โดย:จิตกร บุษบา
นับวัน ชาวพุทธในประเทศไทยจะค่อยๆ หลงลืมหัวใจของการเป็นชาวพุทธไปแล้วข้อหนึ่ง นั่นคือ การใช้ “ปัญญา” พิจารณาไตร่ตรอง ก่อนที่จะเชื่อ แต่หันไปเทน้ำหนักให้แก่ “ศรัทธา” คือความเชื่อ จนเกิดสำนวน “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” แทนการคิดว่า “ควรใช้ปัญญาไตร่ตรองก่อนที่จะเชื่อ” เพราะการไม่เชื่อไม่จำเป็นต้องแปลว่าลบหลู่ แต่เพราะมันเต็มไปด้วยความไม่น่าเชื่อเท่านั้นเอง
บางอย่างก็ไม่ต้องใช้ความเชื่อ เช่นเรื่อง “พระพุทธเจ้าน้อย”ในโครงการของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์”
ถามว่า เป็นชาวพุทธกันมาทั้งชีวิต เคยได้ยินคำว่าพระพุทธเจ้าน้อยกันมาก่อนบ้างไหม
ผมเองจะอายุ 41 ปี บริบูรณ์ในวันพรุ่งนี้ เพิ่งจะมาได้ยินว่าโลกนี้มี “พระพุทธเจ้าน้อย” ก็ครั้งนี้เอง
หลายคนเข้าใจผิด ว่าคำว่า “พระพุทธเจ้า” นั้น หมายถึงตัวบุคคลหรือเป็นชื่อคน เปล่าเลย พระพุทธเจ้าเป็น “สภาวะ” ของผู้ตัดแล้วซึ่งกิเลสทั้งหลาย หลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการ เป็นผู้ตรัสรู้ อยู่ในภาวะตื่น รู้ และเบิกบานอยู่เป็นนิจ
ในกาลสมัยของพวกเรานั้น เรียกว่าภัททกัปป์ มีผู้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามาแล้ว 4 พระองค์ด้วยกัน คือ พระกกุสันโธ พระโกนาคมน์ พระกัสสปะ และพระโคตมะ หรือสมณะโคดม ก็คือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันที่เรากราบไหว้ผ่านรูปเคารพกันอยู่นี่เอง และในอนาคต จะมีพระองค์ที่ 5 จุติมาเพื่อตรัสรู้ แล้วพามนุษย์ข้ามห้วงกิเลสทั้งหลาย นั่นคือ พระศรีอาริย์
ทว่า ตัวบุคคลนั่น มิได้สำคัญเท่า “พระธรรม” คือ คำสั่งสอน หรือ แนวทางการประพฤติปฏิบัติทั้งกาย จิต ปัญญา
“อานนท์! ความคิดอาจมีแก่พวกอย่างนี้ว่า “ธรรมวินัยของพวกเรามีพระศาสดาล่วงลับไปเสียแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา”
ดังนี้. อานนท์! พวกเธออย่าได้คิดอย่างนั้น.
อานนท์! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่พวกเธอทั้งหลาย. ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ
ทั้งหลายโดยกาลล่วงไปแห่งเรา.
อานนท์! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ;
มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่
อานนท์! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขา, ภิกษุพวกนั้นจักเป็นผู้อยู่ใน สถานะอันเลิศที่สุดแล.
(มหา.ที.๑๐/๑๕๙/๑๒๘)
กระนั้นก็ตาม ด้วยความยึดเหนี่ยวกับตัวบุคคลผู้ให้กำเนิดคำสอน กาลต่อมาได้มีการสร้าง “รูปเคารพ” ขึ้น ในพระพุทธศาสนาของเราก็เรียกว่า “พระพุทธรูป” คือ รูปที่เตือนให้ระลึกนึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นบรมศาสดา เป็นบรมครูเป็นผู้นำทางพ้นทุกข์”
ต่อมาจากรูปเคารพธรรมดาๆ ก็เริ่มสร้างเป็น “ปาง” ต่างๆ
คำว่าปางนั้น หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็น “กิริยา” ของพระพุทธรูป แท้จริงแล้วเป็น “เหตุการณ์” เช่น คำว่าแต่ปางก่อน แต่ปางหลัง แต่ปางกระโน้น ปางจึงมิใช่กิริยา หากแต่เป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งกระโน้น โดยการสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ก็เพื่อดึงผู้คนกลับไปสู่เหตุการณ์สำคัญๆ ในสมัยพุทธกาล เพื่อให้รู้ว่า “หนทาง” ของพระพุทธองค์ จากมนุษย์ธรรมดาๆสู่การเป็น “พระพุทธเจ้า” นั้น ต้องผ่านเหตุการณ์ที่สำคัญอะไรมาบ้าง
ที่สร้างมากที่สุด ก็คือ ปางมารวิชัย พระประธานในอุโบสถของประเทศไทย เกือบๆ จะร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นปางนี้หมดปางมารวิชัยหรือชนะมารนี้ สำคัญมาก ไม่ได้สำคัญเฉพาะการที่รูปแห่งพระพุทธเจ้าแสดงกิริยาเอื้อมพระหัตถ์ขวามาแต่พื้นพระธรณี กิริยานั้นเป็นเพียงเครื่องหมายให้รู้ว่า นี่เป็นปาง คือเป็นเหตุการณ์ตอนไหน ก็ตอนที่พญาวสวัตตีมาร ยกพลมาเพื่อขัดขวางการตรัสรู้ของนักบวชชื่อ “สิทธัตถะ” คือ เจ้าชายหนุ่มผู้ทรงสละโอกาสแห่งการเป็นพระมหากษัตริย์ ละเรือนใหญ่อันแสนสุขสบาย มาเป็นผู้ไม่มีเรือน มาครองผ้าเพียงไม่กี่ชิ้นมาครองชีวิตเรียบง่าย เมื่อมารมาขัดขวาง ท่านก็ทรงเอื้อมพระหัตถ์ขวาแตะพื้นดิน เพื่อให้แม่พระธรณีมาเป็นสักขีพยานแห่งทานบารมีที่เคยกระทำในชาติภพก่อนๆ ให้พญามารประจักษ์ แม่พระธรณีจึงปรากฏกายขึ้นมา แล้วบีบมวยผม จนมีสายน้ำหลากไหลออกมาพัดพาขี้ข้าบริวารของพญามารแตกกระจัดกระจายไป นำความยำเกรง เลื่อมใส มาสู่พญามาร กระทั่งวางอาวุธ เปลี่ยนเป็นกิริยานบไหว้
พระพุทธรูปปางนี้ จึงสะกิดชาวพุทธที่ศึกษา ที่มีปัญญาให้รู้ว่า นี่คือช่วงเปลี่ยนผ่านจากมนุษย์ผู้เป็นทาสกิเลสตัณหาอารมณ์ทั้งหลาย ไปสู่การเป็น “พุทธะ” คือผู้ตรัสรู้ ผู้อยู่เหนือเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย และเนื่องจากท่านเป็นเจ้าแห่งผู้ตรัสรู้ทั้งหลาย เราก็เรียกท่านว่า “พระพุทธเจ้า”
ให้เราตระหนักว่า มนุษย์ผู้หนึ่ง เข้าถึงการ “รู้แจ้งเห็นจริง” ได้ เราทุกคนซึ่งเป็นมนุษย์ ก็พึงเดินตาม “หนทาง” ที่ท่านเดินนำไปและตรัสบอกไว้ เราก็มีโอกาสเข้าถึงการตรัสรู้นั้น หรือเข้าถึงการหลุดพ้นนั้น
ซึ่งพระสมณะโคดม หรือ “โคตมะ” นี้ ท่านออกบวชเมื่ออายุ 29 ปี ตรัสรู้เป็น “พระพุทธเจ้า” เมื่ออายุ 35 ปี ก่อนหน้านั้นท่านดำรงชีวิตแบบเจ้าชายอยู่ในพระราชวัง ชื่อว่า เจ้าชายสิทธัตถะ
ดังนั้น รูปเคารพที่สร้างขึ้นมา แล้วเรียกว่า “พระพุทธเจ้าน้อย” นี้ น่าจะคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง คือ ในยามนั้นท่านมิใช่ “พระพุทธเจ้า” เป็นแต่เพียง “สิทธัตถะราชกุมาร” คือผู้จุติจากสวรรค์มาเกิดในโลกมนุษย์ เพื่อรอวันตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นเพียงแค่ “เจ้าชายน้อย” หรือ “พระโพธิสัตว์น้อย” ยังมิได้เข้าถึงภาวะแห่ง “พระพุทธเจ้า” แต่อย่างใดไม่
รูปเคารพแบบนี้ สร้างกันมานาน หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบในประเทศไทย คือในกรุเจดีย์วัดมหาธาตุ สุโขทัย ต่อมาพบ
อีกองค์ในกรุเจดีย์องค์หนึ่ง ภายในวัดพระธาตุหริภุญไชย ที่จังหวัดลำพูน
ในประเทศไทย มีการจัดสร้างพระพุทธรูปปางนี้ไม่มากเนื่องจากเป็นสายความเชื่อทางมหายาน แต่ก็ไม่เรียกว่า “พระพุทธเจ้าน้อย” เรียกว่าปางประสูติ ซึ่งแปลว่า เป็นเหตุการณ์ตอนพระนางสิริมหามายา ประสูติเจ้าชายสิทธัตถะออกมา ดังนั้น เวลาจัดสร้าง มักไม่สร้างรูปเจ้าชายสิทธัตถะเดี่ยวๆ แต่จะสร้างร่วมกับบริบทของเหตุการณ์ คือ อย่างน้อยๆ ก็จัดสร้างรูปพระนางสิริมหามายาด้วย
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ ก็โปรดให้สร้าง “วิหารประสูติ” ขึ้น เป็นหนึ่งในบรรดาวิหารทิศทั้งหมด ข้างในก็สร้างปางประสูตินี้ขึ้น
ยังมีอีกหลายวัดเก่าแก่ ที่สร้างพระปางนี้ แล้วเรียกเหมือนกันว่าปางประสูติ ไม่มีใครเรียกว่า “พระพุทธเจ้าน้อย” ด้วยว่าท่านยังมิได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในวัยเยาว์ขณะนั้น
1. ผมจึงคิดว่า การที่ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และคณะได้จัดสร้างรูปเคารพของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อแรกประสูติ และสื่อสารมายังสังคมว่าเป็นรูป “พระพุทธเจ้าน้อย” จึงอาจสร้างการเรียนรู้ที่ผิดให้แก่สังคมได้ ควรที่จะเรียกว่า พระพุทธรูปปางประสูติ (เหตุการณ์เมื่อครั้งที่ พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ประสูติ) จะถูกต้องกว่า เนื่องจากโลกนี้ ยังไม่มีผู้ตรัสรู้เป็น “พระพุทธเจ้า” ตั้งแต่แรกเกิด หรือขณะยังอยู่ในวัยเยาว์ จึงไม่มีพระพุทธเจ้าน้อยในโลก
2. อย่าไปอ้างถึงคำว่า Baby Buddha เลยครับ เพราะนั่นก็แปลว่า พระพุทธเจ้าในวัยทารก ซึ่งก็ตรงกับคำว่าปางประสูติ คือ เมื่อครั้งแรกประสูตินั่นเอง เรามีคำไทยเรียกอยู่แล้ว และตรงกับความเป็นจริงด้วย จะประดิษฐ์คำว่า “พระพุทธเจ้าน้อย” มาให้คนยิ่งเขลา ยิ่งเข้าใจผิดกันไปไย
3. พร้อมกันนี้ ก็ควรสร้างความเข้าใจที่ตรงกันด้วยว่า บุญแห่งการระดมปัจจัยไปบูรณะสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า มิใช่เกิดจากการบูชารูป “พระพุทธเจ้าน้อย” นี้ หากแต่อยู่ที่การได้ “ร่วมกันสละซึ่งปัจจัยของตน” นำไปเป็นเครื่องเกื้อหนุนให้การบูรณะปฏิสังขรณ์ “สถานที่เตือนใจ” อันเป็น “เจติยะ”หรือ “เจดีย์” ชนิดหนึ่ง ในการรำลึกถึงพระพุทธองค์และหนทางที่ทรงตรัสชี้ไว้นั้นต่างหาก ที่เป็นบุญอันประเสริฐ ส่วนรูปเคารพนี้ ก็เป็นเพียง “ที่ระลึก” ในการร่วมกันระดมทุนครั้งนี้ต่างหาก ไม่ใช่จุดมุ่งหมายใหญ่ของการกราบไหว้ หรือปลายทางของการระดมทุน ในเมื่อเรามี “สถานที่” (place) เป็นเครื่องเตือนใจให้รำลึกอยู่แล้ว จะนำรูปเคารพ (Subject) ไปบดบังหรือแย่งชิงความสำคัญจากสถานที่เดิมแท้เสียทำไม
4. อย่าให้รูปเคารพนี้ เป็น “อัตตาของเจ้าภาพ”เป็นการประกาศความยิ่งใหญ่ของผู้จัดสร้าง ในพระพุทธศาสนา มิได้สอนให้คนปะพอกอัตตาให้ใหญ่โต มีแต่สอนให้ฝึกสลายอัตตา นั่นรวมไปถึงผู้ร่วมทำบุญ ก็ควรมีจิตอนุโมทนาต่อเป้าหมายที่ถูกต้อง คือ การบูรณะปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า มิใช่ทำบุญเพื่อบูชา “พระพุทธเจ้าน้อย” หรือบูชา “นางสุดารัตน์”นางสุดารัตน์เป็นเพียงผู้ริเริ่ม และอาศัยบารมีของตนดึงดูดผู้คนฝ่ายต่างๆ มาร่วมด้วย เพื่อให้การหาทุนไปบูรณะครั้งนี้ เป็นผลสำเร็จ และเปิดโอกาสให้ผู้มีศรัทธาได้มาร่วม พูดกันตามตรง ลำพังเงินของนางสุดารัตน์ที่มี กับพรรคพวกอีกไม่กี่คน ก็เกินพอที่จะใช้ในการบูรณะ แต่การดึงเอาเรื่องนี้มาเป็นกิจกรรมประกอบการแห่แหนและทำพิธีให้เอิกเกริกขึ้น มองด้านงามก็คือ สุดารัตน์ มีใจเป็นกุศล เปิดทางให้คนทั่วไปได้มาร่วมกันทำ แต่ต้องระมัดระวังวิธีการกระทำ ว่าอาจจะเหวี่ยงไปในทางร้ายได้ หากทำเกินงาม หรือทำด้วยใจที่ไม่บริสุทธิ์ ก็เป็นการเอากิจกรรม (Event) นี้มาเป็นเครื่องมือกู้ชื่อในทางการเมือง คือ หมายเอาบุญล้างตัว จึงทำเงียบๆ ไม่ได้เพราะพลังแห่งการชะล้าง ต้องมาจากการรับรู้ของคนในสังคมซึ่งเป็นคู่กรณีทางการเมือง อันเป็นมลทินมัวหมอง
5. ชาวพุทธทั่วไปก็อย่าเสพติดบุญใหญ่ จนลืมการบำเพ็ญบุญเล็กๆ น้อยๆ ใกล้ตัว คนไทยพุทธชอบแห่ไปทำบุญกับพระดังหรือวัดดัง ทิ้งขว้างวัดในชุมชนของตนเองให้สกปรกรกร้าง คนโบราณทำบุญในวัดกลางชุมชนของตน ไม่ทิ้งวัดในหมู่บ้านตนไปวัดอื่นพร่ำเพรื่อ ทั้งนี้ พระเณรก็ได้รับการอุปถัมภ์พร้อมๆ กับคุมประพฤติจากชุมชน ชุมชนก็ได้รับอานิสงส์จากพระเณรที่ดี
เสาะหาความรู้ เป็นแบบอย่างของการประพฤติ และดูแลวัดให้สะอาดสะอ้านสวยงาม เพื่อต้อนรับญาติโยมในทุกวันพระ
ฝึกแสดงธรรมให้ฉะฉานลุ่มลึก โยมก็ได้พัฒนาพระ พระก็ได้พัฒนาโยม
6. จากกรณี “พระพุทธเจ้าน้อย” นี้ น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีเรื่อง “ของที่ระลึก” จากงานบุญ ว่าควรปล่อยวางการสร้างวัตถุ มาสู่การสร้างปัญญากันเสียที พระพุทธรูปจะเต็มโลกแล้วครับ แต่ “หนังสือธรรม” หรือ “เสียงธรรม” ยังขาดแคลน คนเอาแต่เคารพวัตถุ จนย่อหย่อนทางปัญญา แล้วจะไปถึงการมีศีล มีธรรม กระทั่งตรัสรู้กันได้เมื่อไหร่ เลิกสร้างวัตถุที่ระลึกที่เป็นเพียงเครื่องกราบไหว้ มาสู่สิ่งที่เป็นเครื่องประกอบการศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ถ่องแท้กันดีกว่า แทนการสร้างพระพุทธเจ้าน้อย มาสร้างพระไตรปิฎกฉบับย่อ ชาดกฉบับต่างๆ หนังสือรวบพระธรรมเทศนาของธรรมจารย์รูปต่างๆ มาจัดพิมพ์เผยแพร่ หรือทำเป็นซีดีเสียงสำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ที่สายตาฝ้าฟาง คนเจ็บคนไข้ ผู้พิการทางสายตา จะเกิดประโยชน์ยิ่งกว่าอย่างมหาศาล
บ้านเรา นักการเมืองชอบเอาศาสนาเป็นบ่อชุบตัว
ความที่จิตใจมิได้คิดสร้างบุญอันบริสุทธิ์ บางครั้งจึงมุ่งไปที่รูปแบบ คือ ต้องทำให้ใหญ่โต ให้มีมูลค่ามหาศาล จนบางครั้งพากันออกนอกลู่นอกทาง นอกความมีสติปัญญาไปได้ง่ายๆ
ถึงเวลาที่จะต้องจัดการกับความอยากของตนให้เป็น “สัมมา” คือทำให้มันธรรมดา เรียบง่าย แต่มีความหมายในการ “สร้างคน-สร้างปัญญา” มากกว่าสร้างชื่อของตน ทั้งคนนำบุญและคนสมทบทุนแล้วล่ะครับ
ที่มา.นสพ.แนวหน้า
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น