--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ผู้พิพากษาในภาค5กว่า100คน ลงชื่อโต้ป.ป.ช.ไร้อำนาจตั้งกก.สอบศาลอยุธยา กรณีออกหมายจับอดีต อ.ดีเอสไอ

คณะข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมในภาค 5 ประกอบด้วย ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาล ผู้พิพากษา ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดเชียงราย ศาลจังหวัดน่าน ศาลจังหวัดฝาง ศาลจังหวัดพะเยา ศาลจังหวัด แพร่ ศาลจังหวัดลำปาง ศาลจังหวัดลำพูน ศาลจังหวัดแม่สะเรียง ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน ศาลจังหวัดเทิง กว่า 100 คน นำโดย นายเรืองชัย จันทร์แก้วแร่ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงใหม่ ลงชื่อสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ได้ทำหนังสือแจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีตั้งอนุกรรมการไต่สวน นายอิทธิพล โสขุมา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ขณะนั้น) ว่ากระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรม ที่อนุญาตให้ออกหมายจับนายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาท โดยฝ่าฝืนกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ต้องหา

โดยหนังสือสรุปว่า เหตุดังกล่าวได้มีการนำเสนอปัญหากรณีที่ผู้พิพากษา ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างรอบครอบและสุจริตในการออกหมายจับต่อคณะกรรมการข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และมอบให้นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม รับไปดูแลเกี่ยวกับการคุ้มครองปกป้องผู้พิพากษาที่ได้ปฎิบัติหน้าที่ด้วยความรอบครอบและสุจริต จึงขอสนับสนุนสำนักงานยุติธรรม ที่ทำหนังสือแจ้ง ป.ป.ช. ว่า ผู้พิพากษามีดุลพินิจอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้ โดยไม่อาจมีการแทรกแซงหรือก้าวล่วงจากหน่วยงานหรือบุคคลใด ซึ่งรวมถึงการออกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากคู่ความไม่เห็นพ้องกับดุลยพินิจก็สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งได้

การกระทำใดๆไม่ว่าจะเป็นการใช้อิทธิพล โดยมิชอบการชักนำการกดดัน การข่มขู่หรือแทรกแซง ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมจากบุคคลใดเพื่อหวังผลการพิจารณาพิพากษาจึงไม่พึงกระทำ โดยเฉพาะการดำเนินการไต่สวนผู้พิพากษาในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลยพินิจของอนุกรรมการ ป.ป.ช. ในขณะที่ประเด็นข้อพิพาทของคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา อาจกระทบต่อการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลรวมทั้งหลักประกันความอิสระของผู้พิพากษาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

พร้อมกันนี้ คณะข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมในภาค 5 ยังได้เป็นกำลังใจให้แก่นายอิทธิพล ผู้พิพากษาซึ่งได้รับผลกระทบต่อความไม่ถูกต้องครั้งนี้ด้วย


ที่มา:มติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น