โดย ธันวา เลาหศิริวงศ์
แม้หน่วยงานภาครัฐได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความร้อนแรงของตลาดหุ้นไทย แต่นักลงทุนยังมีความมั่นใจและพร้อมเข้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนี SET ปิด ณ วันที่ 15 มีนาคม 2556 ที่ 1,598 จุด เพิ่มขึ้นเกือบ 15% ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้นเกือบ 22% นับตั้งแต่ต้นปี ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายหนาแน่นและสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ นักลงทุนยังพร้อมเข้าลงทุนหุ้น ณ ระดับราคาที่ PE สูงกว่า 40 เท่าอีกด้วย คำถามที่เกิดขึ้นคือ "ฤๅพื้นฐานของประเทศหรือตลาดหุ้นได้เปลี่ยนไป ?"
ก่อน ที่จะตอบคำถามดังกล่าว ผมนึกถึงข้อมูลที่ได้รับจากการเข้าชมนิทรรศการ "THAILAND 2020 ก้าวใหม่เชื่อมไทยสู่โลก" ที่รัฐบาลประชาสัมพันธ์มากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอนาคตประเทศถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยตั้งงบประมาณการลงทุนสูงถึง 2 ล้านล้านบาทใน 7 ปีข้างหน้า เน้นโครงสร้างพื้นฐานระบบรางถึง 78% ซึ่งได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 10 สาย เป็นต้น
การ ลงทุนครั้งมหาศาลนี้ ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวที่มีโครงการรองรับเป็นรูปธรรม นอกจากจะกระตุ้นระบบเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่พัฒนาและยกระดับการแข่งขันของประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางและการขนส่ง ตลอดจนเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น กล่าวคือ "หากทำสำเร็จตามแผน" ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พื้นฐานและศักยภาพของประเทศไทย เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงได้เช่นกัน การลงทุนครั้งนี้จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อบริษัทจดทะเบียนหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
กลุ่มแรก คือ กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างที่ชนะการประมูล กลุ่มผู้รับเหมาช่วงต่อ บริษัทแต่ละรายน่าจะมีงานล้นมือในอีกหลายปีข้างหน้า และจะต้องมีผลประกอบการที่ดี หากราคาต่ำสุดที่ชนะการประมูลเป็นราคาที่ดีมีกำไร และสามารถควบคุมต้นทุนการก่อสร้างทั้งราคาวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักร พลังงาน แรงงาน ตลอดจนเงินกู้และดอกเบี้ยจ่าย ส่งมอบงานได้ตรงตามกำหนดเวลาโดยไม่ถูกปรับในทุกกรณี
กลุ่มสอง คือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร กลุ่มเหล็ก กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ บริษัทที่จะมีผลประกอบการ
ที่โดดเด่นต้องมีกระบวนการผลิตที่มี ประสิทธิภาพสูง สามารถบริหารจัดการต้นทุน ความผันผวนราคาวัตถุดิบและค่าเงิน และรักษาระดับการทำกำไรได้ดี แม้จะเผชิญสภาวะที่มีการแข่งขันสูงขึ้นก็ตาม
กลุ่มสาม คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
กลุ่ม พาณิชย์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม คือกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ทางอ้อม ธนาคารพาณิชย์และบริษัทไอซีทีที่จะได้ประโยชน์สูงสุดต้องสร้างความแตกต่าง ของสินค้าและบริการ เพื่อไม่ให้ถูกต่อรองจนได้รับผลกระทบต่อระดับการทำกำไร และต้องไม่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
ส่วนกลุ่มพาณิชย์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม จะได้รับผลดีจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง และมีโอกาสขยายธุรกิจไปยังต่างจังหวัดตามความเจริญที่เพิ่มขึ้น ผลประกอบการที่ดีขึ้นจะเกิดจากการเพิ่มประสิทธิภาพ และได้ประโยชน์ของ Economy of scale ที่สูงขึ้นนั่นเอง
กลุ่มสุดท้าย กลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มท่องเที่ยวและสันทนาการ การเดินทางที่สะดวกสบายและรวดเร็วขึ้น จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่สามารถพัฒนาสินค้าและบริการตรงกับความต้องการ ของ
ผู้บริโภค ทั้งด้านคุณภาพและราคา โดยยังมีระดับการทำกำไรที่ดี
ที่ กล่าวมาเป็นเพียงกรณีตัวอย่าง "เชิงบวก" ที่คาดว่าประเทศไทยและกลุ่มบริษัทจดทะเบียนจะได้รับจากการลงทุนครั้งสำคัญ นี้ อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้สร้างความกังวลจากหลายภาคส่วน ทั้งด้านการเพิ่มภาระหนี้สาธารณะ ความโปร่งใสและปัญหาคอร์รัปชั่น ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น หากสถานการณ์เปลี่ยนหรือมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน
เกิดขึ้น โครงการดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นเพียงบางส่วน หรือไม่เกิดขึ้นเลยก็เป็นได้
กล่าว โดยสรุป คือ ยังไม่สามารถตอบได้ว่าพื้นฐานของประเทศ หรือตลาดหุ้นเปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะยังมีปัจจัยสำคัญ คือ "ความไม่แน่นอน" อยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ระดับราคา
หุ้นที่นักลงทุนทั่วไปซื้อขายในปัจจุบันนั้น
ดูเหมือนว่าเป็นการประเมินเชิงบวกทั้งสิ้น และมองข้าม "ตัวแปรความไม่แน่นอน" อย่างสิ้นเชิง
ใน ภาวะตลาดกระทิงเช่นปัจจุบัน Value Investor ทุกคนต้องวิเคราะห์ถึงทุก "ปัจจัยเสี่ยง" ที่อาจเกิดขึ้น และต้องหลีกเลี่ยงหากมีโอกาสที่จะกระทบเชิงลบต่อกิจการอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ตนตกอยู่ในภาวะ High Risk Low Return นั่นเอง
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น