
นปช.ล่าชื่อถอดองค์คณะผู้พิพากษาคดียึดทรัพย์ทั้ง 9 คน ละเมิดรธน.ฉีกทิ้งคำวินิจฉัยศาลรธน.
แต่ไปยึดคำสั่งคณะปฏิวัติ ศาลเตือนลงชื่อมั่วเจอฟ้องกลับ หากไม่พบพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหา
ป.ป.ช.ปวดหัวแดงยื่นสอบศาล อ้าง "วัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก"
"จิ๋ว"อ้างรธน.ยื่นถอดได้
"ชวลิต"อ้างรธน.หนุนแดงยื่นถอดผู้พิพากษายึดทรัพย์"ทักษิณ"
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีคนเสื้อแดงจะเข้าชื่อเพื่อยื่นถอดถอนองค์คณะผู้พิพากษา
คดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 ว่า ยังไม่ทราบ แต่เมื่อกลไกตามรัฐธรรมนูญตามตัวบท
กฎหมาย ก็ทำได้อยู่แล้ว
นปช.ล่าชื่อถอดองค์คณะ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย (พท.) และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ
คนเสื้อแดง กล่าวเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ว่า
ภายในสัปดาห์นี้ จะมีกระบวนจากภาคประชาชนแสดงตนถอดถอนองค์คณะผู้พิพากษาคดียึดทรัพย์ทั้ง 9 คน ซึ่งตนจะร่วมลงชื่อถอดถอน
ร่วมกับประชาชนอีกกว่า 20,000 คนด้วย โดยเหตุผลการถอดถอนมาจากกรณีที่องค์คณะผู้พิพากษากระทำการละเมิดรัฐธรรมนูญ
มาตรา 216 วรรค 5 ที่ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ
แต่องค์คณะไม่ยอมยึด พ.ร.ก.แปลงภาษีสรรพสามิต ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญถึง 2 ครั้ง
มาพิจารณา แต่กลับไปพิจารณากฎหมายที่มาจากคณะปฏิวัติ
"เรามีบทเรียนจากการยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว ดังนั้น ครั้งนี้เราจะยื่นรายชื่อประชาชนเพียง
2 หมื่นเศษๆ เท่านั้น ส่วนรายชื่อที่คาดว่าจะมีเป็นแสนเป็นล้านนั้นจะเพิ่มเติมไปภายหลัง เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีคนไทยจำนวนเท่าไหร่
ที่ไม่พอใจการทำหน้าที่องค์คณะผู้พิพากษา" นายจตุพร กล่าว
นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ที่จะมีประชาชนเข้าชื่อยื่นถอดถอนองค์คณะผู้พิพากษานั้น
เป็นเรื่องของภาคประชาชน พ.ต.ท.ทักษิณ คงไม่ใช่คนเข้าไปสั่งการ
ศาลเตือนลงชื่อมั่วเจอฟ้องกลับ
นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำเสื้อแดง จะรวบรวมรายชื่อยื่นถอดถอน
ผู้พิพากษาคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า
แม้จะเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่การจะถอดถอนก็ต้องแจ้งข้อกล่าวหาที่ชัดเจนตามหลักเกณฑ์ที่เป็นเงื่อนไขการยื่นถอดถอน
ไม่ใช่เพียงแค่การคัดลอกคำหรือข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญมากล่าวอ้าง แต่ต้องมีข้อกล่าวหาชัดเจนว่าการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาองค์คณะ
นั้นผิดอย่างไร มีหลักฐานอะไร ลำพังแค่การลงชื่อครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ทำให้ถอดถอนได้
ถ้าไม่มีข้อกล่าวหาที่ชี้ให้เห็นพฤติการณ์กระทำผิดต่อตำแหน่งที่ชัดเจน
นายวิรัชกล่าวว่า อยากเตือนผู้จะลงชื่อว่า ต้องดูให้ดีก่อนว่ามีข้อกล่าวหาชัดเจนหรือไม่ เพราะหากลงชื่อแล้วถ้ากระบวนการตรวจสอบ
พบว่าผู้พิพากษาไม่มีพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหา แล้วจะอ้างว่าตอนลงชื่อไม่รู้ไม่ได้ การใช้สิทธิใดๆ ตามรัฐธรรมนูญก็ต้องมีหน้าที่และ
ความรับผิดชอบตามมาด้วย โดยตนในฐานะที่เป็นเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมจะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินการ
หากมีการลงชื่อถอดถอนและสุดท้ายพบว่าไม่มีการกระทำตามที่กล่าวหา
"ผู้พิพากษาไม่ได้หวั่นไหวว่าจะมีการยื่นถอดถอน ไม่ว่าจะมีสองหมื่นหรือล้านชื่อ แต่ถ้าลงชื่อแล้วไม่มีการกล่าวหาถึงพฤติการณ์
ที่ชัดเจนจะยื่นถอดถอน หรือตรวจสอบแล้วไม่พบการกระทำตามข้อกล่าวหา อาจถูกฟ้องดำเนินคดีได้โดยคนที่ลงชื่อจะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้"
นายวิรัช กล่าว
"พท." ดันกม.ให้ส.ส.ตรวจสอบศาล
นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า พรรค พท.นำคำวินิจฉัยมาวิเคราะห์
เห็นว่ามีจุดที่น่าพิจารณา 3 จุด คือ
1.การนำกฎหมายที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน คือ ประกาศคณะปฏิวัติ มาใช้เป็นหลักในการพิจารณาคดี ในฐานะพรรคการเมือง
ควรเสนอให้ทบทวน อะไรที่จำเป็นต้องยกเลิกก็ต้องเสนอเป็นกฎหมายให้ยกเลิก เพราะประกาศคณะปฏิวัติถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย
2.การตรวจสอบการใช้ดุลพินิจและการทำหน้าที่ขององค์คณะ ก่อนหน้านี้ ส.ส.ไม่สามารถยื่นกระทู้ต่อสภา เพื่อสอบถามการทำงาน
ของศาลได้ แต่เมื่อเกิดกรณี ป.ป.ช.ใช้อำนาจตรวจสอบศาล ก็เป็นช่องทางที่อาจจะเสนอเป็นกฎหมายให้อำนาจ ส.ส.ตรวจสอบศาลได้ และ
3.การที่ศาลระบุว่าตราสารหนี้ที่ใช้เป็นการสากล และถือว่าถูกต้องใช้ได้กลับถูกระบุว่ามีความเคลือบแคลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ
ความน่าเชื่อถือในต่างประเทศ จึงควรพิจารณาทบทวน โดยฝ่ายกฎหมายจะเสนอต่อที่ประชุมพรรคเพื่อให้เสนอเป็นกฎหมายต่อสภาต่อไป
ป.ป.ช.ปวดหัวแดงยื่นสอบศาล
น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงจะยื่นขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบองค์คณะ 9 คน
ที่พิจารณาคดียึดทรัพย์ว่า
คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะ ป.ป.ช.ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกันกับผู้พิพากษาบางส่วน กรณีตั้งอนุกรรมการไต่สวนผู้พิพากษา
ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ถูกกล่าวหาออกหมายจับอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มิชอบอยู่
เหมือนกับความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรกอีก
"อย่างไรก็ตาม กฎหมาย ป.ป.ช.และรัฐธรรมนูญก็เขียนเอาไว้ว่า ป.ป.ช.สามารถไต่สวนความผิดทางอาญากับผู้พิพากษาได้ ที่ผ่านมา
ก็เคยไต่สวนอดีตผู้อาวุโสในศาลฎีกาคนหนึ่งมาแล้ว ส่วนการนัดพบนายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
เพื่อทำความเข้าใจนั้น ทางประธานศาลฎีกายังไม่ได้นัดหมายวันกลับมา โดยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. ยืนยันว่า
ต้องหาโอกาสพบเพื่อทำความเข้าใจให้ได้ " น.ส.สมลักษณ์ กล่าว
ที่มา:konthaiuk
****************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น