"ศุภชัย" ผ่ามุมมองค่าเงิน-อัตราแลกเปลี่ยน ส่งสัญญาณเตือนภูมิภาคเอเชีย เตรียมรับมือฟันด์โฟลว์ กดดันค่าเงินแข็ง ปั่นฟองสบู่!สินทรัพย์เสี่ยง
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ได้เขียนบทความเกี่ยวกับค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนมีมุมมองที่น่าสนใจ ท่ามกลางการวิพากษ์จารณ์เรื่องค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของโลก
ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ได้รับการสดุดีอย่างกว้างขวางตั้งอยู่บนพื้นฐานของนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีแรงงานเข้มข้น เชื่อมโยงกับนโยบายการแข่งขันทางการค้า ด้วยการมีระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง
ช่วงจังหวะของการพัฒนาอุตสาหกรรมได้รับการเอื้ออำนวย โดยเคลื่อนย้ายการลงทุนจำนวนมาก จากประเทศญี่ปุ่นในทศวรรษที่ 70 และ 80 โดยเฉพาะหลังจากการมีข้อตกลงของพลาซา (PlazaAccord)ในปี 1985 ที่มีผลให้ค่าเงินเยนลอยตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้นักลงทุนจากญี่ปุ่นหันมาลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น การประสานนโยบายที่สอดประสานระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเป็นเอกลักษณ์ของการใช้นโยบายเศรษฐกิจอีกประการหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่ส่งผลให้นโยบายมีการปฏิบัติที่มีประสิทธิผลอย่างสูง
สูตรสำเร็จในยุคนั้น ซึ่งได้ใช้กันมากว่าสองทศวรรษ จึงมีส่วนประกอบที่สำคัญของ
ก) บทบาทนำในด้านเศรษฐกิจพัฒนาของรัฐ
ข) นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม นำโดยนโยบายรัฐ
ค) นโยบายส่งเสริมการส่งออกที่เข้มข้น
ง) การสอดประสานระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ
จุดแข็งของสูตรสำเร็จเช่นนี้ในอดีต คือ การส่งเสริมอุตสาหกรรมและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ด้วยการใช้แรงงานที่มีอัตราค่าจ้างในระดับที่ต่ำเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมนโยบายนี้ ประกอบกับการใช้นโยบายส่งเสริมการส่งออกที่กว้างขวางและหลากหลาย ซึ่งมีผลให้ประเทศเหล่านี้มีความสามารถในการแข่งขันที่สูง
ข้อดีของนโยบายดังกล่าวนี้ชัดเจนในแง่ของการขยายตัวของการส่งออก และน้ำหนักของการส่งออกต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ประสบการณ์จากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา สอนให้เราเข้าใจความจำเป็นที่ทั้งโลก ต้องช่วยกันดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมดุลยภาพเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะเพื่อช่วยทำให้นโยบายที่ผ่านมา มีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น และมิใช่เพื่อการส่งเสริมการค้าเสรีแต่อย่างเดียว ผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่สมบูรณ์ (inclusive development)และยั่งยืน จากนโยบายที่ผ่านมามีลักษณะน่าเป็นห่วงดังต่อไปนี้
1. การพึ่งพาการส่งออกและอุปสงค์จากภายนอกประเทศ อาจจะมีน้ำหนักมากจนเกินไป และทำให้ประเทศที่มีเศรษฐกิจเปิดระดับสูงได้รับผลกระทบจากกระบวนการโลกาภิวัฒน์เชิงลบมาก เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกจะปะทุขึ้นบ่อยครั้งกว่าก่อน ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เปิดมาก และขาดดุลยภาพกับการพัฒนาตลาดภายในประเทศ มีโอกาสจะสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ยาก
2. การกดค่าจ้างและอัตราเงินเดือนให้อยู่ในระดับต่ำ ทำให้เกิดการพึ่งพาเทคโนโลยี ที่มีการใช้ประโยชน์จากการที่มีค่าจ้างในระดับที่ต่ำจนเกินไป ทำให้ขาดการพัฒนาเทคโนโลยีในระดับที่สูงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังจะทำให้ภาวะอุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอ ไม่มีดุลยภาพกับอุปสงค์จากภายนอก และมักจะนำไปสู่ปัญหาของการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน การพัฒนาที่ยั่งยืนและสมบูรณ์ ควรอยู่บนพื้นฐานของสัดส่วนของค่าจ้างที่เหมาะสมในรายได้รวมประชาชาติ และอัตราค่าจ้างควรสัมพันธ์กับระดับทักษะ การศึกษา และระดับผลิตภาพ
3. การพัฒนาอุตสาหกรรมที่รัฐเน้นบทบาทนำมากเกินไป อาจนำไปสู่การสร้างกำลังการผลิตที่เกินความต้องการของตลาด และนำไปสู่นโยบายที่มีการบิดเบือนราคาที่มีผลเสียต่อการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม จึงควรมีการผสมผสานระหว่างการชี้นำโดยรัฐ และยึดโยงกับลักษณะเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก และเน้นการกระจายอุตสาหกรรมสู่ภูมิภาค ทั้งนี้เพื่อรองรับแรงงานไหลออกจากภาคการเกษตร
4.อัตราแลกเปลี่ยนถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางนโยบาย ในการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 70 บางครั้งอัตราแลกเปลี่ยนถูกปล่อยให้แข็งเกินความเป็นจริง ซึ่งมักเป็นกรณีในอดีตที่มีการนำนโยบายส่งเสริมการผลิต ทดแทนการนำเข้าเมื่อราคาสินค้านำเข้าถูกกดต่ำลงเมื่อเทียบเป็นเงินสกุลภายในประเทศ ในภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนมาใช้นโยบายส่งเสริมการส่งออก จึงได้มีการใช้มาตรการของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีค่าอ่อนกว่าความเป็นจริง ข้อพิพาทในกรณีอัตราแลกเปลี่ยน มีมาโดยตลอดในอดีต และปรากฏชัดในตัวอย่างของ Plaza Accordในปี ค.ศ. 1985 เมื่อญี่ปุ่นถูกบังคับให้ปล่อยให้เงินเยนลอยตัวสูงขึ้น เนื่องจากมีภาวะดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงมาก
กรณีของการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อเอาเปรียบคู่แข่งขัน หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกกันว่า เพื่อทำให้เพื่อนบ้านกลายเป็นยาจก (beggar-thy- neighbour) เป็นนโยบายที่ได้รับการโจมตีมาโดยตลอดว่า ไม่มีส่วนช่วยทำให้สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศดีขึ้น คือในแง่สุทธิไม่ได้ช่วยทำให้ผลผลิตรวมของโลกดีขึ้นหรือการจ้างงานของเศรษฐกิจโลกสูงขึ้น
ผลที่เกิดขึ้นก็เป็นการแบ่งย้ายทรัพยากรจากเศรษฐกิจหนึ่งไปอีกเศรษฐกิจหนึ่ง เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ผลประโยชน์ที่แท้จริงจากนโยบายการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน มักจะไม่ปรากฏชัด และยังมีผลข้างเคียง ที่อาจจะไม่ช่วยประเทศที่ใช้นโยบายเช่นนี้เสมอไป
1. การปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนลดค่าลงจนเกินพอดี มักจะนำไปที่ปัญหาของการปล่อยให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในโลกปัจจุบัน สำหรับประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงาน อาจจะเป็นบ่อเกิดของปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงได้ ยกตัวอย่างของปัญหาเศรษฐกิจของอังกฤษในขณะนี้ที่ปล่อยค่าเงินปอนด์ให้อ่อนลงอย่างมากหลังวิกฤตเศรษฐกิจ และขณะนี้กำลังก่อปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากในอังกฤษที่เป็นผลจากค่าเงินปอนด์ที่อ่อนเกินควร
2. หลายประเทศในเอเชียเคยดำเนินนโยบายการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนกับเงินดอลล่าร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เพื่อต้องการให้มีเสถียรภาพทางอัตราแลกเปลี่ยนในยุคที่ยังไม่มีตลาดล่วงหน้าของสกุลเงิน แต่เนื่องจากค่าเงินดอลล่าร์มีแนวโน้มลดต่ำลงมาในระยะยาว มักจะมีผลให้สกุลเงินของเศรษฐกิจในเอเชียได้อานิสงส์จากค่าเงินที่อ่อนลงตามไปด้วย นโยบายในลักษณะนี้เป็นการยึดเรื่องของเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการใช้นโยบายที่ทำให้เพื่อนบ้านเป็นยาจก
3. อัตราแลกเปลี่ยนมักจะไม่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้เสมอไป ดังจะเห็นได้จากการที่สหรัฐฯ มีค่าเงินดอลล่าร์ที่มีแนวโน้มอ่อนลงมาโดยตลอดในระยะยาว แต่ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ กลับมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอ (ตั้งแต่ระดับ 300 กว่าเยน มาจนถึงต่ำกว่า 100 เยนต่อดอลล่าร์) แต่ญี่ปุ่นก็มีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นบวกตลอดมา เหตุการณ์ในระยะหลังคือที่ปรากฏกับเงินปอนด์อังกฤษที่ได้ลดค่ามากที่สุด (เมื่อเทียบกับเงินสกุลของประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ) หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 จนถึงบัดนี้ แต่ก็ปรากฏว่าอังกฤษยังมีปัญหาเรื่องการลดลงของส่วนแบ่งของตลาดส่งออกในตลาดโลก และเศรษฐกิจอังกฤษก็ยังไม่ฟื้นจากภาวะที่ตกต่ำตั้งแต่วิกฤตการณ์ที่ผ่านมา
4. ตลาดเงินตราในยุคของ hedge fund มักจะไม่สามารถช่วยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกต้องได้เสมอ เนื่องจากกิจกรรมการเก็งกำไรในตลาดสูงมาก โดยเฉพาะในรูปแบบของ carry trade ซึ่งเกิดขึ้นจากการกู้เงินสกุลที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก เช่น เงินเยน และนำเงินนี้ไปลงทุนในสกุลเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า เช่น เงินดอลล่าร์ออสเตรเลีย ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินเยนอ่อนลง และเงินดอลล่าร์ออสเตรเลียแข็งตัวขึ้นโดยไม่มีสาเหตุจากดุลการชำระเงินใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อมีการลดหรือ unwindการเก็งกำไรแบบ carry trade ก็จะมีผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนพุ่งสูงขึ้นโดยไม่มีสาเหตุมาจากมาตรการใดของทางการทั้งสิ้น
5. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วผ่านการผลักเงินของธนาคารกลาง เข้าสู่บัญชีของธนาคารพาณิชย์ ในมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ คำสัญญาของธนาคารกลางยุโรปที่จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลยุโรปไม่จำกัด เพื่อช่วยแก้ปัญหาวิกฤตของภาระหนี้ของยูโรโซน ทำให้มีเงินไหลเข้าสู่ระบบจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ โดยที่ไม่ถูกดูดซึมไปใช้ในเศรษฐกิจภาคการผลิตแท้จริงได้ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจยังอยู่ในกระบวนการชำระล้างบัญชีหนี้สิน(unwinding) อยู่ เงินสภาพคล่องเหล่านี้จึงไหลไปสู่เศรษฐกิจที่มีโอกาสเก็งกำไรได้โดยมีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า และมีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจที่ปกติ ทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงต่อประเทศที่กำลังพัฒนาที่ต้องรองรับสภาพคล่องเหล่านี้ และได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการที่อัตราแลกเปลี่ยนของตนเองสูงขึ้น กระบวนการนี้ที่นำไปสู่การผันแปรอย่างรุนแรงก็ไม่ได้เป็นผลจากนโยบายทำให้เพื่อนบ้านเป็นยาจกอย่างใดทั้งนั้น แต่เพียงเป็นผลจากความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาของประเทศพัฒนาแล้วอย่างรุนแรงเท่านั้นเอง
6.ระบบเศรษฐกิจโลกที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายลูกโซ่ (Global Value Chain) ที่ครองโลกอยู่ในขณะนี้ (ร้อยละ 80 ของการค้าโลกเกี่ยวโยงกับระบบบรรษัทข้ามชาติที่บริหารเครือข่ายดังกล่าวนี้) ทำให้เกิดปัญหาของการนับซ้ำ (double - counting) เมื่อส่วนประกอบการผลิตถูกนำมาผลิตซ้ำ ข้ามจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง
ข้อมูลจากการศึกษาของ UNCTAD พบว่า การนับซ้ำนี้ทำให้มีข้อมูลการค้าสูงกว่าความเป็นจริงกว่าร้อยละ 28 นอกจากนี้เมื่อมีการแก้ไขการนับซ้ำโดยคำนวณข้อมูลปริมาณการค้าบนพื้นฐานของมูลค่าเพิ่ม (value - added) จะปรากฏว่า ข้อมูลดุลบัญชีเดินสะพัดจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น การเกินดุลของจีนกับสหรัฐฯ จะมีจำนวนลดลงถึงร้อยละ 30 (ตัวอย่างของ iPhone ที่ขายในราคาปลีก 500 ดอลล่าร์ต่อเครื่อง มีมูลค่าเพิ่มในการผลิตในประเทศจีนเพียง 6 ดอลล่าร์เท่านั้นเอง) หากจะมีการใช้ดุลบัญชีเดินสะพัดเพื่อกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน จึงอาจจะไม่ได้สะท้อนให้เห็นค่าเงินสกุลต่างๆ อย่างแท้จริงอีกเช่นกัน (ข้อมูลของไทยที่อ้างกันว่าสินค้าส่งออกมีส่วนแบ่งของรายได้ประชาชาติสูงถึงร้อยละ 70 จึงควรถูกปรับให้ต่ำลง โดยหักมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นนอกประเทศไทย และนับเฉพาะส่วนที่เป็นมูลค่าเพิ่มของการส่งออกที่เกิดขึ้นในไทยเท่านั้น จะไม่น่าแปลกใจเลยถ้าหากข้อมูลนี้ถูกปรับจากร้อยละ 70 มาเหลือเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ซึ่งก็จะมีความหมายว่า แท้จริงแล้วไทยอาจจะไม่ได้พึ่งพาอุปสงค์ภายนอกมากจนเกินความพอดี)
ปัญหาของตลาดเงินตราต่างประเทศ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ลอยตัวและมีการเก็งกำไร เครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ ระบบเงินสกุลเดียวของยูโรโซน ฯลฯ ทำให้การสะท้อนค่าของเงินแต่ละประเทศอย่างแท้จริง ออกมาในรูปอัตราแลกเปลี่ยน จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง
การใช้คำว่า "สงครามสกุลเงินตรา" (currency war) เพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดเงินตราที่เป็นผลจากนโยบายเศรษฐกิจมหภาคทั่วไป จึงไม่ถือว่าเป็นคำอธิบายที่ถูกต้องต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเท่าไรนัก
หากเราจะกล่าวถึงการใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือในการแข่งขัน ก็ควรจะกล่าวถึงค่าของเงินตราที่แท้จริง ซึ่งค่าของเงินตราที่แท้จริงควรจะต้องสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ ในทางเศรษฐศาสตร์มักจะเรียกค่าของเงินนี้ว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงถ่วงน้ำหนัก ( real effective exchange rate) โดยการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนที่อยู่ในตลาด ประกอบกับอัตราค่าจ้างต่อหน่วย หรืออัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาการผลิตต่อหน่วย หรือผลิตภาพ(productivity) ในกรณีของประเทศจีนที่ถูกกล่าวหาว่ามีการแทรกแซงค่าเงินหยวนให้อ่อนตัวกว่าปกติ จะปรากฏว่าข้อมูลจริงนั้น ค่าเงินหยวนกลับมีแนวโน้มที่แข็งขึ้น เมื่อคิดเป็นอัตราแลกเปลี่ยนแท้จริง โดยเมื่อคำนึงถึงอัตราค่าจ้างต่อหน่วยที่สูงขึ้นตลอดเวลาในประเทศจีนในระยะ 3 - 4 ปีหลังนี้ เท่ากับเป็นการสูญเสียระดับความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจคู่แข่งอื่นที่อาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของอัตราค่าจ้างต่อหน่วย หรือมีการเปลี่ยนแปลงที่น้อยกว่า
กรณีของความแตกต่างระหว่างค่าเงินตราแท้จริง และอัตราแลกเปลี่ยนตามราคาตลาด ( nominal) อาจจะเห็นได้จากการที่ยูโรโซนมีเงินตราเพียงสกุลเดียวที่ไม่สามารถสะท้อนให้เห็นระดับความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ เช่น เยอรมันและกรีซ ที่มีความสามารถแตกต่างกันมาก ซึ่งทำให้อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดของยูโรที่เฉลี่ยในขณะนี้ที่ 1.33 ดอลล่าร์สหรัฐ เมื่อคิดเป็นค่าแท้จริงแล้วก็นับว่าอ่อนไปสำหรับเยอรมัน ซึ่งควรจะอยู่ที่ระดับสูงขึ้น คือ อาจจะเป็น 1.5 ดอลล่าร์สหรัฐต่อยูโร ส่วนของกรีซที่ระดับที่ 1.33 ดอลล่าร์สหรัฐ ก็นับว่าแข็งเกินไปเมื่อคิดเป็นค่าแท้จริง ซึ่งกรีซอาจจะแข่งขันได้ตามความสามารถ หากมีอัตราในตลาดที่ 1.2 ดอลล่าร์ เป็นต้น แต่เนื่องจากตลาดยูโรมีอัตราแลกเปลี่ยนร่วมกันเพียงอัตราเดียว นโยบายที่มีผลต่อค่าของเงินที่แท้จริง จึงได้แก่นโยบายการปรับลดอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในกรีซ และนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างในเยอรมัน เพื่อยกระดับกำลังซื้อในตลาดยูโร
ในกรณีของไทยที่มีการปรับอัตราค่าจ้างขึ้นในระดับสูง ซึ่งจะมีผลให้อัตราแลกเปลี่ยนแท้จริง หรือ ค่าเงินบาทแท้จริงมีค่าแข็งขึ้นกว่าระดับสมดุล เมื่อผนวกกับอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดที่แข็งขึ้นอีกต่างหากเนื่องจากภาวะเงินทุนระยะสั้นไหลเข้ามาก อาจจะมีผลให้ระดับค่าเงินบาทที่แท้จริงแข็งเกินที่จะช่วยสะท้อนความสามารถของไทยในการแข่งขันในระดับระหว่างประเทศได้ อาจจะมีผลในทางลบต่อดุลการค้าหากไม่มีการเร่งรัดพัฒนาผลิตภาพของแรงงานให้สูงขึ้นโดยเร็ว เพื่อชดเชยกับการแข็งขึ้นของอัตราแลกเปลี่ยน
การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่มีการเก็งกำไร ความไม่แน่นอนในนโยบายเศรษฐกิจโดยเฉพาะจากประเทศที่พัฒนาแล้ว การแก้ไขการไร้ดุลยภาพในเศรษฐกิจไม่มีความคืบหน้า การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในตลาด (nominalrates ) จะมีความผันแปรอย่างมาก ยากที่แต่ละประเทศโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาจะใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อปรับอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดให้อยู่ในระดับที่จะทำให้ค่าเงินแท้จริง(realexchangerates) อยู่ในระดับที่จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจได้ ความร่วมมือของประเทศในระดับโลกและระดับนานาชาติเท่านั้นที่จะสามารถช่วยผ่อนคลายภาวการณ์เช่นนี้ได้อย่างจริงจัง (ในขณะที่แต่ละประเทศก็ต้องพยายามช่วยเหลือตนเองด้วยมาตรการที่มีอยู่ เช่น การควบคุมการเข้าออกของเงินทุนระยะสั้น และการเร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นต้น ) โดยที่อาจจะมีข้อพิจารณาในแนวทางดังต่อไปนี้
1. ระบบการเงินระหว่างประเทศต้องมีความโปร่งใส และมีระบบและกฎเกณฑ์ชัดเจน เฉกเช่น ระบบการค้าระหว่างประเทศที่มีข้อตกลงและกฎเกณฑ์ระดับพหุภาคี โดยเฉพาะเพื่อปิดกั้นการเก็งกำไรที่มากเกินเหตุ และสามารถลดความผันผวนในการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่มีผลเสียกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา
2. ควรมีข้อตกลงในระดับพหุภาคี (ซึ่งแม้ G20 ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถกำหนดได้) ว่าดัชนีทางด้านดุลยภาพทางการเงินและการค้าระหว่างประเทศควรเป็นตัวแปรอะไรบ้าง เช่น ควรจะเป็นบัญชีการค้าลักษณะใด หรือ ควรจะเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร หรือ ควรจะเป็นข้อมูลเศรษฐกิจมหภาค เช่น ระดับการออม การลงทุน หรือ ภาวะเงินเฟ้อ เป็นต้น ดัชนีเช่นนี้ควรจะเป็นสัญญาณเตือนให้มีการเข้าร่วมแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมหภาค ก่อนที่ภาวะการขาดดุลยภาพจะก่อให้เกิดความผันผวนทางการเงินที่รุนแรงต่อไป
3.ควรเปิดโอกาสให้ IMF นำระบบ SDR มาเสริมสภาพคล่องในระดับโลกอย่างเสรียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการจัดสรร SDR ให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเป็นธรรม จะช่วยทำให้การผันแปรของสภาพคล่องในตลาดโลกมีเสถียรภาพดียิ่งขึ้น ปัจจุบัน การจัดสรร SDR กำหนดโดยโควต้าการถือหุ้นที่ IMF โดยประเทศสมาชิก ซึ่งทำให้โควต้าการจัดสรร SDR ให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีสัดส่วนของกองทุนในระดับต่ำมีจำนวนน้อยตามไปด้วย
4. IMF ให้ความช่วยเหลือแนะนำประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องแก้ไขปัญหาทางด้านการเคลื่อนย้ายของเงินทุนระหว่างประเทศที่มีจำนวนสูง และนำไปสู่การผันแปรของอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่สะท้อนค่าเงินแท้จริงของประเทศเหล่านั้น การบริหารแทรกแซงเงินทุนที่ไหลเข้าออกประเทศอาจจะมีความจำเป็นที่ต้องป้องกันการไหลเข้าของเงินระยะสั้นเก็งกำไร ที่อาจจะก่อให้เกิดราคาสินทรัพย์ในประเทศเกินความเป็นจริง เป็นสาเหตุให้เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ขึ้นมาได้ ในทางกลับกันการไหลออกของเงินเก็งกำไรจำนวนมากในระยะสั้นอาจก่อให้เกิดการชะงักงันของเศรษฐกิจได้( ในกรณีของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สวิตเซอร์แลนด์ สามารถมีมาตรการเด็ดขาดที่ช่วยตัวเองได้ เช่น โดยการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระดับสูงสุด (threshold) ของเงินสวิสฟรังก์ไว้ที่ 1.2 สวิสฟรังก์ต่อยูโร โดยที่ธนาคารกลางสวิสจะรับซื้อเงินยูโรที่เข้ามาทั้งหมดหากจะมีเงินยูโรระยะสั้นไหลเข้ามามากและกดดันให้เงินสวิสฟรังก์แข็งจนเกินระดับที่จะรักษาสภาพการแข่งขันของเศรษฐกิจสวิสไว้ได้ )
5.ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้มีการสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นจำนวนสูงมาก และมีเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวในระดับที่ดีที่สุดของโลก จึงจะต้องเตรียมรับกับภาวการณ์การไหลเข้าของสภาพคล่องมากขึ้นอย่างแน่นอน แนวโน้มของการมีสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมากจะมีผลให้อัตราแลกเปลี่ยนแข็งตัวขึ้นในระยะยาว รวมทั้งความเสี่ยงในการเกิดขึ้นของฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์
การรองรับสถานการณ์เช่นนี้จะไม่ขึ้นอยู่กับการแทรกแซงระยะสั้นในตลาดเงินตราอย่างเดียว แต่จะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจที่มีผลให้ผลิตภาพสูงขึ้น ด้วยการลงทุนทางเทคโนโลยีการค้นคว้าและพัฒนาอย่างจริงจัง แนวทางการร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่น ข้อตกลงเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative) ที่กำลังได้รับการขยายขอบเขตมาเป็นลักษณะของกองทุนพหุภาคีมากขึ้น อาจจะนำไปสู่การร่วมกำหนด Code of conducts เพื่อรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนแท้จริง คือค่าเงินตราแท้จริงให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ โดยมีการปรับอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดชดเชยเพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวที่จะมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันอย่างแท้จริงน้อยที่สุด
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น