ในกลเกม-การแก้ไขรัฐธรรมนูญ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็นคนที่รับแรงปะทะจากทั้งศึกใน-ศึกนอก
ทั้ง 2 กองกำลังของอดีตหัวหน้าพรรค "ชวน หลีกภัย" และกองกำลังของเหล่า "ทายาท" สาวกของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ถล่ม "สุเทพ" เป็นระลอกราวกับลูกระนาด
เก้าอี้ที่ทรงอิทธิพล-ทางการเมือง-ตำแหน่ง "เลขาธิการพรรค" ผู้พลิกตำนาน "ดีลมหากาฬ" จัดตั้งรัฐบาลแบบ สายฟ้าแลบ-พลิกฟ้า-พลิกขั้ว ถูกอาถรรพ์ "พรรคเก่าแก่" ครอบงำจนอึดอัด-หายใจแทบไม่ออก
"สุเทพ" อยู่ในอาการ กลับไม่ได้- ไปไม่ถึง
ไม่มีแนวโน้มที่ประวัติศาสตร์-10 มกรา และศึก 2 เส้า ระหว่างทศวรรษใหม่กับผลัดใบ จะซ้ำรอย
คนในวงการเมืองวิพากษ์-ย้อนประวัติศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์กัน ใต้ถุนสภาผู้แทนราษฎรว่า "เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ มีฉากจบ-ศพไม่สวย สักคน"
ทั้ง "วีระ มุสิกพงศ์-พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์-ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์"
หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์พรรค ปชป. ก็น่าหวั่นใจแทน "เทพเทือก" ไม่น้อย กับอาถรรพ์ "เก้าอี้เลขาฯพรรค ปชป."
เริ่มจาก นายวีระ มุสิกพงศ์ จากอดีต นักการเมืองดาวรุ่งพุ่งแรงในยุคหนึ่ง แต่พอขึ้นชั้นเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีเหตุให้ตกเก้าอี้อย่างเจ็บปวด จนวีระต้องจำใจพากลุ่ม "10 มกรา" แตกทัพออกมาจากประชาธิปัตย์
จากนั้นมาเส้นทางการเมืองของวีระ ก็ไม่ได้สดใสดังเดิม ผ่านการติดคุกจนหมดโอกาสสร้างบารมีในภาคใต้
ล่าสุดผันตัวเองมาเป็นแกนนำม็อบคนเสื้อแดง ต่อต้านอำมาตย์และพรรค ประชาธิปัตย์อย่างเต็มตัว
อาถรรพ์เลขาฯ ปชป. คนต่อมาคือ "เสธ.หนั่น" พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ผู้ผลักดันให้ นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรค ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 สมัย
แต่ด้วยพิษการเมืองในพรรค-นอกพรรค สุดท้าย ชาละวันแห่งเมืองพิจิตรก็เจอวิบากกรรม โดนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฟันคดีทุจริตเงิน 45 ล้านบาท เจอโทษเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี อำลาจากพรรคประชาธิปัตย์แบบเจ็บปวดเช่นกัน
ล่าสุด "เสธ.หนั่น" พเนจรมาอยู่กับ นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย และเตรียมสละอำนาจการเมืองผ่องถ่ายอำนาจให้ "ลูกชาย" สืบทอดกิจการการเมือง ในพรรคชาติไทยพัฒนา
จาก "เสธ.หนั่น" ก็มาถึงคิว "เสี่ยอ๊อด" นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ถูกดันขึ้นนั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคในยุคของทีมทศวรรษใหม่ ที่มีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค
แต่เมื่อ "บัญญัติ" พาพรรคแพ้เลือกตั้งแบบสู้คู่แข่งพรรคพลังประชาชนไม่ได้ จนต้องแสดงสปิริตลาออก
"ประดิษฐ์" จึงต้องเดินย่ำรอยลูกพี่ อย่าง "เสธ.หนั่น" เก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าหนีมาอยู่กับค่ายรวมใจไทยชาติพัฒนา ที่มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นแกนนำในปัจจุบัน
เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีมติไม่ร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาล แม้ว่า "เลขาธิการพรรค" จะรับปาก-รับไหว้คนการเมือง ไว้ทั่วสารทิศว่า "ต้องแก้รัฐธรรมนูญ"แต่เมื่อ "มติ" ที่ออกมา "สวนทาง"กับพรรคร่วมรัฐบาล จึงถูกวิจารณ์จากคนการเมืองระดับเขี้ยวว่า "จะซ้ำรอยเหตุการณ์ 10 มกรา"
พลิกตำนานเหตุการณ์ กลุ่ม 10 มกรา เกิดขึ้นจากการจัดโผรัฐมนตรี สมัยที่ นายพิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์ นายวีระ มุสิกพงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค ได้ร่วมรัฐบาลที่มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
การจัดโผคณะรัฐมนตรีในครั้งนั้น นายวีระซึ่งเป็นคนเจรจาดึง ส.ส.กลุ่มวาดะห์ ที่มีนายเด่น โต๊ะมีนา เป็นหัวหน้ากลุ่ม อยู่ในขณะนั้น มาเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้มีจำนวน ส.ส.มากขึ้น นายวีระจึงเสนอให้นายเด่นเป็นรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่เมื่อรายชื่อคณะรัฐมนตรีประกาศออกมา ไม่มีชื่อของนายเด่น แต่กลับมีชื่อ นายพิจิตต รัตตกุล ลูกชายของนายพิชัย ซึ่งไม่มีชื่อในโผมาก่อน ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับนายวีระเป็นอย่างมาก กระทั่งความไม่พอใจได้ขยายวงเป็นความขัดแย้งและความแตกแยกกันขึ้นภายในพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนมาจบลงเมื่อมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยมีการแข่งขันกัน 2 ทีม ทีมแรกเสนอนายพิชัย หัวหน้าพรรคคนเก่า มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะนั้นเป็น ส.ส. ที่มีความใกล้ชิดกับ นายชวน หลีกภัย ซึ่งขณะนั้นเป็นรองหัวหน้าพรรค เป็นหัวหอกในการล็อบบี้สนับสนุน
ส่วนอีกทีมเสนอ นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ มีนายวีระ เป็นเลขาธิการพรรคคนเก่า
ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ทีมของนายพิชัยชนะทั้งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ทำให้เกิด "กลุ่ม 10 มกรา" ขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ และต่อมาเมื่อ พล.อ.เปรมยุบสภา ส่งผลให้สมาชิกกลุ่ม 10 มกรา นำโดยวีระ จำต้องเดินออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปอย่างเจ็บปวด
ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น