปแล้ว ทำในยุคผมทั้งนั้น คดีเดือนเมษายน ล้อมกรอบทุบรถผม ก็ว่ากันไปตามปกติ จะเป็นอย่างไรใช้เวลาเท่าไหร่ รัฐบาลไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย ให้รายงานแต่คดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน แต่ที่หยิบคดีไหนขึ้นมาพูดนั่น มันเป็นเรื่องที่เกินเลยไป

ประเด็นที่ 4 น่าจะไปอภิปรายไม่ไว้วางในรัฐสภา เช่น เรื่องอาฟต้า เป็นเรื่องที่เกิดมานานแล้ว ถึงขณะนี้ ยังเป็นสินค้าที่สงวนอยู่ กู้เงิน การกู้เงินที่เรียกว่ากู้เงินพิเศษ นอกกรอบงบประมาณ 4 แสนล้าน เพราะรัฐบาลเห็นว่า เป็นเงินเร่งด่วน แต่น่าสนใจว่า มันอาจจะต้องกู้ 8 แสนล้าน จึงแบ่งออกเป็น พรก.4แสนล้าน เป็นพรบ. 4 แสนล้าน แต่สมัยทักษิณ กู้พรบ.ฉบับเดียว 7.5 แสนล้านถือว่ามากที่สุด แต่ขณะนี้ รัฐบาลไม่ได้มีปัญหาเรื่องหนี้สิน ต้องเอาความจริงมาพูดกัน ส่วนเรื่องการทุจริต ผมก็พูดมาตลอดว่า เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย ผมเชื่อว่า สมัยผมเป็นนายกฯ ก็ต้องมีทุจริต ที่สำคัญ จะจัดการปัญหาดังกล่าวหรือไม่ ที่รมต.ลาออก ถือเป็นความรับผิดชอบแสดงสปริต แต่เรื่องคดีที่ศาลตัดสินแล้วทำไมไม่หยิบมาพูด ที่ศาลสั่งยึดทรัพย์

กรณีจีที-200 ซื้อครั้งแรก ในสมัยทักษิณ เรื่องนี้ ต้องพูดความจริง ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละเรื่องทุจริตหรือไม่ มีหลักฐานหรือไม่ แต่หลายเรื่องมีการตั้งกรรมการสอบแล้ว ประเด็นเหล่านี้ หยิบยกขึ้นมาแล้วบอกว่า โกงมากมายมันตรงกันข้าม

เรื่องแก้รธน. ผมบอกว่าแก้ได้ และแก้บางประเด็น ผมพูดมาตลอด อย่าไปแก้ประเด็นที่มีความละเอียด และเอาประโยชน์ให้ตัวเอง แก้แล้วไปล้างทุจริตให้คนที่ทำผิด แต่ประเด็นที่เสนอแก้ก็มุ่งไปแต่เรื่องนี้ เรื่องที่รับปากแก้ไขรธน. ว่าไม่เอานะ นิรโทษกรรม ล้างความผิดเพื่อช่วยตัวเอง แต่ก็เปิดช่องไว้บ้าง

เรื่องแก้ไขรธน.จะไปรู้ดีกว่าผมได้อย่างไร ว่าคุยอะไรกับพรรคร่วมบาง เรื่องนี้ก็เชิญวิปทุกฝ่ายมาคุยกันเพื่อเอาไปทำประชามติ ว่าประชาชนต้องการอะไร แต่ปรากฏว่า คนที่ล้มกระบวนการนี้ คือฝ่ายค้านที่ไม่ยอมร่วมดำเนินการด้วย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : เรื่องวาระในการยุบสภา ผมเหลือวาระ 1 ปี 9 เดือน ถามว่าผมอยากเห็นอะไรก่อนเลือกตั้ง มี 3 เรื่อง 1.เศรษฐกิจ 2.กติกา 3.บรรยากาศ เรื่องแรกเศรษฐกิจ อยู่ที่ปฏิทินของกระบวนการงบประมาณ เพราะถ้ายุบสภา ทำให้มีปัญหาในการบริหารประเทศ เรื่องสอง กติกา ถ้าดูจากการประกาศทำประชามติ เรื่องไหนที่จะแก้รธน. ให้สภาดำเนินการ พอทำเสร็จ ทำกฏหมายเป็นกรอบเวลาหนึ่ง เรื่องที่สาม เรื่องการทำบรรยากาศบ้านเมืองให้เป็นปกติ ให้มีการตรวจสอบได้ การชุมนุมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ไม่มีการปิดล้อมไม่มีการข่มขู่ เอา 3-4 ปัจจัยนี้ มาดูกัน น่าจะประมาณสิ้นปี ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร หรือถ้าจะบอกว่า แค่15วันเท่านั้น

นายวีระ มุสิกพงศ์ : เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ เป็นเรื่องความเชื่อ ถ้าจะดีถ้าเชื่อว่าแก้เศรษฐกิจได้ ก็ให้ประชาชนพิสูจน์ด้วยการเลือกตั้ง ส่วนเรื่องกติกา มีปัญหาแน่นอน สภาเป็นที่พึ่งไม่ได้แล้ว รอให้เลือกตั้ง แล้วค่อยมาแก้ไข ส่วนบรรยากาศทางการเมือง เชื่อว่า เราทำได้ เสื้อแดงทำได้

นายวีระ มุสิกพงศ์ : ถ้ากรอบที่นายกฯเสนอมา มันจะยาวไป แต่มีนักวิชาการเสนอมา 3 เดือน ถือว่าเหมาะสม มันไม่ควรจะยาวนานไปถึง 6 เดือน กรอบกติกา ผมว่า 2 เดือนคงจะแก้ไขได้ ถ้ารัฐบาลจริงใจ เพราะถ้าปล่อยสภาคงพึ่งไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่ว่า ท่านต้องเสียสละ ให้สิทธิแก่ประชาชน ขอให้นายกฯเสียสละ ยอมให้มีการเลือกตั้ง ตามกรอบเวลาที่เหมาะสม

นายจตุพร : นายกจะขอเวลาสักกี่เดือน

นายอภิสิทธิ์ : ผมขออธิบายว่าที่พูดถึงปฏิทินเราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจโลกมีผลกระทบมากการฟื้นตัวไม่ค่อยแรง เขาพูดกันได้ว่าที่ฟื้นมาได้เพราะหลายประเทศฟื้น พ.ร.บ.กู้เงินสี่แสนล้านคงไม่ได้กู้ตามนั้น สมัยก่อนงบประมาณเพิ่มทุกปี เวลาเกิดมีปัญหาการเมือง กฎหมายให้ใช้ของเก่าได้ งบเพิ่มทุกปีแต่ยังใช้ของเก่าได้ บังเอิญปีที่ผมเข้ามาเจอวิกฤตเศรษฐกิจงบประมาณขาด 2 แสนล้าน ถ้าตรงนี้มันชะงักอาจจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน เรื่องรัฐธรรมนูญช้าเร็วไม่ได้อยู่ที่สภา วันนี้เราเอาให้ชัดๆเลยว่าประชาชนเป็นคนทำ ทำประชามติไปเลยจะแก้มาตราไหน ซึ่งมันไม่เหมือนกับการเลือกตั้ง กระบวนการประชามติบวกกับการแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา บรรยยากาศบ้านเมืองที่เราสามารถทำเรื่องยากๆกันได้คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำประชามติ เราไม่สามารถแก้กันได้ลอยๆ

กรอบปลายปี สิ้นปี ผมไม่อยากบอกว่าเสียสละ ตามกฎหมายเหลือ 1 ปี 9 เดือน ตอนนี้เฉือนไปเลย 1 ปีเหลือแค่ 9 เดือน เราเพียงแต่บอกว่ามากำหนดเดินไปข้างหน้าไปกำหนดกรอบ ผมย้ำว่านี่คือสิ่งที่รัฐบาลวางลงได้แต่ถ้ายืนยันว่า 15 วัน ไม่ได้

นายจตุพร : ถ้าจะทำเรื่องใดๆก็ตามต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 90 วันถึง 120 วัน หมายความว่าเรื่องนี้เริ่มปฏิบัติใช้เวลา 3 เดือน หรือเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าอายุรัฐบาลคงไม่ทัน เงื่อนไขประเด็นเศรษฐกิจจะมาผูกมัดรวมไม่ได้ว่าเศรษฐกิจหลังจากนี้ท่านจะทำให้ดีขึ้นรวมทั้งบรรยากาศด้วย นับจากนี้ไปอีก 9 เดือนจะดีขึ้นได้อย่างไร มันเป็นการซ้ำซาก เวลานี้เรื่องการท่องเที่ยวการชุมนุมไม่กระเทือน ทั้ง 3 อย่างที่จะลากไปถึงสิ้นปีมันยาวไปถึงปีหน้า

การเรียกร้องให้ท่านเสียสละยังเป็นประเด็นหลัก นายกฯประชาชนยังต้องใช้ชีวิตตามปกติ หมายความว่าการเรียกร้องของเราไปวัดที่ผลการเลือกตั้ง คู่แข่งของท่านจะยอมเสียเปรียบ สิ้นปีคงเป็นเรื่องที่จะรับกันไม่ได้

นายอภิสิทธิ์ : ย้ำอีกครั้งว่าเรื่องเศรษฐกิจดีไม่ดี ผมเพียงแต่บอกว่าตารางปฏิทินงบประมาณถูกกระทบตั้งแต่ตุลาคม เป็นต้นไปมันคงผิดปกติมากๆ เพราะประชาชนส่วนหนึ่งก็กังวลเรื่องนี้ ผมคิดว่าวิธีที่จะทำคือทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน ประเด็นที่จะแก้ค่อนข้างที่จะแน่ชัด มีการเสนอทำร่าง สรุปสาระให้ประชาชนเข้าใจ

นายจตุพร : แค่เขตเลือกตั้งพรรคร่วมกับรัฐบาลก็เห็นต่างกันแล้ว

นายอภิสิทธิ์ : บอกว่าก็อยู่ที่ประชามติ อันนี้จะเป็นกระบวนการที่ดีมากที่จะยอมรับกระบวนการไปออกคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่การตัดสินใจเรื่องการเลือกตั้งผมเอาผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ทุกคนบอกว่าถ้าผมยุบสภาโดยมีการกดดันจากกลุ่มหนึ่งเขาจะไม่เลือกผม แต่ถ้าด้วยเหตุผลอื่นแต่อธิบายได้ว่าได้ฟังคนเสื้อแดงและมีเหตุผลอันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นอันนี้คือสิ่งที่ผมบอกว่าเป็นประโยชน์สูงสุด

นายจตุพร : ความเห็นผม 15 วันกับสิ้นปี เป็นประเด็นที่ตกลงกันไม่ได้

นายอภิสิทธิ์ : จะบอกว่าไม่เชื่อกันก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร สิ่งที่ท่านกลัวว่าจะเบี้ยวกันหรือเปล่า ผมยืนยันว่าผมอยู่ไม่ได้ ไม่มีเหตุผลที่พูดอะไรออกไปแล้วไม่ทำตาม

นายจตุพร : นี่คือสิ่งที่เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า 15 วันกับ 1 ปี

นายชำนิ : บอกว่าไม่ได้ต้องการยืดเวลา แต่ถ้าปัญหาที่หลายฝ่ายมีความกังวลทั้ง 3 ประเด็นที่ดำรงอยู่ บางเรื่องเป็นความเชื่อ เป็นความสามารถ โดยกรอบของกติกา การเสนอ 9 เดือน โดยกระบวนการเราต้องทำประชามติต้องใช้เวลาเท่าไร เพราะกฎหมายบังคับระยะเวลา 9 เดือน ถูกกำหนดโดยกฎเกณฑ์กติกา ถ้าเราผ่านกระบวนการนี้จะนำไปสู่ประเด็นที่ 3 การเลือกตั้ง

นายกอร์ปศักดิ์ : เรามาคุยกันตรงนี้เพราะอยากหาข้อยุติไม่มีใครเชื่อใคร บอกว่าเคารพก็ไม่มีใครเคารพใคร ในเมื่อไม่มีใครเชื่อใคร ทำอย่างไรต้องมาลองกัน ท่านบอกไม่ต้องลองหรอกเพราะท่านบอกว่าไม่เชื่อ ผมบอกว่าภายใน 9 เดือนจะเข้ารูปเข้ารอย ท่านก็ไม่เชื่อ เพราะถ้าเชื่อกันก็ไม่มีวันนี้หรอก ยังไม่ต้องเลือกตั้งเอาเรื่องรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็นกลับไปหาประชาชน ใช้เวลา 120 วันใน 4 เดือน ใครจะผิดกติกา แต่การชุมนุมของท่านก็ต้องเป็นไปตามกติกาที่ศาลปกครองได้กำหนดไว้ 4 เดือนทำเสร็จทุกคนโล่งอก ถ้าเบี้ยวกันมันจบตั้งแต่ 2 เดือนแรก ไปไม่รอด จริงๆแล้วไม่อยากให้ Yes หรือ No ตอนนี้ข้อเสนอชัดแล้ว ข้อเสนอท่าน 15 วัน ของผมสิ้นปี อีก 2 วันมาคุยกัน

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : ถ้าเกิดบอกว่าเราไม่สนใจอะไรก็ 9 เดือนกันไปพิจารณากันได้

จตุพร พรหมพันธุ์ : ความรู้สึกความร้อนแต่ละคนแตกต่างกัน ผมร้อนมาก 15 วัน แต่ท่านร้อนน้อย 9 เดือน ในทางปฏิบัติคำว่า "ซื้อเวลา" เราได้ยินมานานไม่มีอะไรดีขึ้น ทำให้เจ็บช้ำ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : ซื้อเวลาคือไม่ทำอะไร ผมชวนทำหมด ทั้งปัญหาการพูดจามานั่งวางกัน ดังนั้นผมถึงบอกว่าถ้าพูดสิ่งเหล่านี้ทำให้มองเห็นว่าการยุบสภา 15 วันปัญหาก็ไม่หยุด ฉะนั้น ผมคิดว่าตอนนี้อยู่ที่ท่านว่าจะสนใจการพิจารณาก็กลับมาคุยกัน

วีระ มุสิกพงศ์ : เรื่องบ้านเมืองไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ดังนั้นเราต้องพูดจากัน ถ้าตันช่วงนี้ มะรืนนี้ (31 มี.ค.)ก็ได้มาคุยกันอีก

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : ระหว่างนี้ที่เราพูดกันหลายเรื่องขอให้กางออกมาทำแผนร่วมกัน รัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร เรื่องคดีความจะทำอย่างไร ผมจะไปบาห์เรนพรุ่งนี้เช้า (30 มี.ค.) วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายนก็ยินดีคุยต่อ ระหว่างนี้ช่วยรักษาบรรยากาศทั้งสองฝ่าย

จตุพร พรหมพันธุ์ : เราต้องยุติกันก่อนตอนนี้ อย่าเพิ่งให้นับกันเลย ขอให้จบลงตรงนี้ เพราะว่าเจรจาสองฝ่ายไม่บรรลุผล จากนี้เป็นเรื่องอนาคต

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : อันนั้นคือตัดสินใจของท่าน (นายจตุพร) เพราะเราต้องรับผิดชอบ 60 ล้านคน หากผมตัดสินใจผมก็ต้องรับผิดชอบคนเสื้อแดงด้วย และท่านต้องรับผิดชอบคนที่ไม่ใช่เสื้อแดงด้วย ฉะนั้นที่พี่วีระเสนอดีแล้ว แต่ข้อเสนอของคุณจตุพรไม่ตอบสนอง ดังนั้นค่อยนัดหมายมาอีกครั้งแล้วค่อยให้คำตอบอีกได้

จตุพร พรหมพันธุ์ : ถ้าพวกเรามาพบกันต้องเปิดเผยไปมุบมิบพบกันไม่ได้ การเจรจาสองวันต่างคนต่างมีข้อเสนอยังไม่บรรลุ ส่วนวันข้างหน้าว่ากันอีกที ผมขอ 15 วันท่านปฏิเสธ ท่านเสนอ 9 เดือน ผมปฏิเสธ ประเด็นขอให้จบลงวันนี้ก็จบข้อเสนอสองฝ่ายไม่ตอบรับกัน ผมต้องไปถามประชาชนว่าจะเอาอย่างไรต่อ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : เอาเป็นว่าฝ่ายผมยินดีจะนัดหมายต่อไม่มีปัญหา


ที่มา.มติชนออนไลน์
****************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น