แหล่งข่าวจากวงการทนายความ เปิดเผยว่า การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในสำนวน แต่ละคดีไม่เกี่ยวข้องกัน ฉะนั้นจึงไม่สามารถนำคำพิพากษาของคดีหนึ่งที่มีข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง มาเป็นบรรทัดฐานของอีกคดีหนึ่ง ซึ่งมีข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งได้
อย่างกรณีที่ศาลแพ่ง (รัชดาภิเษก) เพิ่งมีคำพิพากษาให้บริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จ่ายสินไหมทดแทนให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 1.78 ล้านบาท จากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองเมื่อปี 2553 และให้บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) จ่ายให้กับ บจก.สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด (มหาชน) วงเงิน 1.97 พันล้านบาท โดยตีความว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการจลาจล ไม่ใช่การก่อการร้าย บริษัทประกันภัยจึงต้องรับความผิดต่อความเสียหายนั้น ก็เป็นอีกแนววินิจฉัยหนึ่ง
เผย2คดีก่อนหน้า ทั้ง 'จ่าย-ไม่จ่าย'
แต่ที่ผ่านมาก็เคยมีคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ชี้ว่าคดีวางเพลิงในเหตุการณ์ความวุ่นวายจากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 เข้าข่ายเป็นการก่อการร้ายมาแล้ว คือ คดีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เลขคดี ผบ.1007/54 ซึ่งมีบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด เป็นจำเลย คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2554 แนวคำวินิจฉัยชี้ว่า การวางเพลิงหลังการสลายการชุมนุมเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกับการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล มูลเหตุของการวางเพลิงจึงไม่ได้มุ่งที่ตัวทรัพย์ แต่มุ่งผลทางการเมือง จึงเข้าข่ายเป็นการก่อการร้าย ดังนั้นไม่ต้องจ่ายสินไหมทดแทน
ต่อมา เมื่อเดือนธ.ค. 2554 ศาลแพ่ง (รัชดาภิเษก) ได้มีคำพิพากษาให้บริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายให้กับโจทก์ จำนวน 16.5 ล้านบาท โดยมีแนววินิจฉัยว่า การก่อการร้าย คือ การใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบเพื่อให้สาธารณชนหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสาธารณชนตกอยู่ในภาวะหวาดกลัว แต่ภาวะดังกล่าวปรากฏเพียงข่าวสารรายวัน ยังไม่มีองค์กรใดยืนยันว่าเป็นการก่อการร้าย จำเลย (บริษัทประกันภัย) จึงต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
"การพิจารณาคดีแพ่งแต่ละคดี ขึ้นอยู่กับการนำสืบพยานหลักฐานของแต่ละฝ่าย (โจทก์และจำเลย) ถือเป็นการนำเสนอพยานหลักฐานต่อศาล จากนั้นศาลจะชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักควรเชื่อมากกว่า ก็จะพิพากษาไปตามนั้น ด้วยเหตุนี้คำพิพากษาแต่ละคดีจึงไม่ได้เป็นบรรทัดฐานของคดีอื่น ข้อเท็จจริงอื่น"
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น