โดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ
อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้า (ธนบุรี)
นักเศรษฐศาสตร์การเมืองรวมถึงนักวิชาการในสาขาอื่น ตัวอย่างเช่น สลาวอย ชิเช็ค (Slavoj Zizek) หรือ ไมเคิล ชาพิโร (Michael Shapiro) ล้วนชื่นชอบในการวิเคราะห์ภาพยนตร์ สรวิช ชัยนาม (2555) ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์หนังสือวิเคราะห์ภาพยนตร์ชื่อ จากปฏิวัติถึงโลกาภิวัตน์
โดยอธิบายสาเหตุที่นักวิชาการนิยมวิเคราะห์ภาพยนตร์เพราะ 1. ภาพยนตร์นั้นเป็นรูปสัญญะที่มีเพรียบพร้อมทั้งแสง สี เสียง ให้ได้ตีความ 2. นักศึกษาในปัจจุบันก็สนใจที่จะบริโภคภาพยนตร์ โดยเฉพาะ Hollywoodในฐานะสิ่งบันเทิงอยู่แล้วทำให้เป็นเรื่องง่ายที่จะชี้ชวนให้เรียนรู้จากมัน (อย่างน้อยก็คงง่ายกว่าการชักชวนให้อ่านวรรณกรรม ซึ่งต้องใช้ความพยายามมากกว่าในการเข้าถึง) บทความนี้ก็จะหยิบยกนำภาพยนตร์เรื่อง Warm Body ขึ้นมาใช้ในการวิเคราะห์ร่วมกัน
Warm Bodies movies photo from stuffpoint.com
Warm Body เป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับโลกในวันที่คนส่วนใหญ่กลายเป็นผีดิบ (Zombie) และมีมนุษย์เหลืออยู่เพียงส่วนน้อยเท่านั้น โดยมนุษย์ส่วนที่เหลือได้สร้างกำแพงใหญ่กันพื้นที่อาณานิคมสุดท้ายของตนเองเอาไว้เพื่อความปลอดภัย
สำหรับตัวละครหลักในด้านของผีดิบนั้น จะแบ่งออกเป็นสองชนิด ชนิดแรกเรียกว่าคอร์ปส์ (Corps) ซึ่งเป็นผีดิบทั่ว ๆ ไป ยังมีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์ เพียงแต่ตัวซีด (แน่นอนเพราะไม่มีเลือดไหลเวียน) ไร้ความเจ็บปวด และต้องกินมนุษย์โดยเฉพาะส่วนของสมองเป็นอาหารนอกจากจะเพื่อให้อิ่มท้องแล้ว การกินสมองยังช่วยทำให้คอร์ปส์รู้สึกมีชีวิติอีกครั้งด้วยการดื่มด่ำกับภาพความทรงจำของเหยื่อที่ผีดิบกินเข้าไป
เมื่อคอร์ปส์ดำเนินชีวิตเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดหวังและยอมแพ้กับ (ความไร้) ชีวิตของตนเอง คอร์ปส์ก็จะกลายเป็นผีดิมที่ถลำลึกยิ่งขึ้นเรียกว่า โบนีย์ (Boney) โบนีย์นี้จะเริ่มจากการฉีกทึ้งรูปลักษณ์ของตนเองออกจนกระทั่งเหลือเพียงเนื้อในศพน่ารังเกียจ โบนีย์จะไม่มีความคิดใด ๆ อีกนอกจากความต้องการกินมนุษย์เป็นอาหาร และจะไม่ฆ่าคอร์ปส์แต่ก็ไม่สุงสิงกัน
การแบ่งมนุษย์และผีดิบออกจากกัน โดยฝ่ายผีดิบต้องการจะกินมนุษย์เป็นอาหาร และมนุษย์ต้องการจะฆ่าผีดิบเพื่ออยู่รอดก็มีความสัมพันธ์ที่เอาความขัดแย้งเป็นตัวดำเนินเรื่อง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของมโนทัศน์แบบเศรษฐศาสตร์การเมือง ความขัดแย้งที่ Warm body นำเสนอนั้นเป็นความขัดแย้งซึ่งผีดิบเป็นฝ่ายกระทำและมนุษย์เป็นฝ่ายปฏิกิริยา โดยความอยากไร้ที่สิ้นสุดในการได้กินมนุษย์ ความไร้เลือดและมีเพียงความกระหายนั้นก็ดูเข้าได้ดีกับ “ความโลภ” ซึ่งเป็นแรงขับดันสำคัญกระทั่งกล่าวได้ว่าเป็น “สถาบันหรือกฎระเบียบของโลกทุนนิยม” มากกว่าอย่างอื่น
หากเราตีความรูปสัญญะของผีดิบให้เป็นนายทุน (ซึ่งเดินตามกฎเกณฑ์ของระบบทุนนิยม) เสียแล้ว มนุษย์ในเรื่องก็ไม่สามารถเป็นสิ่งอื่นไปได้ นอกเสียจากบุคคลที่เป็นเหยื่อของระบบทุนนิยมอันเลวร้าย ความขัดแย้งระหว่างผีดิบและมนุษย์ใน Warm body จึงเป็นความขัดแย้งระหว่างนายทุนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความโลภของทุนนิยม
แม้ว่าเราอาจจะแบ่งนายทุน (ผีดิบ) ออกจากผู้ที่ได้รับผลร้ายจากระบบทุนนิยม (มนุษย์) แต่ก็ใช่ว่าจะจบอยู่เพียงเท่านั้น อันที่จริงท่ามกลางผีดิบเองก็ยังมีความหลากหลายอยู่ภายใน (Heterogeneity) ที่ชัดเจนที่สุดคือ อย่างน้อยคอร์ปส์และโบนีย์ก็ไม่เหมือนกัน ทำไมผู้ประพันธ์ต้องทำให้ผีดิบแตกต่างกันทั้ง ๆ ที่หนังผีดิบทั่วไปมักไม่เน้นความแตกต่างของผีดิบ (เดินเน่าๆ วิ่งเข้ามาไล่กัดคนอย่างเดียว) นั้นเป็นเรื่องน่าสนใจจะอภิปราย
เราอาจจะตีความได้ว่า คอร์ปส์นั้นหมายถึง กลุ่มคนหรือกลุ่มทหารเลยโดยตรงตามตัวภาษาอังกฤษนัยว่าคอร์ปส์คือกลุ่มทหารเลวของบรรดาผีดิบ ทว่า จริงๆ แล้วคอร์ปส์ก็อาจจะโยงไปถึง Corp (oration) s ได้ด้วยซึ่งตอกย้ำให้เข้าใจว่าคอร์ปส์นี่ก็คือบริษัททั่วๆ ไปในระบบทุนนิยม หรือคือนายทุนทั่วไป และหากไม่เป็นการกล่าวจนเกินไปเราอาจจะตีความไปถึงผู้ที่ทำงานเป็นแรงานในบริษัทเหล่านั้นอีกด้วย
ในขณะที่บรรดาโบนีย์ ก็น่าที่จะมาจากคำว่า โบน (Bone – กระดูก) หรือโบนียาร์ด (Boneyard – สุสานป่าช้า) ซึ่งส่อนัยว่า ผีดิบเหล่านี้ก็คือบรรดานายทุนที่ปฏิเสธจะเข้าใจมนุษย์โดยสิ้นเชิงแล้ว ไม่คิดจะคงรูปลักษณ์ (อันเป็นสัญลักษณ์ของมนุษย์เพียงประการเดียวที่เหลืออยู่ของผีดิบ) แล้วเข้าสู่การใช้สัญชาตญาณของความโลภ การหิวเนื้อมนุษย์ด้วยกันแต่เพียงอย่างเดียว พวกนี้ก็คือคอร์ปส์ที่ถลำลึกไปสู่ความโลภ สัญชาติญาณในการหิวกระหายที่จะกินมนุษย์ “เข้ากระดูกดำ” ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกลับมาเป็นมนุษย์ทั่ว ๆ ไปได้อีก
what make you feel alive? photo from fanpop.com
ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องผ่านมุมมองของพระเอกที่เป็นผีดิบ ไม่ได้เล่าผ่านมุมมองของมนุษย์อย่างเช่นหนังผีดิบทั่ว ๆ ไป ภาพยนตร์เริ่มต้นจากมุมมองสายตาของผีดิบที่เป็นพระเอกชื่อ R เมื่อเริ่มเรื่อง R มองไปยังเพื่อนผีดิบด้วยกันและมักที่จะทายถึงอาชีพของคอร์ปส์ตัวอื่น ๆ เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ เช่น ยามเฝ้าสนามบิน พนักงานรักษาความสะอาด ลูกคุณหนูนักท่องเที่ยว เป็นต้น
คอร์ปส์เหล่านี้ได้แต่เดินไปเดินมาอย่างเฉื่อยชาตลอดทั้งวัน และทำในสิ่งที่ตนเองคุ้นเคยตามอาชีพต่างๆ เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์เพื่อฆ่าเวลาระหว่างที่ยังไม่หิว (เมื่อหิวก็หันมาฆ่าคนแทน) พฤติกรรมของคอร์ปส์ผ่านมุมมองของ R นี้เองชวนให้นึกถึงสิ่งที่ สลาวอย ชิเชค เรียกว่า “คน (หรือในบริบทของภาพยนตร์นี้คือผีดิบ) แบบ Cynical” ซึ่งหมายถึง คนที่แม้จะเข้าใจถึงภัยของการหิวกระหายและปัญหาจากการเล่นตามเกมทุนนิยมอย่างสุดโต่ง (แบบโบนีย์) ว่าเป็นเรื่องที่ไม่พึงประสงค์
แต่กระนั้นก็ตาม คน (ผีดิบ) เหล่านี้ก็ไม่พร้อมที่จะลุกขึ้นมาปฏิเสธต่อระเบียบโลกแบบทุนนิยม เพราะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินตัวและได้แต่บ่นไปวัน ๆ ผีดิบเหล่านี้จึงเกลายเป็นอะไรที่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ เหมือนคอร์ปส์ที่ทั้งเหมือนมีชีวิตแต่ก็ไม่มีชีวิต เหมือนมนุษย์แต่ก็ไม่ใช่มนุษย์และกินมนุษย์
R บรรยายความเป็น Cynical ของเขาอย่างชัดเจนโดย เขาแสดงความรู้สึกผ่านบทสทนากับตนเองว่า เขาขยะแขยงโบนีย์และไม่ได้รู้สึกดีกับตนเอง กระนั้นก็ตาม R ก็ทำในสิ่งที่เขาต้องทำในฐานะคอร์ปส์นั่นก็คือการกินมนุษย์รวมถึงแฟนของนางเอกที่เป็นมนุษย์ในเรื่องด้วย เมื่อ R ได้พบกับนางเอก เขาเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ในขั้นแรกได้แก่การที่เขาไม่กินนางเอกเป็นอาหาร
นอกจากนี้ R ยังช่วยนางเอกให้หนีจากการถูกกินอีกด้วย วิธีการก็คือทำให้ตัวนางเอกมีกลิ่นเหมือนตนเอง และให้นางเอกทำท่าทางแบบผีดิบเพื่อให้กลมกลืนกับคอร์ปส์อื่น ๆ พฤติกรรมเช่นนี้ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของการแบ่งแยกกันด้วยกลิ่น (Essence) ซึ่งจริง ๆ แล้วมีความหมายเดียวกับแก่น (Essence) และพฤติกรรมท่าทาง กล่าวคือ การจะไม่ถูกผีดิบกินนั้นก็จะต้องเปลี่ยนแก่นของตนเองไปให้เหมือนกับผีดิบ หรือสยบยอมต่อทุนนิยมนั่นเอง
ในจังหวะที่นางเอกกำลังจะถูกกิน นางเอกก็ไม่มีทางเลือกใดอีกนอกจากจะต้องยินยอมเปลี่ยนแปลงกลิ่น/แก่น ของตนเองไปเป็นแบบผีดิบ/ทุนนิยม R จับนางเอกไปซ่อนไว้ที่อยู่ส่วนตัวของเขา (R มักแยกกับคอร์ปส์คนอื่นๆ มาอยู่บนเครื่องบินเพียงลำพัง) เมื่อนางเอกมาถึงที่อยู่ของ R เธอพบว่าผีดิบตัวนี้มีบางอย่างน่าสนใจ R เป็นนักสะสมซึ่งชอบเก็บของที่น่าสนใจตามที่ต่าง ๆ ในระหว่างออกล่ามนุษย์กลับมาเก็บเอาไว้
การสะสมของ R นั้นก็น่าสนใจมากเพราะ สะสม (Collect) กับการรวมหมู่ (Collective) นั้นก็มีรากศัพท์ที่เชื่อมโยงกัน หมายความว่า R นี่แม้จะเป็นคอร์ปส์แต่โดยพื้นเพของเขากลับโหยหาการรวมหมู่ (Collectivism/Communism) ในขณะที่คอร์ปส์ตัวอื่น ๆ กลับไม่ค่อยพูดคุยกันซึ่งสะท้อนลักษณะแบบปัจเจกนิยม (Individualism)
ในแง่นี้ นางเอกได้เข้ามาเปลี่ยนแปลง R ไปจากเดิมที่เพียงบ่นๆ แล้วก็นิ่งเฉยต่อสภาพที่เป็นอยู่ (Cynical) มาสู่การไม่เห็นด้วยแล้วลงมือกระทำบางอย่างแต่ R ก็ไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตนเองหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อนคอร์ปส์อื่นๆ อย่างถอนรากถอนโคน R เลือกที่จะช่วยเหลือมนุษย์ที่ตนเองพึงพอใจเท่าน้ัน ไม่ต่างอะไรกับการจ่ายค่ากาแฟตราสินค้าหรูแพงขึ้น เพื่อให้นำเศษเงินไปส่งต่อให้แก่เกษตกรเกษตรไร้สาร หรือเหมือนบริษัทที่ปล่อยน้ำเสียตัดป่าไม้แล้วค่อยมาทำโครงการปลูกป่าเอาทีหลัง
ชิเชค เรียกพฤติกรรมเช่นนี้ว่า “สัจจะนิยมแบบทุน (Capitalist realism)” ซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่กลับทำให้ชีวิตของระบบทุนนิยมยืนยาวยิ่งขึ้นไปอีก ก็เหมือนกับการที่ R ช่วยเหลือนางเอกก็ส่งผลกระทบต่อกลุ่มทหารมนุษย์ ที่จะปฏิวัติและสังหารเหล่าผีดิบ
ผลจากพฤติกรรมสัจจะนิยมแบบทุน สะท้อนชัดในพฤติกรรมของนางเอก ซึ่งก็เริ่มเปิดใจกับ R มากขึ้นเป็นลำดับ ฉากสำคัญได้แก่ ฉากที่ R สารภาพกับนางเอกว่าเป็นคนกินแฟนนางเอกเอง และนางเอกก็ตอบกลับไปว่า “ฉันคิดว่าฉันรู้อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่อยากให้เป็นจริงเท่านั้นเอง” นั่นสะท้อนว่า ตลอดเวลานางเอกก็ทราบว่า เพื่อน/แฟน ของเธอก็ล้วนเป็นเหยื่อของระบบทุนนิยม แต่ทุนนิยมที่เธอรู้จัก (R) ก็มีหัวใจนะ และเธอก็แอบหวังลึก ๆ ว่า R จะไม่ใช่คนที่ฆ่าแฟนเธอแม้ว่าเธอจะรู้อยู่เต็มอกว่า R เป็นคนทำ
ถึงจุดนี้ คงต้องทำความเข้าใจต่อตัวนางเองและมนุาย์คนอื่น ๆ มากขึ้นว่า นางเอกเป็นลูกสาวของผู้นำฝ่ายมนุษย์ การปรากฏตัวของมนุษย์ในเรื่องเป็นการปรากฎตัวในฐานะ “ทหาร” มากกว่าชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ฉากแรกที่เราเห็นมนุษย์ในเรื่องคือบรรดาคนหนุ่มสาวที่กำลังจะเสี่ยงชีวิตออกไปนอก “กำแพง” เพื่อที่จะหาอาหารกลับมาเลี้ยงดูมนุษย์คนอื่น ๆ เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ การแสดงภาพของมนุษย์ที่เป็นทหารซึ่งพร้อมจะต่อสู้กับผีดิบนั้นก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นการเมือง (Political) ของการปรากฏตัว ความการเมืองของการสลายความเป็นเอกภาพและยืนยันถึงการดำรงอยู่ของบางสิ่งบางอย่างในโลกที่แตกต่างไปจากผีดิบ อันเป็นกระแสหลัก ณ ขณะเวลาในภาพยนตร์
แต่พ่อของนางเอกไม่ได้พึงพอใจเพียงการแสดงตัวตนว่ายังมีมนุษย์อยู่ในโลกเท่าน้ัน หากยังชิงชังและอยากจะฆ่าผีดิบให้หมดไปจากโลกอีกด้วย พ่อของนางเอกจึงเป็นตัวแทนของการ “ปฏิวัติของบรรดาคนที่ตกเป็นเหยื่อของทุนนิยม” ผู้ที่ลุกขึ้นมาประกาศว่า มนุษย์ไม่ใช่คนที่พร้อมจะถูกทำให้ตายได้ตลอดเวลา (Homo Sacer) หรือก็คือเป็นเหยื่อเท่านั้น แต่มนุษย์สามารถตอบโต้และกระทำการในฐานะกองกำลัง (Militant) ได้เช่นเดียวกัน
การที่ R เองก็ละเว้นหรือกระทั่งหวังดีต่อนางเอกก็เป็นการทรยศต่อบรรดากฎระเบียบที่กำกับความหมายของ “ผีดิบ/ทุนนิยม” อยู่ในขณะเดียวกัน การที่นางเอกใจอ่อนต่อ R และ นั้นก็เป็นการหักหลังต่อการขบวนการปฏิวัติของพ่อเธอเอง ทว่า ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ เนื่องจาก การต่อสู้กับผีดิบ/ทุนนิยมทั้งโลกนั้น ก็ช่างเป็นความต้องการที่ไม่อาจจะบรรรลุได้ (Unfulfilled need)
R-Julie-warm-bodies-movie, photo from fanpop.com
ดังนั้น หากพิจารณาพฤติกรรมของนางเอกและ R เข้ากับแนวทางจิตวิเคราะห์ของ จ๊าก ลาก็อง (Jaques Lacan) ก็จะพบว่า นางเอกและ R ต่างก็เป็นภาพตัวแทน/ภาพฝัน (Fantasy) ที่ต่างฝ่ายต่างสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะปลอบประโลมใจและเพื่อทดแทนแรงปารถนา (Desire) ที่จะหลุดจากระเบียบโลกแบบผีดิบ/ทุนนิยมนั่นเอง แต่ภาพฝันตรงนี้ก็กลายเป็นอุปสรรคต่อการปฏิวัติ เพราะภาพฝันนี้เองที่ทำให้แนวทางต่อสู้แบบแข็งกร้าว เพื่อปกป้องมวลมนุษย์ต้องชะงักขาดตอน
เพราะเหตุว่าภาพฝัน/ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผีดิบและมนุษย์ (ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างทุนนิยม/คนที่ได้รับผลกระทบจากทุนนิยม) ดังกล่าวส่งผลให้เกิดการชะงักของขบวนการปฏิวัติ ในทัศนะของชิเชค ภาพฝันนี้จึงเป็นเรื่องไม่พึงประสงค์ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอได้อย่างน่าสนใจอีกด้านหนึ่งโดยชี้ให้เห็นว่า ไม่เพียงผู้นำการปฏิวัติจะเห็นว่าแนวทางนี้อันตรายแล้ว กลุ่มผีดิบแบบโบนีย์ หรือทุนนิยมเข้ากระดูกดำนั้นก็ปฏิเสธพฤติกรรมของบรรดา “คอร์ปส์ที่เริ่มมีหัวใจ” ด้วย ทำให้โบนีย์ต้องออกล่าเพื่อที่จะฆ่า R และนางเอก ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาความปั่นป่วนทั้งฝั่งของขบวนปฏิวัติและของผีดิบเอง (คอร์ปส์อื่น ๆ เริ่มหัว “ใจเต้น” เมื่อได้เห็น R และนางเอกมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และนั่นทำให้คอร์ปส์เข้าใกล้ความเป็นมนุษย์มากขึ้น)
ในท้ายที่สุด บรรดาคอร์ปส์ที่เปลี่ยนแปลงตัวเองตาม R ก็ได้เข้าร่วมกับมนุษย์เพื่อป้องกันเมืองจากการโจมตีของโบนีย์ แต่เรื่องไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะ พ่อของนางเอกซึ่งเป็นหัวหน้ากองกำลังทหารมนุษย์ยังไม่ยอมรับว่าคอร์ปส์เปลี่ยนไปแล้ว กล่าวอย่างถึงที่สุด การที่คอร์ปส์เข้ามาช่วยเหลือมนุษย์ในการต่อสู้กับโบนีย์นั้นยังก่อให้เกิดความน่าสงสัยหวาดระแวงมากกว่า เพราะเป็นพฤติกรรมที่อยู่นอกเหนือไปจากระบบความเข้าใจ หรือระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างผีดิบและมนุษย์ที่มีอยู่เดิม
ดังนั้นแม้ว่า R จะช่วยชีวิตนางเอก คอร์ปส์จำนวนมากจะเข้าช่วยต่อสู้กับโบนีย์ พ่อของนางเอกก็ยังจะฆ่า R อยู่ดี จนกระทั่งลั่นกระสุนใส่ R และพบว่า R มีเลือดไหล การที่คอร์ปส์มีเลือดไหลและเจ็บปวดนั่นเองทำให้พ่อนางเอกยอมรับว่าคอร์ปส์เปลี่ยนแปลงได้ ตรงนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการวิเคราะห์
กล่าวคือ การเอื้ออาทรที่มากขึ้นของทุนนิยมที่มีหัวใจนั้นอาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุดในทัศนะของผู้ประพันธ์บทภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่การที่ต้องยอมสละตนเองให้เจ็บปวด (Sacrifice) เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสมานความแตกแยกระหว่างทุนนิยมและผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทุนนิยมต้องพร้อมที่จะอดทนต่อความรุนแรงของฝ่ายต่อต้าน จุดสรุปสุขสันต์ (Happy ending) ของภาพยนตร์เรื่องนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นจากความรักข้ามความขัดแย้งระหว่างผีดิบและมนุษย์แต่อย่างไร หากอยู่ที่ความเจ็บปวด การสละตนเองอย่างอดทนอดกลั้นโดย R ที่มีต่อมนุษย์ทุกคนต่างหาก (เพราะหาก R อดทนต่อนางเอกเพียงคนเดียว แล้วกระโดดกัดคอพ่อนางเอกเพราะโกรธที่โดนยิงใส่ เรื่องก็คงไม่จบสวยงามเช่นนี้)
เอาเข้าจริงแล้ว แม้หนังเรื่องนี้จะมองผ่านแว่นตาของ ชิเชค ได้เป็นอย่างดี แต่ในทางกลับกันก็จะพบว่า มุมมองของภาพยนตร์กลับไม่ได้ให้ข้อสรุป หรือจุดยืนเกี่ยวกับทางออกของความขัดแย้งระหว่างทุนนิยมและผู้ที่ได้รับผลกระทบแบบชิเชค แต่อย่างไร เพราะ ชิเชค เองเป็นคนที่ต่อต้านแนวคิดเกี่ยวกับการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างพหุวัฒนธรรมและอดทนอดกลั้น แต่กลับเห็นด้วยกับแนวทางของพ่อนางเอกมากกว่า นั่นคือ ยิ่งหัวผีดิบแ่งให้หมด น่าจะดี ท้ายสุดนี้ผมคิดว่า ไม่ว่าผู้อ่านทุกท่านจะเห็นด้วยหรือไม่กับชิเชค บทความนี้หรือผู้ประพันธ์ภาพยนตร์ แต่ก็คุ้มค่าที่จะดูหนังเรื่องสักรอบโดยเฉพาะถ้าคุณเป็นคนที่สนใจในเศรษฐศาสตร์การเมือง ยิ่งต้องดูครับ
ที่มา.Siam Intelligence Unit
////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น