--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

“ ดร. สุรพล ” โดนวิจารณ์น่วม !!! ความคงเส้นคงวา แบบ ท่านอธิการบดี


ไม่น่าเชื่อว่า การไป อภิปราย เรื่อง “แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย” ที่มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 ของ ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะ กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ที่กว้างขวางและร้อนแรงที่สุด ในแวดวงวิชาการ ....

กระฉ่อนและแรงที่สุด คือ บทวิพากษ์แบบโหด ๆ และดิบๆ ของนาย พุฒิพงศ์ พงศ์อเนกกุล นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง บทวิพากษ์ของ นักศึกษากฎหมาย ปี 2 เป็นหัวข้อที่มีคนอ่านมากที่สุด ชิ้นหนึ่ง

ถัดมา นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย ก็เขียนบทความเรื่อง วิพากษ์การบิดเบือนทางความคิดและทุจริตทางวาจา ของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ล่าสุด นาย อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความลงในประชาชาติธุรกิจ เรื่อง บทอาเศียรวาทแด่ ศ. ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยจริยธรรมของนักวิชาการ


คนที่อ่าน บทวิพากษ์ ดร. สุรพล มาทั้ง 3 เวอร์ชั่น บอกว่า ดีไปกันคนละแบบ

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอ บทวิพากษ์ ของ อภิชาติ สถิตรนิรมัย ที่เราเชื่อว่า หลายคน ยังไม่เคยได้อ่าน บทวิพากษ์ที่นุ่มนวลในท่าที แต่หนักหน่วง ในเชิงจริยธรรม

......ผมอ่านบทอภิปรายของท่านอาจารย์สุรพลในหัวข้อ “แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย” ที่มหาวิทยาลัยรังสิตเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 แล้วยินดียิ่งที่พบว่า เรามีความเห็นตรงกันในเรื่องเกี่ยวกับคุณลักษณะที่สำคัญของความเป็นนักวิชาการนั้นคือความคงเส้นคงวา (consistency)

อาจารย์คงยอมรับอย่างสุดจิตสุดใจว่า หากนักวิชาการคนใดปราศจากคุณสมบัติข้อนี้แล้ว ย่อมไม่สามารถนับได้ว่าเขาคนนั้นๆ เป็นนักวิชาการได้อีกต่อไป

คุณสมบัติข้อนี้สำคัญมาก จนกระทั่งอาจเทียบได้ว่ามันคือพรหมจรรยาของความเป็นนักวิชาการ ดุจเดียวกับการละเว้นการเสพเมถุนของนักบวช

ดังนั้น การขาดซึ่งพรหมจรรย์แห่งความคงเส้นคงวาของนักวิชาการแล้ว ก็ย่อมเปรียบเสมือนนักบวชทุศีล

ความยึดมั่นในคุณธรรมว่าด้วยความคงเส้นคงวาของท่านปรากฎอย่างชัดแจ้งในบทอภิปรายข้างต้น เมื่อท่านกล่าวย้อนผู้กล่าวหาว่า ความเป็นไปทางการเมืองในปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยความไม่คงเส้นคงวา (สองมาตรฐาน)

ท่านกล่าวว่า “คราวนี้มาถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ พูดกันมาก ว่าประเทศประชาธิปไตย ไม่ยอมรัฐประหาร ผมถามว่าคนที่บอกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มาจากการทำรัฐประหาร ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แล้วรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้มาจาก คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่มีการปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2534 ”

“ผมถามท่านที่บอกว่า มีความคิดเป็นประชาธิปไตย ไม่ยอมรับอำนาจทหาร ที่มาจากการทำรัฐประหาร ถ้าไม่ยอมรับรัฐประหาร ผมถามว่าเราจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475 หรือไม่ นั้นไปเอาพระราชอำนาจมาจากองค์พระประมุขของประเทศมาเลยนะ”

รวมทั้งอภิปรายต่อว่า “ในเรื่องการชุมนุมทางการเมืองก็เช่นกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องปิดสนามบิน หรือปิดถนนในกรุงเทพฯ อัยการไม่มีทางสั่งเป็นอย่างอื่นได้ คืออัยการต้องสั่งฟ้องทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง แล้วให้คนเหล่านั้นไปต่อสู้คดีกันในศาล ซึ่งผมว่าเป็นทางเดียวเท่านั้น ดังนั้น เรื่องนี้ก็ไม่มีสองมาตรฐานขึ้นอยู่กับว่าอัยการจะสั่งฟ้องช้าหรือเร็วเท่านั้น”

ความยึดมั่นในคุณธรรมข้อนี้ของท่านอธิการบดีคนปัจจุบันของธรรมศาสตร์นั้น ปรากฏมาช้านานแล้ว

ดังเช่นที่ท่านเคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือสารคดีเมื่อเดือนกุมภาพัน พ.ศ. 2548

ท่านวิจารณ์ความไม่คงเส้นคงวาในการใช้กฎหมายของรัฐบาลทักษิณไว้ว่า “ถ้าเราเชื่อในเรื่องอำนาจ แล้วใช้อำนาจนั้นไปทำลายกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย กฎเกณฑ์ทางสังคม สุดท้าย เมื่อเราเองไม่เคารพกฎเกณฑ์ทางกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ทางสังคมแล้ว เราจะเรียกร้องให้คนอื่นเคารพก็ไม่ได้... เมื่อไหร่ก็ตามที่คนที่มีอำนาจละเลยกฎหมาย หรือทำลายกฎหมาย สุดท้ายกติกาในการเข้าสู่อำนาจ กติกาในการที่จะต้องได้รับการยอมรับ หรือจะต้องได้รับการเคารพจากองค์กรอื่น ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นกติกาที่เกิดขึ้นตามกฎหมายทั้งนั้น มันก็ไม่มีความหมาย ถ้าคนที่มีอำนาจขึ้นมาโดยอาศัยกฎหมายกลับทำลายกฎหมายเสียเอง พื้นฐานของการเข้ามาสู่อำนาจซึ่งมันอาศัยกฎหมายเหล่านั้นก็ไม่มีอยู่อีกต่อ ไป ฉะนั้นถ้าคนมีอำนาจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเสียแล้ว จะไปเรียกร้องให้คนอื่นยอมรับอำนาจของตัวเอง ซึ่งล้วนแล้วแต่มาจากตัวบทกฎหมายทั้งนั้น ก็ย่อมจะไม่มีใครฟัง”

ความยึดมั่นในความคงเส้นคงวาของท่านอาจารย์นั้นยั่งลึกยิ่ง จนกระทั่งอาจารย์กล้าที่จะท้าทายอำนาจของรัฐบาลทักษิณอย่างไม่เกรงกลัว ดังคำกล่าวเมื่อถูกถามว่า “อาจารย์ถูกรัฐบาลกล่าวหาว่าเป็นพวกขาประจำที่ชอบออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รู้สึกว่าเป็นปัญหาต่อการทำงานหรือไม่”

ท่านอาจารย์จึงตอบว่า “ผม คิดว่าผมได้ทำหน้าที่ของผมอย่างคงเส้นคงวา การแสดงความเห็นหรือมุมมองที่แตกต่างจากรัฐบาล เป็นเรื่องปรกติของนักวิชาการ แต่ผมไม่ได้ทำอย่างนี้กับรัฐบาลชุดนี้เท่านั้น ผมทำอย่างนี้มาทุกรัฐบาล เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมรู้สึกว่าหลักการสำคัญทางกฎหมายถูกกระทบกระเทือน รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย แนวคิดเรื่องนิติรัฐถูกกระทบ หรือสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกละเลย ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ที่จะบอกกล่าวกับสังคม เพราะนี่เป็นเรื่องที่อยู่ในความเชี่ยวชาญของผม และผมเชื่อว่าสังคมก็คงคาดหวังด้วยว่า คนที่ได้เงินของรัฐบาลไปเรียนหนังสือในต่างประเทศเป็นเวลานาน ๆ และอยู่ในฐานะนักวิชาการในมหาวิทยาลัย น่าจะต้องทำหน้าที่อย่างนี้ ที่สำคัญคือผมทำอย่างนี้มาตลอดกับทุกรัฐบาล”

นอกจากคุณธรรมข้างต้นแล้ว ท่านอาจารย์สุรพลยังยึดมั่นในความพอเพียงและภาคภูมิใจกับชาติกำเนิดแบบสามัญชนของท่าน รวมทั้งตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะเป็นอาจารย์ ทั้งๆ ที่เป็นอาชีพซึ่งมีรายได้ต่ำ

ดังบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ “ทำไมถึงมาเป็นอาจารย์แทนที่จะเป็นอัยการหรือผู้พิพากษาตามความตั้งใจเดิม
ตอนแรกมีความคิดว่าอยากเป็นอัยการ ผู้พิพากษา หรือทนายความ แต่ถึงตอนปี ๓ ปี ๔ เริ่มโตขึ้น มองเห็นว่าชีวิตคืออะไรมากขึ้น ความเป็นเด็กต่างจังหวัด ลูกคนชั้นกลาง ทำให้คิดอะไรหลายอย่าง โตขึ้นเราจะต้องสร้างฐานะ มีครอบครัว แล้วถ้าเป็นผู้พิพากษา อัยการ อาจจะทำให้เรามีโอกาสที่จะใช้อำนาจหน้าที่หรือการทำงานเป็นประโยชน์เพื่อจะ ไปสู่ตรงนี้ได้มาก มีช่องทางที่จะทุจริตได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละคน มองตัวเองว่า โดยเงื่อนไขที่เราก็มาจากครอบครัวคนชั้นกลางที่ไม่ค่อยมีอะไร ดังนั้นเราไม่ควรจะไปทำอาชีพมีอำนาจและที่มีโอกาสที่จะใช้อำนาจโดยมิชอบ ถ้าเราควบคุมตัวเองไม่ได้ จะทำให้วงการเขาเสียเปล่า ๆ ก็เลยคิดว่าอาจารย์สอนกฎหมายเป็นอาชีพที่ให้คุณให้โทษใครไม่ได้ ไม่มีโอกาสที่จะไปคิดว่าจะเรียกเงินใครเท่าไหร่ จะรับสินบนอย่างไร ผมก็คิดว่าถ้าเราทำวิชาชีพนี้ได้ดี มีความสุขที่จะเป็นนักวิชาการ ได้ไปเรียนเมืองนอกแล้วกลับมาสอนหนังสือ เราน่าจะเปลี่ยนใจมาตั้งเป้าเป็นอาจารย์นิติศาสตร์”

ความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะเป็นอาจารย์นั้นก็มิใช่เพื่อความมุ่งหมายอื่นใดนอกจากเพื่อการอบรมสั่งสอนให้ลูกศิษย์ยึดมั่นในคุณธรรมและความเป็นธรรมศาสตร์

ดังที่ท่านกล่าวว่า “ในแง่คุณธรรม ผมเชื่อว่าบัณฑิตธรรมศาสตร์ได้รับการยอมรับในแง่นี้มายาวนาน เรามีอะไรบางอย่างที่คนธรรมศาสตร์เรียกกันว่าเป็นจิตสำนึก หรือจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ ถามว่าคืออะไร หาคนอธิบายได้ยาก แต่ผมคิดของผมว่า เวลาเราพูดถึงจิตวิญณาณของธรรมศาสตร์ มันมีความหมายร่วมกันอยู่บางอย่างคือคนธรรมศาสตร์ไม่ค่อยเห็นแก่ตัว คิดถึงคนอื่นด้วย ประการที่ ๒ คือคนธรรมศาสตร์รักความเป็นธรรม กล้าที่จะบอกว่าอันนี้ไม่ถูก กล้าที่จะแสดงออก หมายความว่าคนธรรมศาสตร์จะอยู่ข้างเดียวกับคนที่ด้อยโอกาสหรือคนที่เสีย เปรียบในสังคม นี่เป็นลักษณะเฉพาะของคนธรรมศาสตร์ซึ่งสำคัญ ผมอยากให้บัณฑิตธรรมศาสตร์ในอนาคตมีลักษณะอย่างนี้ชัดเจน”

นอกจากนี้ท่านยังเป็นคนที่ไม่เสพติดในอำนาจ ดังเห็นได้จากการที่ท่านเปิดเผยถึงแนวคิดเบื้องหลังการรับตำแหน่งอธิการบดี “ในปีสุดท้ายที่ผมเป็นคณบดี ผมพบว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีปัญหาเยอะมากที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ผู้ใหญ่หลายคนที่เคารพบอกว่าผมน่าจะเสนอตัวมาทำงานให้แก่มหาวิทยาลัย ผมก็คิดอยู่นาน เพราะรู้ว่าการเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์เป็นเรื่องใหญ่ ตอนแรกผมเองก็คิดว่าตัวเองน่าจะมีชีวิตที่ลงตัวพอสมควร ตั้งใจว่าพอลงจากการเป็นคณบดี ก็จะเป็นศาสตราจารย์ประจำธรรมดา ๆ ที่จะไปรับงานวิจัย สอนหนังสือ เขียนอะไรต่ออะไร ผมว่าเป็นความรู้สึกของอาจารย์ทุกคนที่อยากจะไปเขียนงานวิชาการมากกว่า แต่ว่าสุดท้าย วิธีคิดของผมคือ เมื่อผมประเมินสถานการณ์ว่าธรรมศาสตร์ต้องการความเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ผมก็สรุปกับตัวเองว่า ผมคิดว่าอาจจะถึงเวลาที่จะต้องเสนอตัวมาเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ เพื่อที่จะทำอะไรให้แก่ธรรมศาสตร์บ้าง”

อาจารย์ครับ ผมภูมิใจมากที่เผอิญเป็นหนึ่งในสมาชิกประชาคมธรรมศาสตร์ภายใต้การนำของท่าน แต่เสียดายยิ่งนักที่วาระการดำรงตำแหน่งของท่านจะสิ้นสุดในไม่นานนี้ ผมคงไม่เหนี่ยวรั้งเรียกร้องให้ท่านดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่สาม

ด้วยเหตุว่าท่านประกาศอย่างชัดแจ้งว่าปรารถนาจะดำรงวิถีแห่งความเป็น “ศาสตราจารย์ประจำธรรดาๆ" ดังนั้น ผมจึงเชื่อแน่ว่าภายหลังจากรับภาระเป็นผู้นำของธรรมศาสตร์มานาน ท่านย่อมมีจิตใจเข้มแข็งที่จะกล้าปฏิเสธงานภายนอกมหาวิทยาลัยทุกตำแหน่ง ไม่ว่าปัญหาของหน่วยงานนั้นๆ จะหนักหน่วง และเรียกร้องต้องการบุคลลากรที่อุดมความรู้ ความสามารถ และคุณธรรมสูงเยี่ยงท่านเพียงไรก็ตาม

อีกทั้งการปฏิเสธงานภายนอกของท่านยังจะเป็นการกระทำเป็นตัวอย่างอันน่าสรรเสริญสำหรับผู้ที่จะมาเป็นอธิการบดีคนต่อไปในอนาคตอันใกล้ว่า

ผู้นำธรรมศาสตร์นั้นไม่ได้มีแรงจูงใจที่จะใช้ตำแหน่งนี้เป็นบันไดดาราสำหรับการไต่เต้า เพื่อแสวงหาอำนาจและสิ่งตอบแทนอื่นจากหน่วยงานภายนอกภายหลังจากการเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์

ดังเช่นมีการกล่าวหาเช่นนี้กับอธิการบดีท่านก่อนๆ

ผมได้แต่จินตนาการว่า สักวันหนึ่งผมจะมีโอกาสเขียนบทอาเศรียรวาทข้างต้นจริงๆ


ที่มา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น