นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) กล่าวภายในงานสัมมนา "มองโลก มองไทย สู่ปี 2015" ถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นว่าแม้จะไม่รุนแรงถึงขั้นคอขาดบาดตาย แต่เริ่มเห็นสัญญาณการเกิดภาวะฟองสบู่บ้างแล้ว
ดังนั้น ต้องระวังและเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ใน 3 เรื่อง คือ เงินทุนที่ไหลบ่าเข้ามาภูมิภาคเอเชียมากถึงกว่า 100 ล้านดอลลาร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรต้องเข้าไปแทรกแซงค่าเงินเป็นระยะ เพื่อรักษาเสถียรภาพเงินบาทไม่ให้แข็งหรืออ่อนค่าจนเกินไป
นอกจากนี้ ต้องระวังการตรวจสอบราคาทรัพย์สินที่สูงเกินราคาพื้นฐาน เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ราคาหุ้นและพันธบัตร และการปล่อยสินเชื่อที่ต้องเข้าไปควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีการปล่อยสินเชื่อมากเกินไป
“วันนี้ทุกอย่างยังดีอยู่ แต่ต้องระวังใน 3 เรื่องหลัก เพราะสหรัฐอเมริกาและยุโรปยังใช้มาตรการคิวอี ใส่เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อลดอัตราการว่างงานลง ส่วนไทยเองมีการลงทุนจากภาครัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท รวมทั้งภาคท่องเที่ยวเองยังมีเม็ดเงินสะพัดอยู่มาก ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีมากถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ สามารถใช้ได้ถึง 7-8 เดือนด้วยซ้ำ” นายศุภชัย กล่าว
อย่างไรก็ดี ภาพเศรษฐกิจไทยจากนี้ไปจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ต้องทำงานแบบไร้รอยต่อ เชื่อมโยงกันหมดทั้งภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลมีการลงทุนในระบบโครงสร้างขั้นพื้นฐาน แต่ไม่ใช่เพียงแค่ระบบราง รถไฟฟ้าความเร็วสูงเท่านั้น แต่ต้องรวมไปถึงระบบโทรคมนาคมด้วย
นอกจากนี้ สนับสนุนนักลงทุนไทยขยายการลงทุนในต่างประเทศ เพราะจะช่วยลดแรงกดดันเรื่องค่าเงินบาทได้ และการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศอาเซียน ยังจะเป็นแต้มต่อของประเทศไทย ผลักดันเศรษฐกิจไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง คาดการณ์เติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 6% ในปีนี้ สูงกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้จะอยู่ที่ 5%
'ณรงค์ชัย'เตือนรับมือตลาดทุนโลกป่วน
ด้าน นายณรงค์ชัย อัครเศรณี หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่าความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลกในช่วงนี้ สาเหตุหลักเป็นผลจากปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยนโยบายของประเทศพัฒนาแล้วซึ่งอยู่ระดับต่ำ ทำให้นักลงทุนโยกเงินไปลงทุนในประเทศที่สามารถให้ผลตอบแทนได้ดีกว่า แต่ที่สำคัญต้องเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจดีด้วย เชื่อว่าแนวโน้มความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนโลกยังมีต่อเนื่อง
“จำนวนเงินในโลกนี้เยอะมาก แต่ปัญหาไม่ได้เกิดจากปริมาณเงินที่มากขึ้น เพราะจริงๆ แล้วปริมาณเงินไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ปัญหาเกิดจากดอกเบี้ยต่ำ ทำให้เงินทุนเหล่านี้ไหลออกไปหาที่ที่สามารถให้ผลตอบแทนได้ดีกว่า” นายณรงค์ชัย กล่าว
สาเหตุที่มองว่าปริมาณเงินไม่ได้เป็นปัญหาที่สร้างความปั่นป่วนในตลาดเงินโลกมากนัก เพราะหากพิจารณาจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่ใช้วิธีอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ (คิวอี) ซึ่งทำออกมาแล้วทั้งหมด 7.6 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ปรากฏว่าเงินส่วนใหญ่กลับไหลมาคืนที่เฟด โดยมีปริมาณเงินที่ออกไปจริงๆ น้อยมากไม่ถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ ด้วยซ้ำ
ดังนั้น ปัญหาที่แท้จริงจึงไม่ได้อยู่ที่ปริมาณเงิน แต่อยู่ที่ดอกเบี้ยของประเทศพัฒนาแล้วซึ่งอยู่ระดับต่ำ ข้อมูล ณ สิ้นเดือนม.ค. 2556 พบว่า เงินที่อยู่ในพันธบัตรรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วซึ่งมีดอกเบี้ยต่ำ ปัจจุบันมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 65 ล้านล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้เป็นการถือครองผ่าน 14 ประเทศ มีทั้งจีนและไทยรวมอยู่ด้วย เงินเหล่านี้มีแนวโน้มว่าจะออกไปหาแหล่งที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า
กนง.ให้น้ำหนักเสถียรภาพ-การเงินโลก
"อย่างกองทุนพิมโก้ (Pimco Total Return Fund) ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ของสหรัฐ ที่มีมูลค่าใหญ่สุดในโลก เทขายบอนด์สหรัฐทิ้งหมดเลย เพราะผลตอบแทนต่ำแล้วไปลงทุนยังที่อื่นที่สามารถให้ผลตอบแทนได้สูงกว่า" นายณรงค์ชัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุม กนง. วันที่ 3 เม.ย. นี้ ต้องกลับมาถกเถียงในปัจจัยระหว่างเงินทุนไหลเข้ากับฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ หรือไม่ และ กนง. ให้ความสำคัญกับเรื่องใดมากกว่ากัน นายณรงค์ชัย กล่าวว่า เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ธปท. มีวิธีในการดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งคนมักเข้าใจกันว่า ธปท. ดูแต่เครื่องมือเรื่องดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่จริงแล้ว ธปท. ดูแลหมด ทั้งเครื่องมือด้านอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน รวมไปถึงสินเชื่อ
"การพิจารณาคงให้น้ำหนักเรื่องเดิม คือ เสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินโลก ส่วนเรื่องฟองสบู่นั้น มีเป็นจุดๆ ก็คุมเป็นจุดๆ อยู่แล้ว แต่โดยรวมยังไม่ได้เกิดเป็นฟองสบู่" นายณรงค์ชัย กล่าว
คลังยันไม่ใช้ภาษีสกัดเงินไหล
สำหรับมาตรการสกัดเงินทุนนั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการคลังหลายรายระบุตรงกันว่ายังไม่เคยเตรียมมาตรการทางภาษีเพื่อสกัดเงินทุนระยะสั้น แต่พยายามใช้มาตรการที่เป็นไปตามกลไกตลาด เช่น การชำระหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจก่อนกำหนด การส่งเสริมให้เอกชนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งผลักดันให้ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยลง
“การลดอัตราดอกเบี้ยถือเป็นการทำตามกลไกตลาด แต่การที่จะใช้มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าผ่านกลไกภาษีนั้นทางกระทรวงการคลังมองว่าเป็นมาตรการที่จะนำไปสู่การบิดเบือนกลไกตลาด” นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าว
การบังคับใช้มาตรการสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2549 เพื่อสกัดเงินไหลเข้าในปี ถือว่าเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดและทำให้ตลาดขาดความเชื่อถือในนโยบายของไทย ส่วนการใช้มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า หรือ capital control อาจจะให้กรมสรรพากรเก็บภาษีนักลงทุนต่างชาติที่นำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยผ่านการซื้อ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือซื้อพันธบัตร แต่ขณะนี้กระทรวงการคลัง ยังไม่ได้หารือกันในเรื่องมาตรการภาษี
บาทแตะ 29.51 แข็งค่าสุดรอบ 28 เดือน
นักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์รายหนึ่ง กล่าวว่า ค่าบาทวานนี้ (15 มี.ค.) เคลื่อนไหวปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง โดยระหว่างวันปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 28 เดือน แตะที่ระดับ 29.51 บาทต่อดอลลาร์ หรือปรับตัวแข็งค่าขึ้น 0.4% หลังจากแตะระดับ 29.54 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2553 โดยเป็นผลจากอุปสงค์ของกองทุนต่างประเทศ
การที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข้าซื้อดอลลาร์ที่ระดับต่ำ ขณะที่ กลุ่มผู้นำเข้าเข้าซื้อดอลลาร์ด้วย นักลงทุนทั่วไปกำลังรอเข้าซื้อบาทเมื่อพิจารณา จากกระแสเงินจากกองทุนต่างชาติที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
"มีการแทรกแซงเพื่อชะลอการอ่อนค่าลงของดอลลาร์ต่อบาท แต่กระแสเงินไหลเข้าเป็นปัจจัยสำคัญ และบาทแข็งแกร่งอย่างมาก" นักค้าเงินกล่าว
หุ้นจ่อทะลุ1,600จุด
ด้านดัชนีตลาดหลักทรัพย์วานนี้ (15 มี.ค.) ยังปรับขึ้นต่อเนื่องตามภูมิภาค โดยปิดที่ 1,598 จุด เพิ่มขึ้น 11.34 จุด ซึ่งระหว่างวันดัชนีปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 1,599.89 จุด มูลค่าการซื้อขาย 76,830 ล้านบาท โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 1,325 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขายสุทธิ 352 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศ ซื้อสุทธิ 3,988 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศ ขายสุทธิ 2,310 ล้านบาท
มูลค่าการซื้อขายสะสมในช่วง 1-15 มี.ค. สถาบันในประเทศ ซื้อสุทธิ 632 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ซื้อสุทธิ 2,106 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศ ซื้อสุทธิ 11,469 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศ ขายสุทธิ 14,207 ล้านบาท
นายกรภัทร วรเชษฐ์ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า หุ้นไทยไม่ผ่านแนวต้านสำคัญที่ 1,600 จุด แต่มีโอกาสเพิ่มขึ้นเกินระดับ 1,600 จุดในช่วงสัปดาห์หน้า โดยแรงลงทุนหลักอยู่ในกลุ่มธนาคาร กลุ่มวัสดุก่อสร้างและกลุ่มไอซีที ทั้งนี้ เป็นผลพวงจากการทำราคาเพื่อปิดพอร์ตลงทุนรายไตรมาส (WINDOW DRESSING) ซึ่งตามสถิติแล้วจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมี.ค.- เม.ย. ของทุกปี
แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์หน้า เชื่อว่าดัชนีจะแกว่งตัวในกรอบขาขึ้น และมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นเกินระดับ 1,600 จุด ซึ่งเป็นระดับที่ฝ่ายวิจัยมองว่าจะได้เห็นในเดือนมี.ค. นี้ โดยเชื่อว่าสัปดาห์หน้ามีโอกาสที่จะเห็นหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 25 จุด จากระดับ 1,600 จุด หรือ หากปรับฐานลดลงก็จะไม่ลดไปมากกว่า 25 จุดเช่นกัน
ต่างชาติซื้อตราสารมากที่สุด
สำหรับการซื้อขายตราสารหนี้ วานนี้ นักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิต่อเนื่อง โดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่ามีมูลค่าการซื้อขายรวม 84,597 ล้านบาท โดยประเภทของตราสารที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด คือ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 66,769 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 77.2% รองลงมา พันธบัตรรัฐบาล มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 14,813 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 17.1% และหุ้นกู้เอกชน มีมูลค่าการซื้อขาย 2,362 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.7%
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติ มียอดซื้อสุทธิ 9,093 ล้านบาท กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซื้อสุทธิ 5,481 ล้านบาท และกลุ่มนิติบุคคลในประเทศ ซื้อสุทธิ 8,696 ล้านบาท โดยผลตอบแทน (Yield) ค่อนข้างคงที่ในทุกช่วงอายุของตราสาร ซึ่งปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสนใจ คือ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น รวมทั้งอุปทาน (Supply) พันธบัตรรัฐบาล
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น