แม้ประเทศไทยจะเริ่มกระบวนการนำคลื่นความถี่ 2.1 GHz (2100 MHz) มาใช้ในกิจการโทรคมนาคมของประเทศ จากการที่คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ทำการจัดสรรโดยวิธีการประมูลเมื่อเดือนตุลาคม 2555 ที่ผ่านมาเพื่อให้เป็นคลื่นความถี่สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการรับส่งข้อมูลและเสียงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง
โดยก่อนที่จะมีการจัดสรรคลื่นความถี่ 2.1 GHz ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหลักในประเทศไทยต่างก็ได้ให้บริการในระบบ 3G บนคลื่นความถี่เดิมในระบบ 2G เช่น 850 MHz 900 MHz และ 1800 MHz กันอยู่ก่อนแล้ว การให้บริการระบบ 3G บนคลื่นความถี่เดิมซึ่งใช้ในการให้บริการระบบ 2G ในขณะที่ผู้ให้บริการแต่ละรายมีฐานลูกค้าระบบเดิมอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้การให้บริการ 3G ต้องเข้าไปแย่งชิงหรือลดทอนพื้นที่ให้บริการระบบเดิม ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพการให้บริการ เช่น สายหลุดบ่อยครั้ง หรือระดับความแรงของสัญญาณโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เนตมีคุณภาพที่ไม่ดีพอมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน
นอกจากปัญหาที่เกิดจากการให้บริการ 3G ในระบบเดิมแล้ว ในส่วนการเตรียมความพร้อมเพื่อให้บริการภายใต้คลื่น 2.1 GHz ขณะที่ผู้ให้บริการแต่ละรายกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อเริ่มการให้บริการในระบบ 3G นั้น ได้เกิดปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพการให้บริการโดยเฉพาะด้านเสียงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สำนักงานคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากเกี่ยวกับปัญหาคุณภาพให้บริการ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำการตรวจวัดคุณภาพการให้บริการโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่และในส่วนภูมิภาคทุกจังหวัด
ปรากฏว่าการให้บริการระบบ 3G ซึ่งมีผู้ให้บริการที่เป็นบริษัทเอกชน 3 ราย และรัฐวิสาหกิจ 1 ราย มีอัตราการโทร.ออกสำเร็จอยู่ระหว่าง 98%-100% มีอัตราสายหลุดอยู่ที่ 0.5% ส่วนระดับความแรงและคุณภาพของสัญญาณอยู่ที่ 55%-85% ซึ่งความแรงสัญญาณของผู้ให้บริการที่เป็นรัฐวิสาหกิจมีอัตราที่ต่ำกว่าของเอกชน เนื่องจากข้อจำกัดของคลื่นความถี่ที่นำมาให้บริการ 3G แต่ก็ถือว่ายังไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กสทช. กำหนดไว้ ในส่วนของการให้บริการระบบ 2G ทุกเครือข่ายมีอัตราการโทร.ออกสำเร็จอยู่ในระดับใกล้เคียงกันคือ 97% ถึง 100% อัตราสายหลุด 0% คุณภาพและความแรงของสัญญาณอยู่ที่ 94%-97%
การออกไปตรวจวัดคุณภาพการให้บริการทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดของสำนักงาน กสทช. ดังกล่าว ทำให้เห็นว่าการให้บริการระบบ 2G ซึ่งเป็นการสื่อสารในระบบเดิมที่ใช้มาแต่เดิมทั้งในย่านความถี่ 850 MHz 900 MHz และ 1800 MHz ผู้ให้บริการแต่ละรายได้มีการขยายเครือข่ายจนครอบคลุมไปทั่วประเทศ ส่งผลให้คุณภาพการให้บริการตลอดจนระดับความแรงของสัญญาณสามารถครอบคลุมพื้นที่การให้บริการในเกณฑ์ดี แต่ในส่วนของการให้บริการระบบ 3G พบว่ายังมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะการให้บริการ 3G ในปัจจุบันยังมีลักษณะที่เบียดเสียดกันอยู่ สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งคือผู้ให้บริการทุกรายต่างอยู่ระหว่างการเร่งปรับปรุงเครือข่ายของตนเอง เพื่อเริ่มการให้บริการในระบบการใช้เทคโนโลยี 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลจากการเตรียมความพร้อมเพื่อเริ่มการให้บริการระบบใหม่ จึงส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการของผู้ประกอบการทุกราย
แม้การเปลี่ยนผ่านจากการใช้คลื่นความถี่เดิมไปสู่การใช้คลื่นความถี่ใหม่ เพื่อรองรับกับเทคโนโลยี 3G จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพการให้บริการในวงกว้าง แต่ก็อาจต้องให้ระยะเวลาแก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายที่ให้บริการระบบ 3G ได้มีการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ก่อนเปิดให้บริการระบบ 3G ที่แท้จริงอย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อทุกฝ่ายมีความพร้อมเต็มที่ในการบริการ อีกทั้งผู้ให้บริการเอกชนทุกรายต่างอยู่ในฐานะที่ทัดเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นปริมาณคลื่นความถี่ที่ต่างก็มีอยู่รายละ 15 MHz และเทคโนโลยี ส่วนคุณภาพและการให้บริการเป็นเรื่องที่ต้องแข่งขันกันภายใต้ระบบการค้าเสรี ที่ผู้ใช้บริการจะได้ประโยชน์ในที่สุด
ที่มา.นสพ.แนวหน้า
/////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น