--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

บาทยิ่งแข็งเสียงจาก ธปท. ยิ่งเงียบ ลุ้นออกมาตรการ สกัดเงินร้อน !!?


ความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่แข็งค่ารายวัน ทุบสถิติใหม่รอบ 16 ปี โดยค่าเงินบาทวิ่งลงมาระดับทดสอบ 29.06 บาท/ดอลลาร์ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา แข็งค่าจากเมื่อสิ้นปี 1.54 บาท หรือ 5%

น่าคิดว่าเมื่อเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น สถานการณ์ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น เพราะทุก ๆ 1.0% ที่เงินบาทแข็งค่าจะฉุดจีดีพีหล่นไป 0.1-0.3% ขณะที่ปริมาณเงินที่ไหลออกมาจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ทั้งจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 19-20 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้บ่งชี้ชัดเจนว่า ธนาคารกลางสหรัฐยังเดินหน้า QE และจะปล่อยเงินออกมาสู่ระบบเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์ต่อไป

ขณะที่ภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง เงินทุนจึงไหลบ่าเข้ามาไม่ขาดสาย ส่งผลให้ค่าเงินสกุลท้องถิ่นแข็งค่า โดยเฉพาะเงินบาทไทยแข็งค่าแซงหน้าประเทศเพื่อนบ้าน "ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก็ยอมรับว่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังไม่ปริปากเปิดเผยว่าจะงัดมาตรการใดออกมารับมือสถานการณ์ที่ร้อนแรงเช่นนี้

ดังนั้นประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจึงได้งัดมาตรการออกมาใช้เพื่อสกัดกันเงินร้อนเป็นระลอก เช่น จีนปรับตั้งอัตราสำรองของธนาคารพาณิชย์ให้มากขึ้น และใช้มาตรการ QFII หรือการลงทะเบียน

นักลงทุน เพื่อคัดกรองนักลงทุนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

ส่วนธนาคารกลางฟิลิปปินส์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์ในระดับสูงจากบัญชีต่างชาติที่ไม่มีการโอนย้ายอินโดนีเซียกำหนดอายุการซื้อพันธบัตรและการถือครองให้ครบตามกำหนด เพื่อลดความผันผวนกระแสเงินทุน ขณะที่ฮ่องกงและสิงคโปร์เรียกเก็บอากรแสตมป์อัตรา 15% จากการซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่สองของชาวต่างชาติ

แต่ประเทศไทยไม่มีมาตรการพิเศษอะไรออกมา แน่นอนว่าการขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยนย่อมมีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ธนาคารกลางย่อมต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ รอบด้าน แม้ผู้ว่าการแบงก์ชาติจะเคยเปิดเผยว่ามี 5 ด่านรับมือเงินทุนผันผวน ไม่ว่าจะเป็นการใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น การสนับสนุนให้นำเงินไปลงทุนต่างประเทศ การแทรกแซงค่าเงิน การป้องปราบ หรือแคปปิตอลคอนโทรล และสุดท้ายคือการใช้อัตราดอกเบี้ยดูแล

แต่สิ่งที่หลายฝ่ายกำลังจับตาและพุ่งความสนใจมากขึ้นตามระดับค่าเงินบาทที่แข็งโป๊กต่อเนื่องอยู่ที่มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย หรือแคปปิตอลคอนโทรล ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยว่า มีเครื่องมือในสต๊อกแบบเบา ๆ เช่น การให้รายงานธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำเงินเข้าออกในประเทศ การลงทะเบียนการกู้เงินต่างประเทศ การกำหนดให้ถือครองหลักทรัพย์ต้องมีระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี และแบบจัดหนัก เช่น ใช้มาตรการตั้งสำรองเงินตราต่างประเทศที่นำเข้ามาลงทุน 30% และเก็บภาษีเงินตราที่เข้ามาลงทุนในประเทศ

ขณะที่ "สมชัย สัจจพงษ์" ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการใหม่ โดยเฉพาะมาตรการที่เป็นยาแรงแบบการเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้า เรายังมีเครื่องมือในปัจจุบันนี้ที่ทำได้ ก็ทำไปเท่าที่มี

ในขณะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง แต่เสียงจาก ธปท.กลับยังเงียบงัน จนทำให้นักลงทุนในตลาดมีความกังวลกับความไม่แน่นอน เหมือนสถานการณ์ลมสงบก่อนพายุจะมา ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนพลิกผันจากเงินบาทเคลื่อนไหวนิ่ง ๆ ในเดือนก่อน กลับมาแข็งค่าทำนิวไฮติดต่อกันหลายวันในเดือนนี้ จากตลาดหุ้นร้อนแรงเป็นกระทิงดุ กลับตกร่วงเกือบ 100 จุด ในรอบ 1 สัปดาห์ ด้วยเสียงแว่วเพียงว่า ธนาคารกลางกำลังพิจารณามาตรการพิเศษบางอย่าง เพื่อสกัดเงินร้อนไหลเข้า

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น