--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

อธิบดีศาลแพ่งธนบุรีสอนมวย"ป.ป.ช."!! เตือนระวังจะตกเป็น "ผู้ต้องหา" ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

"อธิบดีศาลแพ่งธนบุรี" ยันผู้พิพากษาออกหมายจับ "สุนัย" ถูกต้อง สอนมวย "ป.ป.ช." มีอำนาจตามกฎหมายประกอบ รธน. แต่ศาลมีอำนาจอธิปไตย เตือนให้ระวังจะตกเป็นผู้ต้องหาฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบนัดถก"ก.ต."15 ก.พ.

ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งอนุกรรมการสอบสวน พ.ต.ท.ณรงค์ฤทธิ วาพันสุ รอง ผกก.สส.สภ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พ.ต.อ.ธาตรี ตั้งโสภณ รอง ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา และนายอิทธิพล โสขุมา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) กล่าวหากระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม กรณีร่วมกันขอและอนุญาตให้ออกหมายจับนายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยฝ่าฝืนกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ต้องหา ต่อมาวันที่ 7 มกราคม นายอิทธิพลยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ขอแนวทางปฏิบัติในกรณีที่ได้รับหมายเรียกไปให้ถ้อยคำที่สำนักงาน ป.ป.ช. กระทั่ง ก.ต.มีหนังสือตอบกลับระบุว่ามีสิทธิชี้แจงเป็นหนังสือต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. และขอไปให้การในชั้นศาลได้ รวมทั้งสำนักงานศาลยุติธรรมทำหนังสือแจ้งไปยัง ป.ป.ช.ว่า ก.ต.พิจารณาเห็นว่าผู้พิพากษามีดุลพินิจอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยไม่อาจแทรกแซงหรือก้าวล่วงจากหน่วยงานหรือบุคคล รวมทั้งการใช้ดุลพินิจในการออกหมายจับหากคู่ความไม่เห็นพ้องย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกาได้

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งธนบุรี ให้สัมภาษณ์กรณีดังกล่าวว่า ทาง ป.ป.ช.ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ซึ่งให้ความหมายคำว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐŽ และมาตรา 97 เกี่ยวกับการดำเนินการความผิดทางอาญา เห็นว่าการใช้อำนาจของ ป.ป.ช.เป็นการขัดกันระหว่างผู้ใช้อำนาจอธิปไตยกับองค์กรอิสระ

นายศรีอัมพรกล่าวว่า กรณีกล่าวหานายอิทธิพล ออกหมายจับโดยมิชอบร่วมกับพนักงานสอบสวน ต่อ ป.ป.ช.นั้น พอเกิดเรื่องขึ้นนายอิทธิพลยื่นคำร้องเข้าก.ต. ซึ่ง ก.ต.นำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อศึกษาถึง 2 ครั้ง และไม่ได้ลอยแพผู้พิพากษา ที่ประชุมสรุปว่านายอิทธิพลทำหน้าที่ในฐานะศาล รับรองโดยมาตรา 197 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่าการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายและในปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม ถามว่านายอิทธิพลทำหน้าที่ตามมาตรา 197 ซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองแล้วในการออกหมายจับ ในการขอหมายจับ 2 ครั้งแรก ศาลไม่ให้ออกหมายจับและประชุมก่อน จนการขอหมายจับครั้งที่ 3 มีการประชุมหารือแล้วเห็นว่านายสุนัยไม่ได้มาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก 2 ครั้ง ปรึกษาผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 1 เห็นว่าต้องเป็นไปตามหลักกฎหมาย ตรงไปตรงมา แม้ว่านายสุนัยจะเคยเป็นผู้พิพากษาระดับสูงมาก่อน ซึ่งผู้พิพากษาเมื่อถูกกล่าวหาในคดีอาญา มีหมายเรียกต้องไปพบพนักงานสอบสวน ถ้าไม่มาจริงๆ ต้องออกหมายจับ

นายศรีอัมพรกล่าวว่า เมื่อผู้พิพากษาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 197 ถามว่า ป.ป.ช.มีอำนาจสอบ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 97 หรือไม่ กรณีนี้เป็นเรื่องลำดับศักดิ์ของกฎหมาย ซึ่ง ป.ป.ช.ใช้อำนาจสอบตาม มาตรา 97 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ส่วนศาลทำงานตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ และรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ดังนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ จึงเป็นลำดับศักดิ์ที่ต่ำกว่า ป.ป.ช.จึงไม่มีอำนาจสอบ ถามว่าถ้า ป.ป.ช.อ้างว่าเข้าใจโดยสุจริตนั้น ในทางกฎหมายอ้างไม่ได้ และ ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระ ใช้อำนาจรัฐ ตามกฎหมายต้องรู้ จะบอกว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ เพราะแม้แต่ประชาชนทั่วไปจะอ้างว่าไม่เข้าใจกฎหมายยังไม่ได้ ตรงนี้จะทำให้เกิดเรื่องใหญ่ คือ ป.ป.ช.ใช้อำนาจละเมิดรัฐธรรมนูญเสียเอง สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นผู้ต้องหา กรณีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

นายศรีอัมพรกล่าวว่า เห็นว่าการใช้อำนาจของ ป.ป.ช.ตรงนี้จะเป็นการละเมิดผู้ใช้อำนาจอธิปไตย เพราะผู้พิพากษาใช้อำนาจตุลาการ ยกตัวอย่าง ส.ส.ร่วมกันลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจทางนิติบัญญัติ ป.ป.ช.จะสอบเพื่อดำเนินคดีอาญาไม่ได้ เพราะเป็นการดำเนินการตามอำนาจอธิปไตย หรือถามว่าถ้าศาลชั้นต้นตัดสินให้ยกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลย แล้วโจทก์มาฟ้องผู้พิพากษาศาลชั้นต้น กล่าวหาว่าช่วยจำเลยเรื่องก็จะยุ่ง หรือพอออกหมายจับแล้วมาร้อง ป.ป.ช.ก็ยุ่งกันใหญ่ เท่ากับเป็นการกระทบกระทั่งการใช้อำนาจ และ ป.ป.ช.ไม่ใช่ผู้ใช้อำนาจอธิปไตย แล้วมาขัดขวางผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ถือว่าหนักหนาสาหัส

"จึงขอเตือนผู้ใช้อำนาจองค์กรอิสระ ขอให้ควบคุมการใช้อำนาจรัฐเท่าที่มีอำนาจ แต่จะขยายอำนาจเกินเลยถึงผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ไม่มีสิทธิ ผู้พิพากษาอย่าหวั่นไหว ขอให้ทำหน้าที่ตามปกติ ถ้าผู้พิพากษาหวั่นไหว ไม่ทำหน้าที่ บ้านเมืองจะอยู่ไม่ได้ กระบวนการยุติธรรมจะล้มเหลว ทั้งนี้ ขอเรียนว่า ก.ต.ไม่ได้ทอดทิ้ง ไม่ได้ลอยแพแต่อย่างใด" อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งธนบุรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ศาลมีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจหรือไม่ นายศรีอัมพรกล่าวว่า การทำงานมีทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ซึ่งคู่ความสามารถใช้สิทธิได้หากเห็นว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งกรณีนายสุนัยอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ป.ป.ช.ระบุว่าตั้งอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ทำได้หรือไม่ นายศรีอัมพรกล่าวว่า ไม่ได้ เท่ากับเป็นการก้าวล่วง ไม่มีสิทธิ แค่นี้ก็ถือว่าละเมิดต่อศาลที่ใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรง ทั้งนี้ ในกรณีเห็นว่าศาลปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบก็สามารถนำความมาฟ้องศาลได้

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม จะประชุมเพื่อหารือถึงกรณีดังกล่าวว่า ป.ป.ช.มีอำนาจที่จะตรวจสอบกรณีศาลอนุมัติออกหมายจับ เมื่อถูกผู้ที่ถูกออกหมายจับร้องเรียนหรือไม่


ที่มา:มติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น