
วาทกรรมเรื่อง "ยึดทรัพย์" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีไม่น้อยกว่า 2 ข้อความหลัก
อาทิ ยึดทั้งหมด 7.6 หมื่นล้านบาท
หรือยึดส่วนหนึ่ง เฉพาะที่ได้ประโยชน์จากนโยบายผลประโยชน์ทับซ้อน
ทั้ง 2 วาทกรรม ล้วนมีเหตุผลหักล้าง นำเสนอ
1 ใน 2 วาทกรรม เป็นของ "อ.แก้วสรร อติโพธิ" ที่ว่าด้วย"ยึดทั้งหมด"
ด้วยดีกรีอดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
และอดีตผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ "แกะรอยคอร์รัปชั่น"
"อ.แก้วสรร" ยกเหตุผล-ทฤษฎี "วัวกินหญ้า" ประกอบวาทกรรม "ยึดทั้งหมด"
ทฤษฎีที่ว่าด้วย "วัวกินหญ้า" กลายเป็นวาทะหลักในการถกแถลง-วิพากษ์ ในวงการนักกฎหมาย-นักการเมือง
"อ.แก้วสรร" บอกว่า.....
"เรื่องหุ้นของคุณทักษิณต้องยึดทั้งหุ้นกับดอกผล เมื่อขายไปแล้วก็ต้องยึดเงินที่ขาย เหมือนคุณเลี้ยงวัวนมหนึ่งฝูง เมื่อขึ้นเป็นนายก อบต. คุณก็ทำนโยบายเพาะหญ้าขนในทุ่งหญ้าสาธารณะ ซึ่งไม่มี อบต.ไหนเขาทำ จากนั้นก็ปล่อยวัวคุณไปกิน วัวมันก็อ้วนสุด ๆ เลย ทีนี้จะทำยังไง จะยึดอะไรล่ะทีนี้ ก็ต้องยึดทั้งตัว"
"...จะบอกว่าวัวผมมีมาก่อน ผมก็ไม่ได้เถียง เพราะไม่ได้กล่าวหาว่ายึดวัวหลวง แต่คุณเอาอำนาจรัฐไปขุนวัวของคุณจนอ้วน จะมาขอวัวของคุณคืน แล้วทำยังไง จะแบ่งกันยังไงล่ะทีนี้ ดังนั้นคุณทำ 5 ครั้ง บอกว่าต้องยึดทีละครั้ง ครั้งแรกเอาขา ครั้งหลังเอาหู อย่างนั้นหรือ...มันไม่ใช่"
"ผมไม่เถียงว่าหุ้นนั้นของทักษิณ แต่มันมีราคาขึ้น เพราะใช้อำนาจเข้าไป ราคาหุ้นจริง ๆ ขณะนี้อาจจะตกลงไปก็ได้ เพราะตลาดหุ้นมันแปรปรวน แต่ที่แน่ ๆ คุณทักษิณทำให้ธุรกิจนี้ได้เปรียบกว่าคู่แข่ง"
"หุ้นของคุณทักษิณ วัวของคุณผมไม่เถียง แต่มันอ้วนจากอำนาจรัฐ ต้องเข้าใจว่านี่คือการลงโทษ หากให้ทุนคืนก็ไม่ต่างกัน เฮ้ย ! ช่วยกันทำเว้ย พอจับได้แล้วได้ทุนคืน แล้วจะยึดทรัพย์ทำไม"
เมื่อคดี "ยึดทรัพย์" เข้าสู่โค้ง 10 วันอันตราย ทฤษฎี "วัวกินหญ้า" ถูกหยิบยกเป็นประเด็นขึ้น "ร้องศาล"
โดยนายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ผู้เกี่ยวข้อง ยุติบทบาทการขยายความทฤษฎี "วัว-ควาย"
"พานทองแท้" ร้องว่า "ขอให้มีคำสั่งห้ามมิให้ อดีตคณะกรรมการ คตส.ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดียึดทรัพย์ ซึ่งอาจจะเป็นการทำให้สาธารณชนเข้าใจผิด"
"โดยเฉพาะนายแก้วสรรที่ออกมาพูดเกี่ยวกับทฤษฎีวัว ควาย เป็นการใช้ความรู้ทางกฎหมายที่ทำให้ประชาชนสับสน ทำนองว่า ถ้าวัวไปกินหญ้าของคนอื่นแล้ว วัวอ้วนขึ้นมาต้องยึดวัวทั้งตัว จะยึดเฉพาะขาไม่ได้"
"ถ้ามองมุมกลับกัน ตนเป็นเจ้าของหญ้าแล้ววัวมากิน แล้วตนยึดวัวทั้งตัวไว้ ตนจะโดนข้อหาลักทรัพย์ แต่ถ้าร่วมกันกระทำการมากกว่า 1 คนขึ้นไป ภาษากฎหมายเรียกว่าปล้นทรัพย์ ทำให้ตนรู้สึกว่าเหมือนถูกปล้นทรัพย์อยู่ อยากให้ลองมองมุมกลับกันบ้าง"
พานทองแท้-ใช้วาทกรรม "กฎหมาย" ย้อนศรว่า "ฝากถึงพี่น้องเกษตรกร ระหว่างรอประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ให้เลิกปลูกข้าว มาปลูกหญ้าแล้วเอารั้วออก แล้วทุกคนจะมีวัวขายกัน ขอบอกว่าทุกคนจะไม่ผิดเพราะเขาเอากฎหมายมาบิดเบือนกัน"
แต่ "คำร้อง" ของทายาท "ชินวัตร" ไม่เป็นมรรค-เป็นผล
แม้จะพยายามหยิบยกเหตุ-ผล "เพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปโดยถูกต้องเป็นธรรม ไม่สมควรที่จะมีบุคคลใดให้ข่าวต่อสื่อมวลชนในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิด"
ที่สุด "ศาลยกคำร้อง" แต่ทฤษฎี "วัวกินหญ้า" ยังคงเป็นประเด็นหลักในการสนทนา-หารือ ตั้งแต่ร้านกาแฟรากหญ้า ถึงยอดตึกระฟ้า
"อ.แก้วสรร" ผู้บัญญัติ "ทฤษฎีวัวกินหญ้า" ในวัย 59 (เกิด 24 สิงหาคม พ.ศ. 2494) พื้นเพเป็นชาว จ.ลำพูน บิดา "ศิริ อติโพธิ" เป็นอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ป.)
เคยลงสมัครเป็นกรรมการการเลือกตั้งชุดที่ 3 แต่ไม่ได้รับเลือก
หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้รับการทาบทามจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แต่ไม่ได้รับการแต่งตั้ง
เพราะนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย คปค. ให้เหตุผลว่า "คุณสมบัติของนายแก้วสรร ไม่ได้เป็นศาสตราจารย์ ซึ่งอาจเป็นข้อโต้แย้งถึงคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. ในภายหลังได้"
หลังผ่านภารกิจ "ยึดทรัพย์" อดีตคณะกรรมการ คตส. กลับเข้าสู่วงการ "การเมือง" อีกครั้ง
ด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามกลุ่มกรุงเทพฯใหม่ แต่ต้องพ่ายแพ้กระแสประชาธิปัตย์ ที่เทคะแนนให้ "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร"
ชื่อ "แก้วสรร อติโพธิ" ยังคงวนเวียนอยู่ในวัฏจักร "ทักษิณ"
อย่างน้อยก็จนกว่า "คดียึดทรัพย์" จะถึงที่สุด
ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ
โดย...อิศรินทร์ หนูเมือง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น