--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556

เทียบเหตุผล กู้ 2 ล้านล้าน รัฐบาล-ฝ่ายค้าน !!?


เปรียบเทียบเหตุผลรัฐบาล-ฝ่ายค้าน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อนาคตประเทศไทย 2020

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... (พ.ร.บ.กู้เงิน) จำนวน 2 ล้านล้านบาท ในวันแรก (28 มี.ค.) โดยแกนนำรัฐบาลและฝ่ายค้านได้หยิบยกประเด็นสำคัญ ขึ้นมาโต้แย้ง มีดังนี้

"ไม่อยากเห็นการถกเถียงว่าใครจะเป็นคนริเริ่ม"

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องเสนอการลงทุนขนาดใหญ่ของโครงสร้างพื้นฐาน เป็นไปตามการแถลงนโยบายที่มีไว้ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2554 และเป็นไปตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ทั้งนี้ นับตั้งแต่การเกิดปฏิวัติ เมื่อปี 2549 ทำให้ประเทศไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ จึงส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศถดถอยรวมถึงการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยเกือบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมาการลงทุนที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ไม่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัจจุบันต้นทุนการขนส่งประเทศสูงถึง 15% ทำให้ต้นทุนในการไปแข่งขันกับนานาประเทศสูงขึ้น

การวางแนวคิดการลงทุนระยะยาว จึงเป็นการตอบโจทย์การวางยุทธศาสตร์อนาคตของประเทศระยะยาว โดยเฉพาะการเชื่อมโยงประเทศเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงเป็นศูนย์กลางการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนระบบราง การพัฒนาด่านเข้า-ออกประเทศ โดยเชื่อมโยงไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจแนวชายแดน ให้ประชาชนสะดวกในการเดินทาง ลดเวลาและค่าใช้จ่ายการเดินทาง และที่สำคัญจะเป็นการลดต้นของการขนส่งของเกษตรกร ทำให้อาหารสด และมีคุณภาพ ประชาชนที่บริโภคจะได้รับประทานอาหารที่สด

"ยืนยันว่าโครงการกู้เงินตามร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน นี้สามารถติดตามตรวจสอบเพื่อให้โครงการบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ โดยจะไม่ทุจริต คอร์รัปชัน ยืนยันด้วยว่าการดำเนินการของรัฐบาลมีเจตจำนงทำงานเป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชน เพิ่มขีดความสามารถการลงทุน การแข่งขัน เพิ่มรายได้ กระจายรายได้อย่างทั่วถึง ดิฉันไม่อยากเห็นการถกเถียงว่าใครจะเป็นคนริเริ่ม ใครเป็นเจ้าของความคิด อยากให้สภา และประชาชน ร่วมกันสร้างผลงานวางรากฐานอนาคตประเทศลูกหลานของประเทศไทยต่อไป"

"รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยจะไม่ทำ เพราะเป็นการเลี่ยงการตรวจสอบ"
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนการลงทุนเหล่านี้ แต่การลงทุนในโครงการเหล่านี้ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับนี้ เพราะการกู้เงินครั้งนี้เป็นก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็ไม่ได้อยู่แค่เรื่องของการคมนาคม เพราะด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมของเราอยู่ในลำดับกว่า 40 ของโลก แต่องค์ประกอบอื่นเช่น ด้านสาธารณสุขนั้นเราอยู่ลำดับกว่า 70 และด้านการศึกษาเราอยู่ในลำดับเกือบ 90 ซึ่งการพัฒนาประเทศนั้นองค์รวมทุกด้านต้องสอดคล้องกันด้วย ทั้งนี้ เงินจำนวน 2 ล้านล้านบาทนั้น ไม่จำเป็นต้องกู้เพียงอย่างเดียว กฎหมายเกี่ยวกับการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนพึ่งจะผ่านการแก้ไขของสภาไปไม่นาน ถ้าใช้กฎหมายฉบับนี้ตัวเลขการลงทุนก็จะไม่สูงขนาดนี้

"สมัยที่พวกผมเป็นรัฐบาล พวกท่านคัดค้านการกู้เงิน บอกว่าสร้างหนี้ให้ประเทศ กู้มาโกง เก่งแต่กู้ รัฐบาลไปหาเสียงว่าจะไม่กู้ ขึ้นป้ายหาเสียงทั่วประเทศว่าจะล้างหนี้ให้ประเทศ ทุกโครงการที่หาเสียงไว้มีวิธีบริหารจัดการโดยที่ไม่ต้องกู้ แล้วทำไมวันนี้ท่านถึงต้องกู้เงิน วันที่พวกตนออกจากตำแหน่งรัฐบาล หนี้สาธารณะลดลงเหลือเพียง 41% แต่วันนี้ยังไม่มีการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะก็อยู่ที่ 45% แล้ว และที่บอกว่าจะใช้หนี้ภายใน 50 ปีรวมเป็นเงิน 5 ล้านล้านบาท โดยเป็นดอกเบี้ย 3 ล้านล้านบาทนั้น ท่านคำนวณบนฐานของดอกเบี้ยที่ต่ำอย่างทุกวันนี้ไปอีก 50 ปี ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ดอกเบี้ยจะต่ำอย่างนี้ไปอีกถึง 50 ปี ดังนั้นจะไม่ใช่แค่ใช้หนี้ชาติหน้า แต่ต้องเป็นชาติโน้น”

ที่รัฐบาลอ้างว่าต้องกู้เงินเพราะไม่อยากตั้งงบประมาณแบบขาดดุลแล้วขาดดุลอีก เพราะมันดูไม่ดีในสายตาของต่างประเทศนั้น การตั้งงบประมาณแบบสมดุลแต่ไปกู้เงินมา 2 ล้านล้านบาทนั้นต่างประเทศเขาดูออก กลัวว่าจะมีแต่รัฐบาลเองที่ดูไม่ออกแล้วจะมาอ้างในอนาคตว่า จะขอเพิ่มงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อยมากกว่า

วันนี้ทั่วโลกหากเศรษฐกิจไม่วิกฤติจริงๆ ไม่มีใครเขาก่อหนี้ถ้าไม่จำเป็นกันแล้ว ทั้งนี้ รัฐบาลกล้าเขียนลงไปในกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ว่า ตั้งแต่ปี 2556-2560 จะปรับลดการขาดดุลงบประมาณลงเท่าไร และหลังจากปี 2560 แล้วท่านจะจัดงบประมาณแบบสมดุล ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลไม่กล้า รัฐบาลจะไม่ดำเนินการตามนี้ และในที่สุดเงินตรงนี้ก็อาจจะถูกนำไปทำโครงการอื่นที่ไม่คุ้มค่า

"หลักการของประชาธิปไตยนั้น อะไรที่เป็นภาระกับประชาชน ส.ส.มีสิทธิที่จะตรวจสอบได้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในระบบงบประมาณ ดังนั้น หากวันนี้สภ อนุมัติกฎหมายฉบับนี้ ต่อไปรัฐบาลอาจจะเสนอกฎหมายงบประมาณโดยมีเพียงแค่เงินเดือนอย่างเดียว จะไปลงทุนอะไรก็ไปกู้เงิน ส.ส.ไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้เลย ซึ่งรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยนั้นจะไม่ทำแบบนี้ เพราะเป็นการเลี่ยงการตรวจสอบ อย่าเอาภาพสวยๆ มาบังหน้าแล้วก็ไปกู้เงินมากองไว้ให้เป็นภาระของประชาชน ดังนั้น จึงไม่ขอรับหลักการของกฎหมายฉบับนี้"

"รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่เอาใจใส่การชำระหนี้"
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่ผู้นำฝ่ายค้าน แสดงความเห็นคัดค้านก่อนที่จะฟังในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ ทั้งนี้ที่หลายฝ่ายกังวลว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะกู้มาโกง คงเป็นเพราะการขอกู้เงินช่วงที่ผ่านมามีความไม่โปร่งใส เช่น โครงการสร้างอาคารส่วนราชการบางแห่ง โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ของสถานศึกษา ที่พบว่าเมื่อจัดซื้อแล้วนำไปใช้ไม่ได้ ส่วนที่การเสนอขอกู้เงินสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ที่ถูกคัดค้าน เป็นเพราะเป็นโครงการระยะสั้น กระจัดกระจาย รวมถึงไม่มีเอกสารรายละเอียด

"การเสนอร่างกฎหมายให้พิจารณา ที่ถูกมองว่ามีจำนวนหน้าน้อยนั้น แต่ความจริงมีบัญชีท้ายพระราชบัญญัติอีก ซึ่งเนื้อหาไม่ได้น้อยกว่าฉบับเดิมๆ ที่เคยเสนอมา สำหรับสาระที่เสนอขอกู้เงิน เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบรัดกุม ส่วนหนี้ที่จะเกิดขึ้นกับการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่มองว่าใช้ระยะเวลานานถึง 50 ปี แต่เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ที่ได้จากการทำโครงการจะมีอายุยืนยาวนานนับศตวรรษ ส่วนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่เอาใจใส่การชำระหนี้ ที่ค้างมาตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง ที่มียอดดอกเบี้ย และยอดเงินรวมกันมากถึง 7.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่ใช่เป็นการกู้มาโกง และจะดำเนินการให้รอบคอบ เพราะที่ผ่านมาเห็นความไม่รอบคอบ และรัดกุมมาแล้ว"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น