--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

เค.วอร์เตอร์ไม่แฮปปี้ ขอแก้ไข ทีโออาร์ !!?


ธงทอง.เผยเค.วอร์เตอร์ไม่แฮปปี้ถึงขั้นขอแก้ไขทีโออาร์ ระบุทำอีไอเอ-เดินเรื่องเวนคืนที่ดิน

เปิดเวทีชี้แจงรายละเอียดข้อกำหนดและขอบเขตงาน(TOR) โครงการเพื่อการออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ให้กับ 6 กลุ่มบริษัทเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ ทั้ง 9 แผนงาน โดยคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(สบอช.) ตามพระราชกำหนดกู้เงินวงเงิน 3.5แสนล้านบาท

โดย 6 กลุ่มบริษัทเอกชนที่เข้าฟังการชี้แจงประกอบด้วย 1.บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปปอเรชั่น(เค.วอเตอร์) 2.กิจการค้าร่วม ญี่ปุ่น-ไทย 3.ITD-POWERCHINA JV 4.กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ 5.กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเลย์ และ 6.กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที โดยรูปแบบของเป็นการเปิดเวทีในวันนี้ เป็นการให้เอกชนที่ผ่านการคัดเลือกได้สอบถามในประเด็นข้อสงสัยต่างๆที่เป็น 2 เซ็คชั่น คือเซ็คชั่นของข้อกฎหมายและด้านเทคนิค ทั้งนี้ในส่วนของตัวแทนฝ่ายรัฐบาล-คณะกรรมการที่ทำหน้าที่ในการตอบคำถามของเอกชนนั้น ประกอบด้วย นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการเลขาธิการสบอช. นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน นายอภิชาติ อนุกูลอำไพ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณากรอบแนวคิดทางเทคนิค-วิชาการ โครงการก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายปกครอง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกบอ. ไม่ได้มาร่วมงาน เนื่องจากติดภารกิจที่ต่างประเทศ

นายธงทองจันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบในช่วงของเซ็คชั่นตอบคำถามเรื่องข้อกฎหมาย กล่าวอธิบายถึงขั้นตอนในการสอบถามนั้น ทางคณะกรรมการฯขอให้เอกชนส่งคำถามเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า และจะได้รับคำตอบโดยวาจาในชั้นต้นแต่ยังไม่ถือว่าเป็นคำตอบสุดท้าย เพราะคณะกรรมการฯจะทำคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อความรอบคอบเพื่อให้เอกชนนำไปใช้อ้างอิงได้ต่อไป ดังนั้นคำตอบที่มีผลผูกพันคือคำตอบที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการเท่านั้น ทั้งนี้ยืนยันด้วยว่าไม่ปรับตารางเวลาต่างๆที่มีการกำหนดไว้เพราะเราอยู่ในข้อจำกัดของเวลา

สำหรับรูปแบบการชี้แจงนั้น เป็นการให้ทางบริษัทเอกชนเขียนคำถามเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วให้ฝ่ายของคณะกรรมการที่เป็นฝ่ายรัฐซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเป็นผู้ตอบ โดยบรรยากาศในการตอบคำถามล้วนแล้วแต่เป็นการตอบด้วยวาจาเป็นภาษาไทย ดังนั้นจึงทำให้กลุ่มเอกชนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติต้องนำล่ามมาช่วยแปลภาษาเอง

โดยในช่วงของเช็คชั่นแรกนั้น เป็นเรื่องของคำถามด้านข้อกฎหมาย ซึ่งมีคำถามหลากหลาย อาทิ คำถามเรื่องวิธีคิดค่าปรับมีการตั้งวงเงินค่าปรับสูงสุดไว้หรือไม่ โดยประเด็นนี้ตัวแทนจากกฤษฎีกา ตอบว่า ในส่วนของค่าปรับมี 2 กรณี กรณีแรกคือการเรื่องทำวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่มีพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมเป็นสาระสำคัญ ดังนั้นถ้าเอกชนทำไม่แล้วเสร็จจะมีการปรับวันต่อวัน แต่ไม่มีวงเงินค่าปรับสูงสุด แต่จะปรับจนกว่าจะทำจนแล้วเสร็จ และอีกกรณีคือการปรับหากก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ

ส่วนคำถามที่ว่าหากมีกรณีเกิดเหตุสุดวิสัยที่เกิดความเสียหายกับงานจ้างซึ่งไม่ได้เกิดจากผู้ยื่นข้อเสนอ ดังนั้นผู้ยื่นข้อเสนอไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายใช่หรือไม่ โดยเรื่องนี้นายธงทอง เป็นผู้ตอบคำถามว่า ต้องรับผิดชอบ เพราะขอให้มีสูตรคำนวณความเสี่ยงต่างๆบอกเข้ามาด้วย เรียนว่าหลักการทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผู้ยื่นข้อเสนอต้องตรึกตรองด้วยความรอบคอบ ดังนั้นจึงอยู่ในกรอบการใช้เงินสูงสุด(Guaranteed Maximum Price : GMP) ที่ได้ยื่นให้กับคณะกรรมการ จากนั้นเอกชนถามว่าในระหว่างการทำงานหากมีภาษีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจะทำอย่างไร นายธงทอง กล่าวว่า ส่วนนี้ไม่มีการระบุรายละเอียดราคาที่ท่านคิดเป็นราคา GMP ในซองที่รวมราคาภาษีทุกอย่างไว้แล้ว

ส่วนคำถามที่ว่ารายละเอียดเอกสารมีจำนวนมากจะขอขยายเวลาในการยื่นคำถามออกไปหนึ่งสัปดาห์และขยายเวลาอีก 45 วัน เพื่อส่งดีไซน์บิวส์ได้หรือไม่ โดยนายธงทอง กล่าวยืนยันหนักแน่นในประเด็นนี้หลายครั้งว่า ไม่สามารถยืดเวลาให้ได้ เนื่องจากมีการวางกติกาไว้แล้วและมีเงื่อนไขของเวลาตามพ.ร.ก.กู้เงิน อย่างไรก็ตามในการยื่นซองข้อเสนอราคานั้นให้ยื่นซองเดียว ส่วนข้อเสนอด้านเทคนิคให้ทำสำเนามา 25 ชุด และในส่วนของโครงการที่เกี่ยวข้องกับกรมชลประทาน ผู้รับจ้างสามารถขอรับข้อกำหนดเกี่ยวกับการศึกษาความเหมาะสมของกรมชลประทานที่มารับได้ในวันศุกร์ที่ 22 มี.ค. เวลา 10.00-12.00 น. ที่ตึกสบอช. ทำเนียบรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อมาถึงคำถามที่ถามยาวหลายคำถามว่า หากมีการชุมนุมต่อต้านโครงการบางพื้นที่ และหากศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแต่ไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมและใช้เวลาในการศึกษานาน เจ้าของที่ดินไม่ยอมให้เวนคืนหรือเรียกค่าเวนคืนสูง เจ้าหน้าที่ภาครัฐในพื้นที่ไม่ให้ความร่วมมือทำให้เกิดความล่าช้า ฝ่ายรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง โดยเรื่องนี้ นายธงทอง กล่าวว่า เรื่องที่ดินเป็นหลักการที่เคยประชุมกับคณะกรรมการแล้วมีการวางแนวทางระบุอยู่ในทีโออาร์ โดยในกรณีที่เป็นที่ดินของรัฐผู้ว่าจ้าง(รัฐ) ต้องขออนุญาตจากที่ดินของรัฐ ที่รัฐจะดูแลเองในการขออนุญาต แต่หากที่ดินดังกล่าวมีโรงเรียนตั้งอยู่ ดังนั้นหากมีกรณีที่ต้องสร้างโรงเรียนใหม่ชดเชย หรือขยายโรงเรียน ผู้รับจ้าง(เอกชน)ต้องรับผิดชอบ ส่วนกรณีที่เป็นที่ดินของรัฐที่มีบุคคลอาศัยอาจจะโดยทางราชการผ่อนผัน ได้รับใบอนุญาตชั่วคราวหรือบุกรุก แต่พื้นฐานนั้นยังเป็นพื้นที่หลวง ดังนั้นค่าที่ดินผู้รับจ้างไม่ต้องจ่าย แต่หากต้องมีค่ารื้อขนย้ายในการไปตั้งถิ่นฐานใหม่ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบ

นายธงทอง กล่าวอีกว่า กรณีที่เป็นที่ดินที่เอกชนมีกรรมสิทธิ์ครอบครอง ผู้รับจ้างมีหน้าที่เจรจาขอซื้อ และเมื่อซื้อได้เมื่อถึงเวลาโอนก็ให้โอนทอดเดียวจากคนขายมาเป็นสมบัติของรัฐบาลไทย และกรณีที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนที่ไม่สามารถกันตกลงราคาได้ ขอซื้อไม่สำเร็จต้องใช้อำนาจรัฐโดยการออกฎหมายเวนคืนที่รัฐต้องออกค่าชดเชยเวนคืน แต่ส่วนที่รัฐจ่ายชดเชยไปจะนำมาหักออกจากมูลค่าของสัญญา

เมื่อถามถึงคำถามเรื่องค่าปรับกรณีก่อสร้างล้าช้าไม่เสร็จภายใน 5 ปีนั้น ตัวแทนกฤษฎีกา กล่าวว่า การจะกำหนดเวลาเริ่มจะนับจากวันทำสัญญาแล้วนับเวลาไป หากมีความล่าช้าจากผู้ว่าจ้างเองอาจจะมีการอนุมัติขยายเวลาให้ตามความเหมาะสม เมื่อถามถึงข้อเสนอพิเศษได้คิดค่าใช้จ่ายให้หรือไม่ นายธงทอง กล่าวว่า เป็นของแถมที่ผู้รับจ้างประสงค์จะแถมให้ ทางราชการจึงไม่มีงบประมาณให้

สำหรับคำถามที่ว่าถ้าบริษัทเอกชนได้คะแนนเท่ากันคณะกรรมการจะตัดสินอย่างไร โดยนายธงทอง กล่าวว่า เกณฑ์ให้คะแนนมีความละเอียดพอและจะมีความแตกต่างในแต่ละราย แต่ถ้าคะแนนใกล้เคียงมากก็จะมีความรอบคอบในการตัดสินตามหลักวิชาการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อถึงคำถามที่เป็นของบริษัทเค.วอเตอร์ฯ ที่ได้รับการคัดเลือกอยู่ใน10 Module ซึ่งปรากฏว่าเอกสารคำถามมีความหนาจึงทำให้นายธงทอง กล่าวว่า อ่านคำถามแล้วดูเหมือนท่านจะไม่แฮปปี้กับข้อกำหนดบางอย่าง ท่านเคารพผม ผมก็เคารพท่าน และผมยืนยันข้อกำหนดเดิมตามหลักทีโออาร์

"เพราะท่านจะขอเปลี่ยนรายละเอียดในทีโออาร์ เปลี่ยนข้อกำหนด ซึ่งเรายืนยันว่าเราไม่เปลี่ยนทีโออาร์ ผมไม่เปลี่ยนหรอก" นายธงทอง กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากนั้นเป็นเซ็คชั่นของการชี้แจงและถามคำถามด้านเทคนิคซึ่งใช้เวลาในการชี้แจงนานกว่าช่วงของคำถามข้อกฎหมาย เนื่องจากมีรายละเอียดและใช้ศัพท์ทางเทคนิคแต่ละแผนงานทั้ง 9 แผนงาน(Module) ซึ่งนายอภิชาต ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาฯ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า แต่ละแผนงานต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อนตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการทำศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เช่นนั้นอาจจะตกม้าตายได้ ดังนั้นถ้าไม่อยากจะสะดุดหรือผิดระเบียบก็ขอให้ดำเนินการ อีกทั้งถ้าท่านศึกษาและใช้เทคนิคราคาแพงเกินกว่ากรอบวงเงินรัฐบาลก็ไม่มีเงินให้ ไม่ใช่ว่ามี 3,000 ล้านบาท ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้ได้ 3,000 ล้านบาท อย่าเข็นครกขึ้นภูเขา อย่าทำวิลิศมาหรา เพราะท่านอาจจะเสียคะแนน ไม่ใช่ว่าทำได้แค่บนกระดาษแต่ทำจริงๆไม่ได้ อย่างไรก็ตามใครที่มีสิทธิ์อยู่ในหลายแผนงานก็ต้องออกแรงเยอะหน่อย ไม่รู้ว่าเป็นโชคหรือเป็นกรรม เพราะต้องเสนอเข้ามาตามที่เราคัดเลือกไว้ในแต่ละแผนงาน ถ้าท่านไม่เสนอเข้ามาก็ตกไปทันที

Tags : นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น