′เพ้ง′เต้น สั่งกระทรวงพลังงานชี้แจง สยบกระบวนการต้านเปิดสัมปทานปิโตรฯรอบใหม่ ว่อนเฟซบุ๊กแฉไทยผลิตน้ำมันได้เองวันละล้านบาร์เรล แต่ส่งออกหมด ปล่อยคนไทยใช้ของแพง กรมเชื้อเพลิงยันผลิตได้แค่วันละแสน เตรียมหารือด่วนดึงมาใช้ในประเทศแทน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้สั่งการให้คณะกรรมการปิโตรเลียมที่มีนายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชพ.) เร่งทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความจำเป็นในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 เพราะเดิมแผนการเปิดสัมปทานดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายในกลางปีนี้ แต่จากกระแสข่าวทางโซเชียลเน็ตเวิร์กและการเดินสายให้ข้อมูลเพื่อต่อต้านการเปิดสัมปทานรอบ 21 โดยอ้างว่าค่าภาคหลวงปิโตรเลียม และอัตราภาษีอื่นๆ ไม่เหมาะสมทำให้เสียประโยชน์ และการปล่อยข่าวว่าประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบวันละ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่เน้นส่งออก ทำให้ไทยต้องใช้น้ำมันแพง ทั้งที่ข้อมูลแท้จริงไทยผลิตน้ำมันดิบได้เพียง 145,000 บาร์เรลต่อวัน และส่วนหนึ่งส่งออกเพราะมีค่าทางเคมีใช้ในประเทศไม่ได้
"การสร้างความเข้าใจและสกัดข่าวดังกล่าวจะต้องทำให้สำเร็จภายในปีนี้ เพื่อให้การเปิดสัมปทานเดินหน้าภายในปี 2557 สอดรับกับปริมาณปิโตรเลียมไทยที่ลดน้อยลง โดยเฉพาะแหล่งใหญ่สุด คือ อ่าวไทย ที่ปัจจุบันกำลังผลิตสูงสุดแล้วโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 2,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะผลิตลดลงไม่เกิน 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตในอีก 20 ปีข้างหน้า ดังนั้นไทยจึงจำเป็นต้องหาแหล่งก๊าซเพิ่ม" แหล่งข่าวกล่าว
นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงานในฐานะประธานกรรมการปิโตรเลียม กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบข้อมูลการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยของประเทศในรอบปี 2555 อยู่ที่ประมาณ 145,000 บาร์เรลต่อวัน มาจากแหล่งในทะเล 111,640 บาร์เรลต่อวัน และแหล่งบนบก 33,360 บาร์เรลต่อวัน ดังนั้นกระแสข่าวเรื่องปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตได้ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันจึงไม่เป็นความจริง
"สัมปทานรอบ 21 จะมีทั้งสิ้น 22 แปลงสำรวจ ทั้งบนบกและในทะเล หากสำรวจพบก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 ล้านลูกบาศก์ฟุต น้ำมันดิบ 10-20 ล้านบาร์เรล ซึ่งปริมาณใกล้เคียงกับก๊าซในอ่าวไทยในปัจจุบัน" นายณอคุณกล่าว
นายณอคุณกล่าวว่า ส่วนข่าวอัตราการจัดเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมและภาษีที่ระบุไม่เหมาะสมนั้นไม่เป็นความจริงเช่นกัน เพราะไทยกำหนดอัตราเก็บค่าภาคหลวงและภาษีไว้ 2 ช่วง อัตราอยู่ในระดับกลางของโลก คือ ไทยแลนด์วัน สัมปทานตั้งแต่ปี 2514 กำหนดไว้ที่ 12.5% ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 50% และไทยแลนด์ทรี ซึ่งเป็นสัมปทานตั้งแต่ปี 2532 กำหนดไว้ที่ 5-15% ตามความสามารถในการขุดเจาะ หากลงทุนน้อยแต่ได้ปิโตรเลียมมากจะต้องเสียค่าผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษเพิ่มด้วย ขณะที่ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 50% เช่นกัน
นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชพ.) กล่าวว่า เร็วๆ นี้จะเรียกประชุมผู้ผลิตปิโตรเลียม โรงกลั่นน้ำมัน และสถาบันปิโตรเลียม เพื่อหารือว่าจะดึงน้ำมันดิบที่มีการส่งออก 40,000 บาร์เรลต่อวัน มาใช้ในประเทศได้หรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับโรงกลั่นในไทย โดยมีสารปรอทและกำมะถันสูง ซึ่งจะสามารถผลิตเบนซินได้มากกว่าดีเซลในขณะที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้ดีเซลจำนวนมาก
ที่มา.มติชนออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น