ผลของการเลือกตั้งครั้งนี้ชี้ ให้เห็นว่า นักการเมืองเก่าเหล่านี้ กำลังถูกท้าทายด้วยนักคิดรุ่นใหม่ที่มาในรูปของสื่อสังคมออนไลน์ คนกลุ่มนี้ไม่ใช่ทั้งอำนาจนิยมและอนุรักษ์นิยม แต่เป็นสัจจะนิยม
สื่อต่างประเทศทุกสำนัก รายงานข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ครั้งนี้ออกไปในทำนองคล้ายกันมากคือ ผลที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าคนในเมืองหลวง ปฏิเสธผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนจากทักษิณ ชินวัตร ทำให้ผู้มีสิทธิลงคะแนน เทเสียงให้ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร สูงถึง 1.2 ล้านคะแนน ทำลายสถิติของ นายสมัคร สุนทรเวช ในเวลาเดียวกัน ผู้สมัครมาจากพรรคเพื่อไทย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้เข้าป้ายอันดับสองก็ตาม แต่เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยเพราะทำคะแนนทะลุหลักล้านได้เหมือนกัน
ผลของคะแนนทิ้งห่างกันประมาณสองแสนคะแนน ทำให้ผู้สังเกตการณ์ ยกหลักวิชาการหลักสถิติขึ้นมาเปรียบเทียบ มาวิเคราะห์หาที่มาที่ไปของคะแนน ของ พท.(เพื่อไทย) และปชป.(ประชาธิปัตย์) แฟนๆประชาธิปัตย์ หลายคนหวั่นไหวจากผลคะแนนที่ทิ้งกันไม่ห่างเหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมา ส่วนผู้สนับสนุนเพื่อไทย ก็บอกว่านี้เป็นชัยชนะของคนแพ้
ใช้สามัญสำนึกธรรมดา บวกกับมองย้อนหลังไปที่การเลือกตั้งในอดีต กับธรรมชาติของการเลือกตั้งในเมืองหลวง พบว่า คนที่เลือก ปชป.เป็นพวกอนุรักษ์นิยมเหนียวแน่น ส่วนผู้ที่เลือก พท.มีแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมืองไปทางอำนาจนิยม ที่มองจากมุมนี้เพราะ พบว่า พท.เอง ไม่มีฐานคะแนนใน กทม.เป็นของตัวเองคะแนนที่ได้มาหลั่งไหลมารวมกัน จากอดีตพรรคพลังธรรม พรรคประชากรไทยและพรรคมวลชน บวกคะแนนของกลุ่มนักธุรกิจการเมือง ที่ได้ผลประโยชน์อย่างมหาศาลจากนโยบายของพรรคไทยรักไทย(ทรท.)
กลับไปดูการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย พบว่า เป็นพรรคที่รวบรวมเอานักการเมืองเก่า ในเมืองหลวงมาจากพรรคพลังธรรม และในปี 2550 นายสมัคร สุนทรเวชทิ้งพรรคประชากรไทย มาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นการเกิดใหม่ของ ทรท.จึงทำให้ฐานการเมืองเก่าของพลังธรรมกับประชากรไทยมารวมอยู่ในพรรคพลังประชาชน มาถึงปี 2554 คะแนนเสียงที่เคยมีอยู่บ้างในพรรคมวลชนของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ก็ผนวกเข้ามาอยู่ใน พท.เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าคะแนนเสียงทะลุล้านของ พท.มาจากไหน
ก่อนมีการเลือกตั้งทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม และ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งอดีตเป็นแกนนำคนสำคัญของพรรคพลังธรรม ได้ออกมาประกาศตัวช่วยเหลือผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยเต็มที่ นอกจากนั้น พลังธรรมเก่าแก่ผู้อุปถัมภ์ค้ำชูซึ่งกันและกันกับผู้ก่อตั้งไทยรักไทยตั้งแต่ต้นจนถึงวันนี้ได้ร่วมมือกับกลุ่มบ้านพระอาทิตย์โหมหาเสียงทางอ้อมให้กับผู้สมัครพรรคเพื่อไทยเต็มที่ ตัดคะแนน ปชป.ทางอ้อม โดยการโจมตี ปชป.ทางสื่อในสังกัด แสร้งทำเป็นสนับสนุนผู้สมัครอิสระ ไม่ศรัทธาระบอบพรรคการเมืองทั้งๆ ที่ตัวเองกระสันอย่างมากที่จะกระโจนเข้าสู่วงการเมือง แต่ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาแล้วล้มเหลวไม่เป็นท่า
จึงไม่น่าแปลกใจ ว่าทำไมกลุ่มการเมืองเก่าไม่ว่าจะเป็น พลังธรรม ประชากรไทย มวลชน และกลุ่มบ้านพระอาทิตย์ถึงได้ระดมสรรพกำลังทั้งหมดมาสนับสนุนเพื่อไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ล้วนแต่มีแค้นฝังเข็มอยู่กับ ปชป.ทั้งทางการเมือง และ เรื่องธุรกิจส่วนตัว
กลุ่มบ้านพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีฐานคะแนนเสียงทางการเมืองเป็นของตัวเอง แต่ใช้วิธีเอาธุรกิจส่วนตัวไปอิงการเมืองตลอดมา ในอดีตเคยทุ่มเงินสนับสนุนพรรคมวลชน เจ้าตัวเองก็ออกมาลำเลิกบุญคุณที่เคยช่วยหัวหน้าพรรคมวลชน ที่เคยซื้อรถยนต์ราคาแพงให้ กลุ่มนี้ทุ่มเงินจำนวนมากช่วยเหลือพรรคชาติไทยในช่วงที่พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำธุรกิจกับ นายฮุนเซ็น ในระยะแรกๆ ที่เขมรสร้างความสัมพันธ์กับไทย ติดสินบน ฮุนเซ็นด้วยการซื้อนาฬิการาคาเรือนแสนให้ ฮุนเซ็น เจ้าตัวออกมาทวงบุญคุณกับ ฮุนเซ็น และประณามว่า ฮุนเซ็นเป็นคนเนรคุณ ตอนที่รณรงค์เรื่องเขาพระวิหาร กลุ่มธุรกิจการเมือง กลุ่มนี้ มีสันดานลำเลิกบุญคุณภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นการลำเลิกบุญคุณกับ สล้าง บุนนาค กับ เฉลิม อยู่บำรุง และ กับนายฮุนเซ็น สุดท้ายมาลำเลิกบุญคุณกับ ปชป.
กลุ่มการเมืองกลุ่มนี้ติดสินบนกับคนที่อยู่ในอำนาจ และเอื้อประโยชน์ให้ทุกพรรค แต่มีพรรคเดียวที่ไม่สามารถทำได้คือ ปชป.นอกจากติดสินบนไม่ได้แล้ว ยังถูก ปชป.ขัดขวางการฉ้อโกงจนทำให้ถูกตัดสินจำคุกถึงยี่สิบปี
สำหรับคนที่ยังสงสัยอยู่ว่า ทำไมคนกลุ่มนี้ถึงจงเกลียดจงชัง ปชป.ให้นึกย้อนไปถึงอดีต สมัยที่ พล.อ.ชาติชาย เป็นนายกรัฐมนตรี ในเวลานั้น มีการปั่นหุ้น ปั่นราคาที่ดินกันอย่างมโหฬารทำเอาพวกนายทุนเจ้าเล่ห์ ร่ำรวยมหาศาล กลุ่มธุรกิจการเมืองกลุ่มนี้ ถูกตรวจสอบขัดขวางโดย ปชป.จากการปั่นหุ้นการตบแต่งบัญชีหลอกตลาดหลักทรัพย์ฯและธนาคาร ทำให้ถูกดำเนินคดี และในที่สุดเมื่อปี 2554-2555 ศาลตัดสินลงโทษจำคุกถึง 85 ปี แต่ให้มีโทษจำจริง 20 ปี
เบื้องหลังความเจ้าเล่ห์ของคนกลุ่มนี้ยังมีอีกมาก แต่วันนี้ตั้งใจจะเขียนให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่าคะแนนเสียงทะลุล้านของเพื่อไทย มาจากไหน ส่วนเรื่องที่วิเคราะห์ว่า ผู้ที่เลือก ปชป.อนุรักษ์นิยม และ ผู้ที่เลือก พท.มาจากฐานเก่าของผู้สนับสนุนอำนาจนิยม จากเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลาสี่ทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เห็นภาพแตกต่างอันนี้อย่างชัดเจน
ปชป.ได้รับความนิยมสูงมากหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่กลับถูกพรรคกิจสังคมซึ่งมีเพียง18 ที่นั่ง แย่งตั้งรัฐบาลได้ ในปี 2519 ปชป.ได้เสียงมากกว่าพรรคอื่นๆ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่เพราะความเป็นอนุรักษ์นิยมไม่กล้าตัดสินใจเด็ดขาด ไม่กล้าสั่งการหยุดยั้งกลุ่มการเมืองขวาจัดถึงเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ตอนนั้นพวกอำนาจนิยมโกรธ ปชป.หันไปทุ่มคะแนนให้กับนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นนักการเมืองอำนาจนิยมขวาจัดอยู่ ปชป.และออกไปตั้งพรรคประชากรไทยเป็นของตัวเอง
ในการเลือกตั้งปี 2522 ประชากรไทย กวาดที่นั่ง กทม.เกือบหมด เหลือไว้ให้ ปชป.เพียงที่นั่งเดียว แต่หลังจากนั้นการที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลับมาสนับสนุน ปชป.อีก ถึงปี 2526 คะแนนเสียง ปชป.ตีตื้นขึ้นมาก ขณะที่ประชากรไทยกำลังถดถอย และ ปชป.กำลังฟื้นตัวคนกรุงเทพฯก็ค่อยๆ กลับมาสนับสนุนอีก ในปี 2528 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กำลังรุ่งเพราะเป็นเลขาฯพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ตั้งกลุ่มพลังธรรมขึ้นมา สมัครผู้ว่าฯ กทม. ได้รับการเลือกตั้งในคราบของผู้สมถะ แต่ถ้ามองให้ชัดจะเห็นว่า จำลอง เป็นหนึ่งในกลุ่มยังเติร์ก พวกอำนาจนิยมที่อยากได้อำนาจมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร และเป็นอำนาจนิยมที่เอาแต่ใจตัวเอง ตั้งตัวเองเป็นศูนย์กลางของอำนาจทั้งหมด
หลังจากได้เป็นผู้ว่าฯกทม. พรรคพลังธรรม ก็เกิดขึ้น คะแนนเสียงใน กทม.ถึงคละกันระหว่าง ปชป. ประชากรไทย และพลังธรรม แต่หลังเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ 2535 พลังธรรม ตกม้าตายเพราะวาทกรรมที่ว่า “พาคนไปตาย” ปชป.พลิกกลับมาได้รับความนิยมสูงขึ้นอีกมาก สวนทางกับ พลังธรรม และประชากรไทย พลังธรรมเหลือเพียงคนเดียว ประชากรไทยเหลือ 3 คน
คะแนนเสียงของ ปชป.จะเป็นพื้นฐานที่ขึ้นลงตามอารมณ์ของผู้คนกับเหตุการณ์ทางการเมือง แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่เคยทิ้งปชป. มีสั่งสอนบ้างในบางครั้ง ส่วนกลุ่มอำนาจนิยม มักจะไหลไปรวมกับกลุ่มอำนาจนิยมที่กำลังอยู่ในอำนาจ เพราะฉะนั้นเมื่อ พท.เป็นกลุ่มอำนาจนิยม กับนักธุรกิจการเมืองมารวมกัน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คะแนนของ พท.ทะลุล้าน
ทั้งหมดที่พูดมาเป็นกลุ่มการเมืองเก่าที่มีพฤติกรรมต่อเนื่องกันมาหลายทศวรรษ อย่างไรก็ตามผลของการเลือกตั้งครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า นักการเมืองเก่าเหล่านี้ กำลังถูกท้าทายด้วยนักคิดรุ่นใหม่ที่มาในรูปของสื่อสังคมออนไลน์ คนกลุ่มนี้ไม่ใช่ทั้งอำนาจนิยมและอนุรักษ์นิยม แต่เป็นสัจจะนิยม
เป็นกลุ่มอำนาจใหม่ที่ไม่มีในทฤษฎีรัฐศาสตร์ เป็นกลุ่มที่มีความคิดเป็นปัจเจก ซึ่งเป็นตัวแปลและมีอิทธิพลสูงต่อชัยชนะของ ปชป.ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ และจะเป็นตัวแปลสำคัญในการเลือกตั้งในอนาคต
ที่มา.นสพ.แนวหน้า
//////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น