หมายเหตุ บทความชนี้เรียบเรียงจากปาฐกถาพิเศษ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ในเวทีนโยบายสาธารณะเรื่อง “การชุมนุมสาธารณะ เสรีภาพที่ต้องการกรอบกติกา” วันที่ 12 ก.พ. 2553 โรงแรมรามาการ์เด้นท์
ในสังคมประชาธิปไตย การชุมนุมสาธารณะถือเป็นเรื่องปกติ ในสังคมตะวันตก ในวอชิงตัน เยอรมันย้อนไปสิบกว่าปี มีคนเข้าร่วมมากมาย นายกก็มาร่วมชุมนุมด้วย ดังนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาของระบอบประชาธิปไตย ประเด็นคือเราอยากเห็นการชุมนุมสาธารณะเป็นไปอย่างสันติและสร้างสรรค์
เวลาเกิดเรื่องจากการชุมนุม ไม่ใช่คนชุมนุมหรือตำรวจไม่ดี แต่เพราะเราขาดกรอบกติกาประชาธิปไตย เพราะถ้าคนไทยไม่ดีจริง ทำไมเราเล่นฟุตบอลได้ ฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีกรอบ ออกนอกกรอบไม่ได้ และมีกติกา จะไปเตะคนไม่ได้ มีคนกำกับเส้น มีกรรมการคอยดีให้เป็นไปตามกติกา ไม่งั้นจะโกงได้ กรรมการและคนกำกับเส้นทำให้โกงไม่ได้ และก็มีคนดู
การชุมนุมสาธารณะก็เช่นกันต้องมีกรอบ กติกา กลไก และมีสังคมกำกับอีกที เพื่อให้การชุมนุมนั้นเป็นไปอย่างสันติและสร้างสรรค์
กรอบการชุมนุมสาธารณะ น่าจะยึดตามรัฐธรรมนูญ คือมีสิทธิในการชุมนุมสาธารณะอย่างสันติ ควรมีการปรึกษากันว่ารายละเอียดควรจะเป็นอย่างไร สถานที่จะกำหนดแค่ไหน เป็นต้น
กติกาการชุมนุมสาธารณะ ลองคิดดูว่าน่าจะมีรายละเอียดอะไรบ้าง กติกาควรตั้งอยู่บนหลัก “การใช้ความจริง” ซึ่งเป็นเรื่องที่ปฏิบัติยาก คำถามคือจะทำได้ไหม ได้แค่ไหน การชุมนุมมักจะมีการปลุกอารมณ์กัน ทำให้ไม่ได้ใช้ความรู้ เหตุผล ก็ต้องลองดูว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน
การใช้ความจริงนั้นสำคัญ พระพุทธเจ้าตรัสเรื่อง วจีสุจริตว่า 1. มีที่มา ที่อ้างอิง 2. ปิยวาจา 3. พูดถูกกาละเทศะ 4.พูดแล้วเกิดประโยชน์ นี่เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก อยากฝากให้พยายามดูกันว่าอันนี้จะเข้าไปอยู่ในกติกาที่ว่าได้มากน้อยแค่ไหน สังคมไทยต้องพยายาม สื่อมวลชนต้องพยายาม เพราะปฏิบัติยาก ควบคุมก็ยาก กติกาต้องชัดเจน การยุแยงให้เผาบ้านเผาเมืองทำไม่ได้ เป็นต้น
กฎหมายต้องทำให้ดีที่สุด แต่แค่นั้นไม่พอ ต้องมีการซักซ้อมร่วมกัน ทำกรอบกติการ่วมกัน ทั้งผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ นักวิชาการสิทธิมนุษยชน สี่อมวลชนมาร่วมกันทำกติกา กลไก ก่อนที่จะเกิดเรื่อง เหมือนว่ายน้ำต้องว่ายเป็นก่อนเรือล่มไม่งั้นไม่ทัน เราควรมาซักซ้อมร่วมกันเสียก่อน
จากนี้ต่อไปองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง คนเคยเดินขบวน เจ้าหน้าที่ สื่อ เอ็นจีโอ นักวิชาการต้องร่วมกันทำกระบวนการนี้ให้ดีขึ้น กรอบว่าไง กฎ กติกาแค่ไหนล้ำเส้น ล้ำกรอบ แค่ไหนพอทนได้ แค่ไหนถึงจุดต้องยุติการชุมนุมสาธารณะ แล้วกระบวนการยุติจะเป็นอย่างไร จะได้ไม่ต้องโทษกันไปโทษกันมา ตำรวจโทษผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมโทษตำรวจเวลาเกิดเรื่องขึ้น จะต้องประกาศก่อนให้ยุติการชุมนุมไหม อะไรใช้ได้ อะไรใช้ไม่ได้ในการยุติ ปืนไม่ไม่ น้ำใช้ได้ ยิงเข้าฝูงชนไม่ได้ เหล่านี้ต้องชัดเจนไม่งั้นจะลำบาก เจ้าหน้าที่ก็ลำบากทำก็โดนด่า ไม่ทำก็เป็นหน้าที่ สำคัญคือกรอบกติกานี้ต้องทำให้เห็นพ้องด้วยกันหมด เรื่องก็จะเกิดน้อยลง
ส่วน กรรมการเป็นใคร ต้องคิดตอนนี้เลย ในแคนาดา State Parliament เขาตั้ง Commissioner ขึ้นมีหน้าที่เชิญผู้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งมา รัฐ เอ็นจีโอ นักธุรกิจ ชาวบ้านมาหมด เพื่อลดความขัดแย้ง เขาเคยมาแสดงกระบวนการให้เราดู
ก่อนยุคทักษิณ มีการตั้งคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธีแห่งชาติขึ้น มีพิชัย รัตนพล เป็นประธาน มีชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มาร์ค ตามไท โคทม อารียา บัณฑร อ่อนดำ อนุชาติ พวงสำลี ได้ข่าวว่าเคยถูกยุบแต่ไม่แน่ใจ รู้แต่ว่าพวกเขายังทำงานอยู่ มีการประชุมกันทุกเดือน คิดว่าน่าชวนเขามาทำงานเลย ให้มีบทบาทเป็นเหมือนกรรมการในสนามฟุตบอล เพราะคนทำงานกลุ่มนี้เขาเป็นของจริง มีความชำนาญเรื่องสันติวิธีจริง ๆ ไม่ใช่แต่ปาก มีประสบการณ์ จิตใจดี ใจกว้าง นี่เป็นข้อเสนอของผม และนายกฯ ควรเป็นคนแต่งตั้ง
อีกอย่าง ในการเล่นบอล กรรมการ ไลน์แมนอาจโกงได้ แต่ก็ทำไม่ได้เพราะมีคนดูคอยกำกับอยู่ การชุมนุมสาธารณะก็ต้องมีสังคมกำกับด้วย ทำอย่างไร ก็ใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือ การสื่อสารที่ดีตามข้อเท็จจริง แล้วให้รู้ถึงกันเป็นการลดความรุนแรง เหมือนคนดูสามารถกำกับคนเล่นฟุตบอล กำกับพฤติกรรมกรรมการและไลน์แมน
ดังนั้นอย่าหยุดรอ เสนอนายก จัดทำกฎหมายแล้ว ต้องซักซ้อมร่วมกันจะเป็นผลดีหลายอย่าง ตำรวจ คนเดินขบวน เอ็นจีโอ ทุกคนต้องมาร่วมกัน เอาใจเป็นตัวตั้ง ใช้ใจนำ อย่าใช้ความรู้นำเพราะจะเป็นทิฐิ ใช้ใจที่อยากทำสิ่งดี ๆ ให้สังคมเป็นตัวนำ การคิดเห็นไม่ตรงกันเป็นเรื่องธรรมดา แฝดตัวติดกันยังคิดไม่เหมือนกัน ต้องทำด้วยใจที่เข้าถึงความจริงที่สูงกว่านั้น คือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นเพื่อนมนุษย์ ร่วมเกิดแก่เจ็บตาย
สุดท้าย จะทำอย่างไรต่อไปจากวันนี้ มีหลายฝ่ายเกี่ยวข้อง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็เกี่ยว แต่อย่าทำงานโดดเดี่ยว เอาหลายฝ่ายมาเป็นภาคี ช่วยกันประคับประคองเหมือนระบบร่างกาย ซึ่งจะไม่มีระบบใดเลยที่ทำงานแบบเอกบท (one pathway) ทุกระบบจะทำงานร่วมกันเป็นแบบพหุบท (multiple pathway) ทั้งนั้น ไม่งั้นพวกเราก็ตายนานแล้ว
เท่าที่ดู นอกจากคณะกรรมการสิทธิฯ ก็มีคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธีแห่งชาติ สถาบันพระปกเกล้า ตำรวจ สถาบันพัฒนาการเมือง กรมประชาสัมพันธ์เพราะเราต้องการการสื่อสารด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แก่งประเทศไทย สมาคมวิทยุโทรทัศน์ฯ เป็นต้น เสร็จประชุมวันนี้แล้วก็อย่ารอ ไม่ต้องรอกฎหมายออก เริ่มทำงานกันได้เลย
ที่มา:มติชนออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น