โดย : นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์
ถึงแม้ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่ออกมา ประชาธิปัตย์(ปชป.)จะยังคงรักษาแชมป์สมัยที่ 4 เอาไว้ได้...
แต่คะแนนโหวตให้ ปชป.ไปต่อ...ที่ออกมานั้น ย่อมมีความหมายและนัยทางการเมืองมากกว่าแค่ "ชัยชนะในการเลือกตั้ง"
ผลคะแนนระหว่างคู่ชิงอย่างไม่เป็นทางการ ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากประชาธิปัตย์ได้ 1,256,231 คะแนน เอาชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากเพื่อไทย ที่ได้ 1,077,899 คะแนน โดยตัวเลขฝ่ายชนะกับฝ่ายแพ้ขยับเข้ามาใกล้กันยิ่งขึ้น ทิ้งห่างกัน 178,332 คะแนน ขณะที่มีผู้มาใช้สิทธิ์ 2,715,640 คน หรือคิดเป็น 63.98%
หากเทียบกับการครองแชมป์ 3 สมัย ที่ผ่านมา ปชป.ที่เป็นตัวยืน เคยรักษาระยะห่างกว่า 3 แสนคะแนนจากคู่แข่งที่มีพรรคเพื่อไทยสนับสนุนทั้งเบื้องหลังเบื้องหน้ามาตลอด แต่รอบนี้ถึงแม้ผู้สมัครทั้ง 2 พรรคจะทำลายสถิติได้คะแนนทะลุหลักล้านทั้งคู่ แต่ในมุมของแชมป์เก่าอย่างปชป.กลับเห็นสัญญาณ อาการทรงๆ และทรุดลงของความนิยม ที่อาจสะท้อนได้ถึงความความ"เบื่อหน่าย" ทั้งตัวผู้สมัครและทั้งพรรคปชป.ของแฟนคลับที่สนับสนุนพรรคนี้มายาวนาน
คะแนนชนะครั้งนี้ เทียบกับครั้งที่แล้ว ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ เคยชนะมา 934,602 คะแนน โดยรอบนี้ขยับขึ้นมา 321,629 คะแนน ขณะที่ครั้งที่แล้วเพื่อไทยส่ง "ยุรนันทน์ ภมรมนตรี" ได้มา 611,669 คะแนน รอบนี้ส่ง พล.ต.อ.พงศพัศ ได้คะแนน(ความนิยม)บวกเพิ่มขึ้นมา 466,230 คะแนน หากดูเฉพาะคะแนนที่เพิ่มขึ้นมา พล.ต.อ.พงศพัศจากเพื่อไทย ได้มากกว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จากปชป.ถึง 144,601 คะแนน
เมื่อแยกดูรายเขตแล้ว ครั้งนี้ ปชป.ชนะเพื่อไทย 39 เขต (หรือแพ้ 11 เขต) ต่างจากรอบที่แล้ว ซึ่งเป็นสมัยแรกของ"สุุขุมพันธุ์" ชนะเพื่อไทย 46 เขต (หรือแพ้แค่ 4 เขต) และเมื่อย้อนกลับไปเมื่อครั้งอภิรักษ์ โกษะโยธิน ปชป.ปรากฎว่า ปชป.เคยได้ชัยชนะทั้ง 50 เขต
สำหรับปรากฎการณ์การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.คนที่ 16 ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจาก "การปั่นกระแสการเมืองระดับชาติ" ที่ 2 พรรคใหญ่ พยายามดึงเรื่องการเมืองใหญ่มารวมกับการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การหาเสียงที่ยึดโยงกับนโยบายรัฐบาล สถานการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ ปัญหาน้ำท่วมทั้วประเทศ จนทำให้คนกรุงเทพฯ ไม่ได้มองแค่ว่าตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.เป็นเรื่องการเมืองท้องถิ่นที่แยกขาดกับการเมืองระดับชาติ และอาจทำให้รู้สึกหวาดกลัวในประเด็นต่างๆ ที่ถูกนักการเมืองพยายามชี้นำ
อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของ ปชป.ครั้งนี้ ถึงแม้จะชนะการเลือกตั้ง แต่ผลคะแนนที่ออกมา ก็จะกลายเป็นประเด็นที่น่าวิเคราะห์อย่างยิ่ง
ฐานเสียง ปชป.เดิมคะแนนยังแน่น เพราะก่อนที่สุขุมพันธุ์จะลงเลือกตั้งสมัยแรก ฐานเสียงของ ปชป.ชัดเจนอยู่แล้วประมาณ 9 แสนเศษ การ "บวก"หรือ"ลบ"คะแนนพรรคออกไป ไม่ว่าจะด้วยตัวผู้สมัครอย่างสุขุมพันธุ์ หรือตัวพรรคเอง ก็ตาม คือการสะท้อนความรู้สึกของแฟนคลับ ปชป.ในกทม.อย่างมีนัยสำคัญ
อีกทั้ง การเลือกตั้งครั้งนี้ คนกทม.มองประเด็นการเมืองเป็นหลัก ไม่อยากไม่อยากให้เพื่อไทยคุมเบ็ดเสร็จทั้งประเทศ
ซึ่งประเด็นนี้ ส.ส.กทม.ของปชป.บางส่วน ก็สะท้อนว่า การลงพื้นที่ในช่วงแรกของ มีเสียงจากชาวบ้านว่า "ผิดหวัง"ที่ ปชป.ส่งสุขุมพันธุ์" จนกระทั่งบอกว่าจะไม่ไปเลือกตั้ง แต่พอระยะหลังๆ ที่โพลล์สำนักต่างๆ เริ่มชี้ว่า"พงศพัศ"มีคะแนนนำมาตลอด ทำให้แฟนคลับปชป.เกิดกระแส"กลัว"ว่าเพื่อไทยจะชนะ ทำให้เริ่มเปลี่ยนท่าที่จะออกไปเลือก"สุขุมพันธุ์"เพื่อไม่ให้เพื่อไทยชนะ
อีกประเด็นหนึ่ง ที่อาจจะมีผลต่ออารมณ์คนกทม. คือการจดจำประเด็นเก่าๆ ได้ เพราะสมัยแรกที่ "สุขุมพันธุ์ลงสมัคร ยังไม่มีเรื่อง"เผาเมือง"ในเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้าย ที่ปชป.ถล่มเพื่อไทยด้วยสปอต เรื่อง"เผาเมือง" เรื่อง"ปัญหาน้ำท่วมใหญ่" เพื่อเตือนความจำคนกรุง
ขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์ "ปั๊มคะแนน"อาจมีส่วนช่วย เนื่องจากในช่วงโค้งสุดท้าย แกนนำพรรค ส.ส.พรรคระดมสรรพกำลังเต็มที่
ทั้งกรณี สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาฯพรรค สั่ง ส.ส.กทม.ทุกคน ให้ลงพื้นที่หาคะแนนเพิ่ม โดยยึดหลักจากฐานเสียงเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี 2554 แล้วเดินทุกบ้านเคาะประตูขอคะแนนช่วยพรรค ช่วยสุขุมพันธุ์ จากกลุ่มที่ไม่ออกมาใช้สิทธิ์ให้ได้มากที่สุด อีกทั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคได้ออกจดหมายเปิดผนึกและเผยแพร่คลิปผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อขอคะแนนช่วย หรือแม้แต่ ชวน หลีกภัย ที่ทั้งเดินขอเสียง ทั้งขึ้นเวทีปราศรัย
ขณะที่ประเด็นการหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยม ลดแลกแจกแถม ที่แทบไม่ต่างกัน หรือยุทธศาสตร์ขอทำงานต่อ หรือนโยบายไร้รอยต่อ ของทั้งสองฝ่ายก็อาจมีผลเพียงเล็กน้อยต่อการตัดสินใจของกลุ่มผู้สนับสนุน หรือคะแนนจัดตั้ง
ขณะที่มุมมองจากภายในพรรค ปชป.เอง ประเมินว่า ปัจจัยที่ ปชป.รักษาแชมป์ไว้ได้ และเป็นกรณีศึกษาของพรรค
คือเรื่อง "โพลล์" สร้างกระแส ที่ ปชป.ระบุว่า เสียงสะท้อนจากเขตหลักๆของ ปชป.บอกกับส.ส.กทม.ในช่วงโค้งสุดท้ายที่โพลล์ของ"พงศพัศ"นำ"สุขุมพันธุ์" ทำนองว่า "ถ้าไม่ไปลงให้ ไม่ได้แล้ว เพราะโพลล์แพ้ ต้องไปช่วยกันลง" ซึ่งปรากฏการณ์ที่ว่านี้ เกิดขึ้นในช่วง 3-4 วันก่อนวันเลือกตั้ง ส.ส.บางคนมั่นใจว่า กระแสต่างจากช่วงแรกๆมาก
ทั้งนี้ ปชป.มองว่า โพลล์ที่เพื่อไทยนำมาตลอด มีผลย้อนกลับ เป็นเรื่องดีสำหรับ ปชป. ที่ถึงแม้ฐานคะแนนปชป.จะดีกว่าเพื่อไทยอยู่แล้ว แต่ส่วนที่ดีกว่าก็ "ไม่พอใจ" เลยอยากอยู่เฉยๆ แต่คนพวกนี้ คือ"แฟนคลับพันธุ์แท้" ถึงไม่ไปเลือก"สุขุมพันธุ์" แต่ก็ไม่ลงคะแนนให้คนของเพื่อไทย แต่พอโพลล์ที่ออกมาเพื่อไทยนำตลอด จึงกลับลำออกมาช่วย ที่น่าสนใจคือครั้งนี้ มี "กลุ่มเสื้อเหลือง" เข้ามาช่วยอีกทางเพราะรับ"กลุ่มเสื้อแดง"ไม่ได้
อีกกรณีศึกษา ที่ปชป.มองว่าเป็นกระแสตีกลับ คือการใช้อำนาจรัฐจับผิดฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะการระดมตำรวจเข้ามาช่วย กลายเป็นผลลบกับเพื่อไทยมากกว่าบวก "วันนี้ ตำรวจในกทม.ได้รับคำสั่งให้ถ่ายรูปคนที่ช่วยปชป. กลางคืนมีการไปเคาะประตูบ้าน มาบอกให้ช่วยประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง และขอถ่ายรูปไว้ด้วย เพื่อรายงานนาย รวมทั้งจับตาทีมหาเสียงของปชป.แล้วให้สายสืบไปถ่ายรูป ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีกระแสต่อต้าน เรามองว่าตรงนี้เพื่อไทยเล่นผิด ซึ่งในต่างจังหวัดคนอาจจะกลัว แต่สำหรับ คนกทม.กลัวไม่ลง" ส.ส.กทม.ผู้หนึ่งระบุ
อย่างไรก็ตาม การเมืองใน กทม.ซึ่งเป็นเมืองหลวง ก็ไม่ต่างกับทั่วโลก ที่กระแสในตัวเมืองหลวง ฝ่ายค้านจะดีกว่ารัฐบาลอยู่แล้ว แต่บังเอิญที่ช่วงแรกที่"สุขุมพันธุ์"เป็นแชมป์ ก็มีจุดอ่อนให้ถูกโจมตีไม่น้อย แต่พอเริ่มหาเสียงจริง แม้คะแนนพื้นๆ ของฝ่ายค้านจะดีกว่า แต่การเมืองท้องถิ่นในกทม.ซึ่งเป็นภาพรัฐบาลท้องถิ่นที่ซ้อนเข้ามา ก็เสียเปรียบในช่วงแรกๆ ถูกกระหน่้ำอย่างเดียว ไปๆ มาคนเริ่มมองว่า ถ้าไม่ลงให้ เพราะเหตุผลว่าไม่พอใจการทำงาน การบริหารงาน ก็จะทำให้ทางเพื่อไทยชนะ
ขณะที่ ด้านนโยบาย ที่พรรคเพื่อไทยคู่แข่ง หาเสียง"เลยธง"ไปมาก จนคนรู้สึกว่า นโยบายประชานิยมที่ประกาศออกมา จะทำได้ทุกอย่างหรือไม่ แล้วจะหาเงินที่ไหนมาทำ ตรงนี้เชื่อว่าคนกทม.เริ่มคิดและเปรียบเทียบกับนโยบายหาเสียงการเมืองระดับชาติที่ผ่านมา และวันนี้ ก็ต้องยอมรับว่า กระแสข่าวทุจริตคอร์รัปชันในรัฐบาลใหญ่เองก็มีมาก ถ้าเอานโยบาย"ไร้รอยต่อ"ของกทม.ไปร่วมกับรัฐบาล ก็อาจถูกตั้งแง่ว่าปัญหาการทุจริตจะมีมากขึ้นหรือไม่
วันนี้ ปชป.ที่ยังสามารถรักษาแชมป์สมัยที่ 4 เอาไว้ได้ แม้คะแนนที่ "ทะลุหลักล้าน"จะทำลายสถิติที่ สมัคร สุนทรเวช เคยทำได้ 1,016,096 คะแนน แต่หากดูคะแนนชนะที่ทิ้งห่างจากเพื่อไทย 178,332 คะแนน และสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นก็ใกล้เคียงกับพท.แล้ว ก็คงทำให้ปชป.ต้องกลับไปทบทวนตัวเอง เพราะนี่คือสัญญาณเตือน ปชป.อีกครั้ง นับตั้งแต่การเป็นรัฐบาล กระทั่งการแพ้เลือกตั้งใหญ่ ว่าความจริงแล้ว สถานการณ์ของปชป.กำลังถดถอยลงเรื่อยๆหรือไม่
อย่าชะล่าใจกับชัยชนะที่ได้มาจาก "กระแสกลัวเสียกรุง" เพราะถ้าเทียบคะแนนกันแล้ว ฐานคะแนนปชป.อาจถูกลบด้วยกระแสเบื่อตัวผู้สมัครอย่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ขณะที่ฐานคะแนนเพื่อไทยในกทม.กลับบวกเพิ่มจากคะแนนนิยมส่วนตัวของ"พงศพัศ" จนทำให้เพื่อไทยขยับขึ้นแบบ"หายใจรดต้นคอ"... ถึงเวลาหรือยังที่ปชป.จะต้องสังคายนาตัวเอง?
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
----------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น