บันทึกการเดินทาง เมื่อไปสัมผัสมหานครที่ได้ชื่อว่า “ปารีสแห่งตะวันออก” เป็นครั้งแรก
หลังเครื่องบิน “เทคออฟ” ออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง เวลาดูจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพียงไม่ทันไร กัปตันก็ประกาศผ่านพีเอให้ผู้โดยสารเตรียมตัวสำหรับการ “แลนดิง” ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า ณ สนามบินผู่ตง แห่งมหานครเซี่ยงไฮ้
ทั้งที่เป็นลูกจีน แต่น่าเสียดายว่าผมไม่คุ้นเคยกับผืนแผ่นดินจีนแม้แต่น้อย หากเปรียบเทียบกับการเดินทางท่องไปในทวีปอื่นๆ ทั้งในอเมริกา ยุโรป และดินแดนดาวน์อันเดอร์ ผมไม่เคยย่ำเท้าท่องเมืองไหนๆ ในประเทศจีน อาจจะเคยเฉียดๆ อยู่บ้างก็แค่ “เซินเจิ้น” อันเป็นผลพวงจากทริปไปฮ่องกงเท่านั้น
ฟังแล้วดูช่างน่าหมั่นไส้ไม่น้อย แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ
และแล้วโอกาสเยือนจีนก็มาถึง แถมเป็นเซี่ยงไฮ้ (Shanghai) มหานครที่ผ่านกระบวนการ “ทำให้ทันสมัย” มาแล้ว โดยเฉพาะในยุคสมัยแห่งจักรวรรดินิยม ที่ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ต่างทุ่มทรัพยากรเข้ามาลงทุนค้าขาย และแผ่ขยายอิทธิพลออกเป็นเขตต่างๆ ทำให้ที่นี่เป็นศูนยกลางทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ของจีน ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา สมกับฐานะ “เมืองบนทะเล” หรือ City on the sea ตามความหมายของชื่อเมืองนี้
ด้วยสถาปัตยกรรมอันสวยงาม ทั้งแบบเรอเนสซองส์ และอาร์ตเดโก โดยเฉพาะกลุ่มอาคารขนาดใหญ่อายุร่วมร้อยปี ริมแม่น้ำหวงผู่ทางฝั่งซ้าย ที่เรียกว่า เดอะ บันด์ (The Bund) หรือหาดไวทัน (Wai Tan) ถึงขนาดทำให้บางคนเรียกขานมหานครแห่งนี้อย่างไม่ลังเลว่า “ปารีสแห่งตะวันออก”
แม้จะมีหลายคนไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะบรรดาเพื่อนสนิทของผม ที่พวกท่านๆ เหล่านั้นผ่านประสบการณ์ในปารีสหรือนิวยอร์กมาอย่างโชกโชน ออกอาการส่ายหัว กับสถานะดูดีของ “เซี่ยงไฮ้” ที่ว่า แต่สำหรับผม นี่คือประสบการณ์ใหม่ที่น่าลิ้มลองทีเดียว
“เซี่ยงไฮ้” (หรือ “ชางไห่” ถ้าจะออกเสียงให้ใกล้เคียงกับคนพื้นเมือง) อยู่ในไทม์โซน GMT+8 เวลาเร็วกว่าไทยเพียงแค่ 1 ชั่วโมง ดังนั้น เมื่อปราศจากอาการ “เจ็ท แล็ก” (Jet Lag) ทันทีที่เช็คอิน ณ โรงแรมใหม่ในอาคารเก่าแก่
“Peace Hotel” ซึ่งตั้งอยู่ ณ เลขที่ 20 ของ เดอะ บันด์ เพียงแค่ล้างหน้าล้างตา เราก็เดินออกจากโรงแรมที่พัก ลุยยามค่ำกันเลย
อากาศช่วงต้นปีของเซี่ยงไฮ้ค่อนข้างหนาวเย็นอยู่สักหน่อย แต่อุณหภูมิแค่ 3-4 องศาเซลเซียส มิใช่อุปสรรคสำหรับเหล่านักเดินทางที่พร้อมจะออกมาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ สำหรับผม ไม่ว่าจะเป็นราตรีไหนๆ ในต่างแดน ย่อมยาวนานเสมอ
ค่ำคืนแรก เราตัดสินใจไปหาไวน์ดีๆ ดื่มกัน ณ House of Roosevelt ซึ่งเป็นร้านอาหารที่ตั้งอยู่บนชั้นบนสุดของอาคารเก่าแก่ริมชายหาด มองจากวิวออกไปทางฝั่งแม่น้ำ จะเห็นเขตผู่ตง ที่เปล่งแสงไฟเจิดจ้าออกมาอย่างตระการตา สะท้อนผ่านผืนน้ำอย่างงดงาม
ไกลออกไป อาคารที่เตะตาเป็นพิเศษ หนีไม่พ้น “หอไข่มุก” ซึ่งกลายเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของที่นี่ไปเสียแล้ว
เมื่ออยู่ภายในห้องอาหาร ที่ปล่อยฮีทเทอร์แบบทำให้สุก อากาศร้อนจนต้องถอดแจ็คเก็ทตัวหนา ดูจากไวน์ลิสต์ของ House of Roosevelt ที่บริกรยื่นให้ ต้องชมว่าสมกับราคาคุย เพราะที่นี่รวบรวมไวน์ชั้นดีได้มากจริงๆ แต่อาจจะต้องทำใจสักหน่อย จากราคาที่สูงกว่ากรุงเทพราว 30-40 เปอร์เซ็นต์ โดยไวน์ชั้นดีทั่วไป เกรด DOCG ของอิตาลี อยู่ราว 1000-1500 หยวน ยังไม่ต้องพูดถึงระดับซิกเนเจอร์ อย่าง “ซาซิกายา” “ติญาเนลโล” ที่พุ่งขึ้นไปสูงกว่านั้นอีกหลายเท่า
เมื่อเป็นร้านอาหารชั้นนำ ซอมเมอลิเยร์ของที่นี่ จึงค่อนข้างเป็น “มืออาชีพ” ในการให้คำแนะนำอาหารที่รับประทานคู่กับไวน์ นอกจาก ตับห่าน (Foie Gras) รสเลิศ ที่เสิร์ฟพร้อมกับเกลือหลากสีจากแหล่งผลิตชั้นดีของโลก ซึ่งมีให้เลือกถึง 8-9 อย่าง แล้วเรายังมี “Cold cut” แบบเรียบง่ายอีกจาน นั่นทำให้มื้อแรกของเราในนครเซี่ยงไฮ้ มีกลิ่นอายความเป็น “ปารีสแห่งตะวันออก” ขึ้นมาไม่น้อยทีเดียว
เซี่ยงไฮ้ยามค่ำคืนนั้น ต้องถือว่าไม่ธรรมดา เพราะเต็มไปด้วยสีสัน ทั้งที่บริเวณลานกว้างริมฝั่งแม่น้ำ หรือบนถนนสายนานจิง หรือ “นานจิง ลู” ที่เชื่อมจากเดอะบันด์ยาวไปทางตะวันตกหลายกิโล จนถึงย่านชอปปิงชื่อดัง ที่มีสินค้าแบรนด์เนมมากมาย เต็มไปด้วยผู้คนออกมาเดินกันอย่างล้นหลาม
ในอาคารฟูดฮอลล์ของย่านนี้ มีร้านอาหารหลากหลาย ทั้งตลาดของสด ของแห้ง จำพวกเป็ดรมควัน ขาหมูยัดไส้ ฯลฯ รวมไปจนถึงร้านอาหารแบบต่างๆ ทั้งจีน อิตาเลียน นานาชาติ ทว่า ร้านอาหารไทยร้านเดียวเท่านั้นที่ดูจะมีผู้คนให้ความสนใจมากที่สุด สังเกตจากคิวรอจำนวนมาก มากกว่าทุกๆ ร้าน ผมลองนับจำนวนหัวที่นั่งรอยืนรอ (อย่างอดทน) ประมาณ 100 คนเลยทีเดียว
บนถนนคนเดิน มีกิจกรรมหลากหลาย ตั้งแต่เต้นแอโรบิค ดานซ์ , ลีลาศกับเครื่องเสียงราคาถูก กับกิจกรรมร้องเพลงคาราโอเกะ ที่ไม่มีมอนิเตอร์หรือจอทีวีใดๆ แต่ใช้วิธีการตั้งแผ่นฟลิบชาร์ท แล้วเปลี่ยนแผ่นเพลงที่ร้องกันแบบ “แมนนวล” ส่วนแต่เพลงที่ร้องนั้น บางครั้งก็ไม่มีดนตรีหรืออะไรเสริม มีผู้นำคนหนึ่ง ชี้ไม้ไปบนเนื้อเพลง แล้วส่งเสียงร้องกันแบบลุ่นๆ แต่การร้องรวมหมู่แบบนี้ ก็ให้ความเพลิดเพลินไปอีกแบบ
คาดคะแนด้วยสายตา ผู้คนบนบาทวิถี ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากเมืองอื่นๆ ของจีน หรือจากประเทศอื่น อย่างที่ทราบกันดีว่า ในจำนวนพลเมือง 20 ล้านของเมืองนี้ มีคนท้องถิ่นเดิมๆ เพียงส่วนน้อยเท่านั้น
และอย่าคิดว่า ด้วยความเป็นคนเอเชียเหมือนกัน มีเชื้อสายจีนเหมือนกัน จะทำให้เราปะปนกลมกลืนกับคนท้องถิ่นที่นี่ได้ เพราะเหล่าผู้เสนอขายสินค้าและบริการบนบาทวิถีนั้น สามารถ “วิเคราะห์” เราได้อย่างรวดเร็ว จากเสื้อผ้า การแต่งกาย หรือแม้กระทั่งท่าเดิน
“นวดมั้ยครับ คุณมาจากไหน” กระทาชายคนหนึ่งย่างอาดเข้ามาหาอย่างมั่นใจ พร้อมภาษาอังกฤษแปร่ง เขายื่นแผ่นกระดาษขนาดใหญ่กว่านามบัตรมาให้ รายละเอียดในนั้น นอกจากชื่อ ปีเตอร์ ชาน แล้ว ก็มีภาพของอาหมวยนุ่งน้อยห่มน้อยรายล้อม
“ร้านนวดอยู่ตรงนี้ ไม่ไกล ชั่วโมงละ 100 หยวน” ผมจำคำแนะนำได้ว่า ห้ามไปข้องแวะเด็ดขาด เพราะอาจจะโดนชาร์จค่านั่นค่านี่จนหมดตัว สาเหตุหลักๆ มาจากภาษาที่สื่อสารกันไม่เข้าใจ
“หากต้องไปนวดที่โรงแรมคิดชั่วโมงละ 200 หยวน ส่วนที่เหลือคุยกันเอง....” ปีเตอร์ โต้ตอบมาทันที พร้อมเร่งฝีเท้าตามมา ขณะที่ผมเร่งเท้าให้เร็วขึ้นเรื่อยๆ
“ไม่สะดวกตอนนี้ ไม่เป็นไร สะดวกตอนไหนก็โทร.มานะ ตามเบอร์โทรศัพท์บนนามบัตร ตลอด 24 ชั่วโมง” เขาผละจากไปในที่สุด แต่ไม่วายทิ้งประโยคที่แสดงความหวังแบบมืออาชีพ ขณะที่ผมอดคิดตามไม่ได้ว่า ด้วยความทันสมัยของ พีซ โฮเต็ล ที่ปรับปรุงใหม่จนทันเปิดใช้งาน “เอ็กซ์โป” เมื่อครั้งที่ผ่านมา ซึ่งต้องใช้การ์ดโรงแรม เพื่อแตะบนเซนเซอร์ในลิฟต์ จากนั้นจึงจะกดชั้นที่ต้องการได้ แล้วเขาจะส่งบริการไปถึงห้องพักของแขกได้อย่างไร
นอกจากเรื่องที่ว่าแล้ว ความน่าสนใจยังอยู่ที่ทักษะภาษาอังกฤษของ ปีเตอร์ ชาน ซึ่งคล่องแคล่ว และว่องไว กลายมาเป็นตัวอย่างชั้นดีที่ทำให้ผมไม่ประสบภาวะ “Lost in Translations” ในมหานครแห่งนี้ ทั้งที่คนส่วนใหญ่ใช้ภาษาแมนดารินเป็นหลัก และมีภาษาถิ่น “ชางไห่นีส” อีกส่วนหนึ่ง แม้จะมีคำแนะนำให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้ประโยคสนทนาง่ายๆ ไว้บ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ด้วยความพยายามในการสื่อสารนั่นแหละ ที่ทำให้ทุกอย่างลงเอยอย่างง่ายดาย
ดังกรณีของร้าน Waya Udon & Cafe คุณป้าเจ้าของร้านพยายามสื่อสารว่า เครื่องดื่มที่สั่งไปนั้น จะเอาแบบร้อนหรือเย็น เธอพูดเป็นภาษาแมนดาริน พร้อมกับชี้ไปยังตัวหนังสือบนเมนู ที่ใกล้ๆ กันนั้น นอกจากตัวภาษาจีนแล้ว ยังมีภาษาอังกฤษคำว่า Hot และ Cold กำกับอยู่ใกล้ๆ แค่นั้น ก็ใช้สื่อสารกันได้แล้ว
ความมหัศจรรย์ใจบนบาทวิถีในนครเซี่ยงไฮ้ ณ ที่ซึ่งมีทั้งตึกเก่าและใหม่ปะปนกันไป เป็นส่วนที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่นักเดินทาง เพราะเป็นที่ซึ่งโลกใหม่กับโลกเก่าโคจรมาปะทะสังสรรค์กัน เหลื่อมซ้อนกัน และบางส่วนก็ต่างคนต่างอยู่อย่างน่าเฝ้าดูไม่รู้เบื่อ
ไม่ว่าจะเป็นตึกแถวแบบเก่า ขนาดไม่เกิน 3 ชั้น ที่เรียกกันว่า Shikumen ซึ่งเป็นแบบดั้งเดิมของชาวจีน หรือตึกแบบอาร์ตเดโก ที่ลงทุนโดยมหาเศรษฐีจากต่างแดน หรือจะเป็นสภาพที่อยู่อาศัยแบบเสื่อมโทรมในพื้นที่ห่างจากความเจริญเพียงนิดเดียว
สำหรับ Shikumen นั้น บางแห่งปรับปรุงให้ทันสมัย โอ่อ่าหรูหรา ตามสถานภาพของผู้อาศัย แต่ระหว่างตะลอนไปในซอกซอยต่างๆ ของมหานครแห่งนี้ เราจะได้พบอาคารชิกุเมนที่ทรุดโทรม หลายแห่งไม่มีแม้กระทั่งไฟฟ้าหรือฮีตเตอร์ใช้ เหตุเพราะผู้อาศัยยากจนข้นแค้นเสียเหลือเกิน
อย่างไรก็ดี นับแต่จีนเปิดประเทศ ในมหานครเซี่ยงไฮ้ มีการบูรณะตึกใหม่อยู่ตลอดเวลา แต่หลักๆ จะเน้นให้อยู่ในสภาพเดิม หลายแห่งมีจารึกสลักไว้อย่างหนักแน่นว่า เป็น “สถาปัตยกรรมเชิงมรดก” (Heritage Architecture) พร้อมประวัติการสร้างอาคารคร่าวๆ ซึ่งดูแล้ว ก็ชวนให้รู้สึกสังเวชใจ เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเรา ที่ผู้ใหญ่ในบ้านนี้เมืองนี้ มุ่งหน้าจะทุบทำลายอาคารเก่า ด้วยเหตุผลของการพัฒนาอย่างไร้รสนิยมเสียทั้งนั้น
ตึกในกลุ่ม เดอะบันด์ ที่มีโรงแรมพีซโฮเต็ล เป็นไฮไลต์นั้น ก็เพิ่งบูรณะใหม่เมื่อปี 2007 และเสร็จสิ้นในปี 2010 ใช้เวลาไม่เกิน 3 ปีตามกฎหมายท้องถิ่น ตึกนี้มีรูปทรงเป็นอาร์ตเดโก ภายในตกแต่งอย่างหรูหรา บริเวณห้องโถงเป็นห้องแบบ 8 เหลี่ยม ผู้บริหารรู้จักเลือกนำเอาผลงานประติมากรรมของ Xie Wen Tao มาประดับไว้อย่างงามสง่า ประติมากรรมนี้มีการใช้สัญลักษณ์ของความเป็นจีน ผสมผสานกับคติความเชื่อในเรื่องโชคลางอย่างลงตัว
มาจนถึงเวลาที่เขียนต้นฉบับชิ้นนี้ ผมยังสืบค้นไม่ได้ว่า เหตุใดโรงแรมคาเธย์เดิม ถึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Peace Hotel ทั้งที่ ที่นี่คือสถานที่หรูหรา เต็มไปด้วยบรรยากาศแบบ Jazz Age และยังเคยเป็นที่พักของบุคคลสำคัญ อย่าง ชาร์ลี แชปลิน และ โนเอล โคเวิร์ด นักเขียนนวนิยาย ซึ่งนั่งลงเขียนเรื่อง Private Lives ที่นี่มาแล้ว
แต่เข้าใจได้ว่า นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ถือเป็นช่วงสิ้นสุดของยุคเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นได้ยึดครองที่นี่จนสิ้นสุดสงคราม ก่อนจะตกอยู่ในความดูแลของพรรคคอมมิวนิสต์ในเวลาหลังจากนั้น การเปลี่ยนมือนักลงทุนหลายครั้ง ทำให้ทุกวันนี้กลายมาเป็นโรงแรมสันติภาพ เมื่อเครือ “แฟร์มอนต์” เข้ามาบริหาร หรือว่าเคยเกิดอะไรขึ้นที่นี่
นอกจากสภาพการตกแต่งภายในที่พยายามรักษาบรรยากาศแห่งความเป็นอดีตเอาไว้ให้มากที่สุด อีกส่วนหนึ่งที่บ่งบอกถึงกลิ่นอายเก่าๆ คือวงดนตรีแจ๊สแบบโบราณ ที่บรรเลงเป็นประจำที่นี่ ซึ่งถือเป็นหน้าตาสำคัญของมหานครแห่งนี้เช่นเดียวกัน
ที่ผ่านมา ผมเคยพำนักในปราสาทเก่าแก่ของยุโรปมาแล้ว แต่สำหรับการพักผ่อนที่ พีซ โฮเต็ล แห่งนี้ ท่ามกลางความสะดวกสบายขององค์ประกอบทั้งหมดเท่าที่โรงแรมชั้นดีพึงจะมี แต่น่าแปลกใจว่า กลับมิอาจหลับใหลลงได้ อาจจะด้วยรับรู้สัมผัสถึงกระแสพลังภายในที่ไหลเวียนไปมา ราวกับว่าที่นี่ยังมีเรื่องราวอีกมากมายบรรจุไว้
เป็นเรื่องของกาลเวลาในสถานที่ และสถานที่ในกาลเวลา ที่บังเอิญตัวผมไปคาบเกี่ยวอยู่ในจังหวะนั้นพอดี.
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น