--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เฉพาะกิจนับถอยหลังวันพิพากษา

ยึด7.6หมื่นล้าน

ส่งท้ายคอลัมน์ “เฉพาะกิจนับถอยหลังวันพิพากษา ยึด 7.6 หมื่นล้าน” ด้วยปมสำคัญที่จะนำไปสู่การยกหรือยึด ทรัพย์ “อดีตนายกฯ ทักษิณ” และ “คุณหญิงพจมาน” ในส่วนข้อสนับสนุนที่ฝ่ายถูกกล่าวหา แย้ง คตส.ว่าไม่ใช่ผู้ถือหุ้น ชินคอร์ป

เริ่มจากมิติแรกในกรณีที่ คตส. มีคำสั่งให้กรมสรรพากร ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้จากการซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ ของนาย พานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา จากบริษัทแอมเพิลริชฯ โดยระบุว่า เป็นการซื้อในฐานะกรรมการบริษัท จึงมีผลตามกฎหมายอย่างชัดแจ้งว่า คตส. ยอมรับว่า หุ้นชินคอร์ปฯ เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลทั้งสองจนก่อให้เกิดภาระภาษีจากการได้ กรรมสิทธิ์ในหุ้นนั้นมา เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้แล้ว หุ้นจำนวน เดียวกันนั้น จึงไม่อาจถูกกล่าวอ้างว่ายังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาในเวลาเดียวกันนั้นได้อีก

มุมมองถัดมา คือหลังจาก “อดีตนายกฯ ทักษิณ” และ “คุณหญิงพจมาน” ได้ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้แก่ผู้รับโอนไปแล้ว ไม่ปรากฏว่า ทั้งคู่เข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัท ชินคอร์ปฯ ตั้งแต่โอนหุ้นให้บุคคลดังกล่าวไปแล้ว โดยผู้รับโอนหุ้นเป็นผู้เข้าประชุมผู้ถือหุ้น และมีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้ถือ หุ้นรายใหญ่ของบริษัท และเป็นผู้ได้รับเงินปันผล โดยไม่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

อีกมิติที่น่าสนใจคือ ไม่มีการนำเงินที่ได้จากการขายหุ้น ให้แก่กองทุนเทมาเส็คมามอบให้แก่ “อดีตนายกฯ ทักษิณ” และ “คุณหญิงพจมาน” คงมีการนำมาชำระเฉพาะเงินค่าหุ้นที่ซื้อไป รวมแล้วเป็นเงินเพียงประมาณ 5,000 ล้านบาทเท่านั้น หลังจากชำระเงินดังกล่าวเสร็จในต้นปี 2549 เงินที่เหลืออีกเกือบ 70,000 ล้านบาท ก็ยังคงฝากไว้ในบัญชีเงินฝากของผู้ที่เป็นเจ้าของหุ้นมาเป็นเวลากว่าปีก่อนที่จะถูกอายัด

นอกจากนี้ หากว่ามีการถือหุ้นแทนกันจริง เมื่อนายพานทองแท้ ถือหุ้นที่ซื้อจาก “อดีตนายกฯ ทักษิณ” และ “คุณหญิงพจมาน” ไว้แล้ว ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องมาขายให้นางสาวพิณทองทา เป็นผู้ถือหุ้น ต่อไป โดยเฉพาะนางสาวพิณทองทา ก็ ซื้อหุ้นจากพี่ชายถึง 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ ประมาณ 1 ปี คือในปี พ.ศ.2545 และ 2546 เพราะหากเป็นการถือหุ้นแทนจริงก็ไม่ต้องโอนต่อให้แก่คนในครอบครัวเดียว กันอย่างเปิดเผย

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 2,000,000 หุ้นนั้น ถ้าการซื้อขาย หุ้นระหว่างผู้ถูกกล่าวหากับบุคคลในครอบครัวเป็นการโอนให้ถือหุ้นแทนก็ไม่จำเป็นต้องแบ่งมาให้นางสาวยิ่งลักษณ์ถือหุ้นแทน เพียง 2,000,000 หุ้น เพราะสามารถโอน หุ้นจำนวน 2,000,000 หุ้น ให้นายพานทองแท้ ซึ่งรับโอนหุ้นไปเป็นจำนวนถึง 30,900,000 หุ้น ถือแทนได้อยู่แล้ว

โดยเนื้อหาในตอนท้าย “อดีตนายกฯ ทักษิณ” และ “คุณหญิงพจมาน” พยายามชี้ให้เห็นว่า ข้อกล่าวหาของ คตส. ไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ถึงการถือหุ้นแทน อีกทั้งฝ่ายผู้ร้องเองก็ไม่มีพยานบุคคลที่สามารถนำสืบหักล้างพยานเอกสารทางทะเบียนของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านว่าไม่มีการขายหุ้นกันจริง ข้อเท็จจริง ในการไต่สวนทั้งหมดของ คตส. จึงเป็นเพียงการสันนิษฐาน คาดเดา โดยปราศจาก หลักฐาน

ในเมื่อปมการซุกหุ้นคือประเด็นใหญ่ ที่จะนำไปสู่การยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านของ “อดีตนายกฯ ทักษิณ” และ “คุณหญิงพจมาน” จึงต้องติดตามกันดูว่าในท้ายที่สุด แล้ว ศาลสถิตยุติธรรมจะเห็นเช่นเดียวกัน ผู้ถูกกล่าวหาหรือให้น้ำหนักไปทางคำร้องของ คตส.

26 ก.พ.นี้ ย่อมได้ข้อยุติ และเมื่อศาลมีพิพากษาออกมาแล้ว ทุกฝ่ายในสังคม ควรให้ความเคารพ เพื่อนำพาประเทศไทย ก้าวพ้นห้วงแห่งความขัดแย้ง เพราะถือว่า คำสั่งศาลเป็นที่สุดแล้ว

ที่มา http://www.siamturakij.com/home/news/display_news.php?news_id=413343317

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น