โดย สรินณา อารีธรรมศิริกุล
นักวิจัยอิสระ สหรัฐอเมริกา
ชื่อบทความ “กระแส Insourcing: การย้ายฐานการผลิตกลับอเมริกา”
ตอนที่คนไทยกำลังดีเบตกับนโยบายการขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในช่วงปลายปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกาก็กำลังตื่นเต้นกับกระแสที่เรียกว่า “Insourcing”
ในสองสามทศวรรษที่ผ่านมา การลงทุนของบริษัทสัญชาติอเมริกันเป็นการลงทุนแบบไหลออกจากประเทศไปสู่ประเทศที่มีค่าแรงงานถูกกว่า เช่นประเทศเพื่อนบ้านอย่างเม็กซิโก (ที่มีสัญญาการค้าเสรีนาฟตาด้วยกัน) ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงจีน และอินเดียตามลำดับ ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า “Outsourcing” คือการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ
แต่ที่บอกว่าน่าตื่นเต้นก็เพราะว่า กระแส “Outsourcing” ในสหรัฐอเมริกานั้นกำลังเปลี่ยนทิศย้อนศรกลายเป็นกระแส “Insourcing” แปลตรงตัวก็คือการลงทุนที่มีฐานการผลิตภายในประเทศ
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็หมายความว่า บริษัทที่เคยย้ายโรงงานไปผลิตในจีนหรือประเทศอื่นๆ มีแนวโน้มกำลังจะย้ายกลับมาผลิตในสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง แม้ว่าจะไม่ได้ย้ายฐานการผลิตกลับมาทั้งหมดก็ตาม แต่เทรนด์ “Insourcing” ก็สร้างความคาดหวังทางบวกให้กับอนาคตตลาดแรงงานในสหรัฐอเมริกาได้ไม่น้อย
APPLE และ GE จุดกระแส
คนจุดกระแสคือซีอีโอบริษัท Apple นาย Tim Cook ที่ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ NBC เมื่อปลายปีที่แล้วว่าบริษัทจะย้ายฐานการผลิต “บางส่วน” กลับมาในประเทศ โดยจะมีการลงทุนกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2013
ส่วนบริษัท GE นั้นได้เริ่มย้ายฐานการผลิตสินค้าบางชนิดกลับเข้ามาในอเมริกาก่อนหน้า Apple เป็นที่เรียบร้อยแล้วบทความที่ชื่อว่า “The Insourcing Boom” ของ Charles Fishman ในนิตยสาร The Atlantic ได้เข้าไปสำรวจกระแส Insourcing ในกรณีของบริษัท GE อย่างละเอียด โดยกล่าวว่า GE ได้ย้ายการผลิตเครื่องทำความร้อนประหยัดพลังงานจากประเทศจีนกลับมาในอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว
หลังจากนั้นก็ได้เริ่มการผลิตตู้เย็นแบบสองประตูเป็นสินค้าชิ้นที่สองในสวนอุตสาหกรรม Appliance Park ของบริษัท GE ในรัฐเคนทักกี้ สวนอุตสาหกรรมนี้เกือบจะกลายเป็นโรงงานร้างในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา จากจุดสูงสุดที่เคยจ้างคนงานถึง 23,000 คนในปี 1973 และตกต่ำสุดในปี 2011 เมื่อมีการจ้างคนงานแค่ 1,863 คนเท่านั้น โดยในปีนี้ GE มีแผนเปิดสายการผลิตเครื่องล้างจานรุ่นใหม่ในอเมริกาเป็นสินค้าชิ้นที่สาม
นอกจากนั้น Fishman ยังรายงานอีกว่า บริษัท Whirlpool บริษัท Otis (ผลิตลิฟท์) และ บริษัท Wham-O (ผลิตจานร่อนที่เรียกว่า Frisbee) กำลังจะย้ายฐานการผลิตกลับมาอเมริกาเช่นกัน
ทำไมย้ายกลับมาผลิตในประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่า ?
ไม่ว่าจะธุรกิจใดก็ต้องการลดต้นทุนเพื่อเพิ่มสัดส่วนกำไรด้วยกันทั้งนั้น เมื่อค่าแรงในอเมริกาเริ่มแพงขึ้น บริษัทเหล่านั้นก็จะต้องเริ่มหาแหล่งแรงงานราคาถูกในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ Fishman ได้โต้แย้งว่าการย้ายการผลิตกลับมาในอเมริกาของบริษัท GE กลับทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเหล่านั้นต่ำกว่าจะไปผลิตในจีนเสียอีก
ปัจจัยที่ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิตในประเทศที่มีค่าแรงสูงคือ
(1) การสร้างนวัตกรรมใหม่: ผู้ผลิตต้องออกแบบตัวสินค้าใหม่ให้ประกอบง่ายขึ้นและลดขั้นตอนในการผลิต เพื่อจะได้ใช้พลังงานและแรงงานต่อชั่วโมงในการผลิตให้น้อยลง นั้นก็หมายความว่าบริษัทต้องออกแบบสินค้าและการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
(2) ระยะทาง: น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติมีราคาสูงขึ้นทุกปี ทำให้ค่าขนส่งอย่างเช่นจากประเทศจีนมาอเมริกามีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น เมื่อย้ายมาผลิตในอเมริกาเสียเอง ก็จะทำให้ลดค่าต้นทุนในส่วนนี้ได้ นอกจากนั้น ระยะทางไกลทำให้บริษัทต้องปล่อยสินค้าออกสู่ตลาดช้าและทำกำไรช้าลงกว่าเดิม โดยเฉพาะในยุคสมัยของการแข่งขันสินค้าเทคโนโลยี บริษัทต้องการปล่อยสินค้าให้เร็วขึ้น เพราะ product cycle สั้นลง ระยะทางจึงมีความสำคัญมาก
(3) ลดต้นทุนแฝง: อาทิเช่นอุปสรรคด้านภาษา วัฒนธรรม ทักษะความรู้ที่ต้องฝึกใหม่ในประเทศอื่น และมาตรฐานการควบคุมคุณภาพสินค้า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เพิ่มต้นทุนการผลิตทั้งนั้น เมื่อย้ายกลับมาผลิตในอเมริกาจึงถือเป็นการลดต้นทุนแอบแฝง
นอกจากนี้ สิ่งที่หลายคนมองข้ามคือ การย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ ทำให้ทักษะแรงงานของคนในประเทศเองถูกกัดกร่อนตามกาลเวลา ซึ่งจะกลายเป็นอุปสรรคในการสร้างนวัตกรรมใหม่ในอนาคต
ฉะนั้น คำถามที่ว่าค่าแรงแพงทำให้ผู้ประกอบการต้องย้ายการลงทุนและฐานการผลิตออกนอกประเทศเสมอไปจริงหรือไม่ คำตอบจากกรณีของบริษัท GE คือไม่จริงเสมอไป โดยเฉพาะในการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงและนวัตกรรมใหม่ ธุรกิจต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง ดังนั้น แรงงานในประเทศกำลังพัฒนาอาจไม่สามารถตอบสนองได้ ถ้าเราดูจากอัตราการว่างงานกับระดับการศึกษาในอเมริกา ก็จะเห็นว่าคนที่เรียนสูงกว่ามีทักษะมากกว่าจะมีโอกาสตกงานน้อยกว่า (ดูกราฟที่ 1) ซึ่งก็สะท้อนลักษณะเศรษฐกิจและธุรกิจในอเมริกา
กรณีไทย
ส่วนไทยเป็นกระแส Insourcing หรือ Outsourcing?
เศรษฐกิจไทยยังมีการใช้เทคโนโลยีการผลิตระดับต่ำ มีความต้องการแรงงานไร้ฝีมือสูงและแรงงานเข้มข้น (labor-intensive) จากรายงาน “การขาดแคลนแรงงานไทย” ของธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ชัดว่า ธุรกิจไทยต้องการแรงงานไร้ฝีมือสูง ดังนั้น อัตราการว่างงานของแรงงานประเภทนี้จึงอยู่ในระดับต่ำ ในภาคอุตสาหกรรมเกิดการขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ เช่นธุรกิจด้านการก่อสร้าง จึงมีอุปสงค์ในการจ้างงานแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นมาก
ในทางตรงกันข้าม คนที่จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมีอัตราการว่างงานที่สูงกว่าเพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถสร้างงานเพื่อรองรับแรงงานประเภทนี้ได้เพียงพอ สถานการณ์เช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยขาดการวางแผนด้านนโยบายการศึกษา นโยบายเศรษฐกิจ และนโยบายแรงงานที่สอดคล้องกัน
ดังนั้น ในกรณีไทย ถ้าสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือยังคงมีความต่อเนื่อง โดยที่แรงงานต่างด้าวไม่สามารถเข้ามาเติมเต็มตลาดแรงงานระดับล่าง ผนวกกับถ้าธุรกิจไม่ต้องการหันไปพึ่งเครื่องจักรในการผลิตเพิ่มขึ้น กระแส Outsourcing คือการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านน่าจะมีมากขึ้นในอนาคต
แม้ว่ากระแส Insourcing ในอเมริกากำลังมา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า บริษัทสัญชาติอเมริกันจะหนีกลับบ้านกันไปหมด เช่นในกรณีที่เห็นชัดเจนที่สุดคือบริษัท GM ที่ขาดทุนในประเทศ แต่ขายดีในต่างประเทศ ก็กำลังขยายโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย เพราะมีเป้าหมายบุกตลาดรถกระบะปิ๊กอัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะในไทย อินโดนิเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น ส่วนไทยนั้น Outsourcing น่าจะเป็นกระแสที่กำลังมาถ้าแรงงานในประเทศไม่สามารถตอบสนองความต้องการของธุรกิจได้
ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น