--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

บทบาทสตรียุคใหม่ จารุพรรณ กุลดิลก อาสาเปลี่ยนขั้วสมการ หญิง-ชาย !!?

โดย ดาริกา บำรุงโชค
บทบาทสตรีเติบโตขึ้นมาพร้อมกับสิทธิความเสมอภาคของมนุษย์ หลังจากถอดรหัสสังคมที่ระบุสถานะ "ผู้ชาย" กับ "ผู้หญิง" ให้เป็น "อสมการ" ที่มีสองขั้วไม่เท่ากัน ค่อย ๆ เขยื้อนขยับเข้าสู่ "สมการ" ที่มีเครื่องหมายเท่ากับหรือเท่ากันมากขึ้น

จากก้าวนำของสุภาพสตรีที่ขึ้นสู่อำนาจสูงสุด รวมถึงการเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามสิทธิมนุษยชน ทำให้บทบาทของผู้หญิงเติบโตก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ แม้แต่ในสังคมไทยที่ยกให้ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ก็ถึงเวลาสลับผลัดกันเดินนำบ้างแล้ว

หนึ่งในสตรีที่มองว่าความละเอียดอ่อนของผู้หญิงจะช่วยลดอุณหภูมิความขัดแย้งลงได้และเชื่อว่าผู้หญิงควรจะมีส่วนเข้าไปตัดเย็บกติกา เสริมเติมแต่งละเอียดให้สังคมได้มากขึ้น

ตามความเชื่อของ ดร.จารุพรรณ กุลดิลก หรือคุ้นหูกันว่า "อาจารย์จา"ลูกสาวคนโตของ พล.ต.อ.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่รู้จักในฐานะอดีตอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมีแห่งสำนักมหิดล

ถือเป็นนักการเมืองป้ายแดงแถมไฟแรงไม่แพ้รุ่นเก๋าสวมหมวกเป็นเลขาธิการกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภาที่สมบุกสมบันทุ่มเทกับงานสวมบทบาทนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และอาสาเข้าไปดูแลเรื่องพายุสุริยะที่ส่งผลกระทบต่อโลก

ที่สำคัญ อาจารย์จายังเป็นหญิงเดียวในเอเชียที่ได้รับคำเชิญจาก "ฮิลลารี คลินตัน" ให้ขึ้นเวทีโชว์วิสัยทัศน์กระทบไหล่สตรีคนสำคัญของโลก กล่าวถึง "สิทธิสตรี" ส่งผลให้สตรีไทยเจิดจรัสในเวทีโลกและเวทีการเมืองไทย



ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย มาฟังทรรศนะจากผู้หญิงเก่งกล่าวถึง "บทบาทสตรียุคใหม่" เนื่องในวันสตรีสากล (8 มีนาคม) ว่า ประเทศไทยหมดยุคช้างเท้าหลัง พ้นยุคแช่แข็งสิทธิสตรีหรือยัง ?


กับที่มาที่ไปของคำเชิญจาก "ฮิลลารี คลินตัน" ให้เป็นตัวแทนสตรีเอเชียแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีโลก และวาระการจัดประชุมซัมมิตเกี่ยวกับผู้หญิงในช่วงปลายปีที่เมืองไทย

เริ่มจากที่นางฮิลลารีต้องการรณรงค์ให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานทางการเมืองและเพื่อสังคมในสัดส่วน50% ของผู้หญิงทั่วโลก ภายในปี ค.ศ. 2050จนกลายเป็นอุดมการณ์อันแรงกล้าของผู้นำสตรีหลายท่านเข้ามาร่วมมือกัน เช่น แมดเดลีน อัลไบรต์ (อดีต รมว.ต่างประเทศสหรัฐ), คริสติน ลาการ์ด (ประธานไอเอ็มเอฟ), ประธานของ UNDP และบรรดานายกฯและรัฐมนตรีหญิงจากหลายประเทศ ผลักดันให้เกิดเป็นโครงการ The Women in Public Service Project ในช่วงปลายปี 2554

"ก่อนหน้านี้ดิฉันทำงานในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและเคยทำหน้าที่ช่วยประสานงานด้านสื่อสารระหว่างประเทศในช่วงหาเสียงของนายกฯยิ่งลักษณ์จนทำให้ต่างชาติเริ่มรู้จักค่อนข้างเยอะต่อมาก็เข้ามาเป็นกรรมาธิการต่างประเทศ และทางสหรัฐได้ส่งชื่อดิฉันไปเป็น 1 ใน 200 ผู้หญิงทั่วโลกเพื่อเข้าเวิร์กช็อป จึงได้ไปกล่าวเน้นย้ำประเด็นที่ว่า สิทธิสตรีก็คือสิทธิมนุษยชน และผู้หญิงจะทำหน้าที่เรียกร้องคุณค่าความเป็นมนุษย์ได้ดีด้วย"


หลังจากนั้น ฮิลลารีคัดเลือกเพียง 50 คน มีชื่ออาจารย์จา

เป็นผู้หญิงเอเชียคนเดียวที่ได้รับเลือกให้ขึ้นไปแลกเปลี่ยนทรรศนะที่กรุงวอชิงตันดี.ซี. และจัดเป็นโครงการต่อเนื่อง มีเวทีจัดประชุมย่อย ๆ ต่ออีกในหลายประเทศ


ล่าสุดตัวแทนของนางฮิลลารีได้เข้าพบ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อเรียนเชิญให้มาเป็นแกนนำจัดประชุมซัมมิต

เกี่ยวกับผู้หญิงในช่วงปลายปีนี้ที่เมืองไทย

-เวทีประชุมสุดยอดผู้นำหญิงครั้งแรกที่เมืองไทยจะมีอะไรบ้าง

ใช่ จะเป็นซัมมิตครั้งแรกที่รวมผู้นำสตรีจากทั่วโลกมาประชุมที่ประเทศไทย เป็นเวทีว่าด้วยบทบาทของผู้หญิงในประเด็นต่าง ๆ ผลักดันโดยสหประชาชาติและสหรัฐอเมริกา

เชื่อว่าจะทำให้ผู้นำในอาเซียนได้มารวมตัวกันด้วย เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ทั้งโลก เพราะผู้นำหญิงแถบเอเชียมีจำนวนเยอะมากกว่าฝั่งอเมริกาหรือยุโรปขณะนี้อยู่ในระหว่างการติดต่อประสานงาน ซึ่งมีสำนักนายกฯเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง

- ถ้าผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางการเมือง สังคมจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ส่วนตัวเชื่อว่าบทบาทผู้หญิงจะช่วยลดความรุนแรงและความขัดแย้งของโลกนี้ได้แต่ไหนแต่ไรมาโลกใบนี้ถูกออกแบบโครงสร้างการปกครองต่าง ๆ โดยผู้ชายมาโดยตลอด

ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบต่าง ๆ ผู้ชายก็เป็นคนร่างขึ้นจากความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ผู้ชายเน้นหลักเหตุผล กฎหมายระเบียบส่วนใหญ่ก็ใช้เหตุผลและตรรกะเป็นหลัก ละเลยมิติทางความรู้สึกไป

ประเด็นเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ที่ถูกสะสมมาเป็นพัน ๆ ปี ทำให้โลกนี้ถูกออกแบบมาอย่างไม่สมดุลบางครั้งความเป็นหญิงน่าจะเข้ามาตัดเย็บกติกาใหม่เพื่อให้เข้ากับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมบนฐานความเป็นจริงมากขึ้น

อย่างกรณีสุขภาพของผู้หญิงกับการทำงาน8 ชั่วโมง แน่นอนว่าสรีระร่างกายของผู้หญิงย่อมสู้ผู้ชายไม่ได้อยู่แล้ว ตรงนี้ก็ไม่ได้มีการออกแบบกฎหมายเพื่อมารองรับ ผู้หญิงจึงเจ็บป่วยจากการทำงานเยอะมาก

- กฎกติกาเพื่อผู้หญิง ไม่ขัดกับหลักการความเท่าเทียม

กลุ่มเคลื่อนไหวสิทธิสตรีก็เคยตั้งคำถามประมาณนี้เหมือนกันถามถึงคำว่า"ความเท่าเทียม" แน่นอนย่อมไม่มีทางเท่าเทียมระหว่างหญิงกับชายได้ แต่เรากำลังต้องการให้เกิดคำว่า"ความเสมอภาค" ระหว่างชายกับหญิงที่จะมีโอกาสต่าง ๆ มากกว่าจะเน้นพัฒนาร่างกายหรือศักยภาพให้เท่าเทียมกันแต่ควรให้ทั้งหญิงและชายมีโอกาสให้เข้าไปอยู่ในระดับการตัดสินใจในทุกระดับของสังคมสัดส่วนเท่าๆ กัน

- ปัญหาสตรีในเมืองไทยเป็นอย่างไร

ปัญหาเกี่ยวกับผู้หญิงมีเยอะมาก บางประเด็นก็เกี่ยวข้องกับมิติวัฒนธรรมด้วย แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ความรุนแรงภายในครอบครัว (Domestic Violence)

"ดิฉันทราบข้อมูลจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าในทุก 4 นาทีจะเกิดปัญหานี้1 ครั้ง แต่ละปีมีจำนวนประมาณ 7 หมื่นกว่าครั้งที่เป็นการทำร้ายผู้หญิง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก็ต้องฟังเสียงจากผู้หญิงด้วยกัน"

- มุมมองบทบาทผู้หญิงกับการเมืองไทยในสภาเมื่อเทียบกับต่างประเทศ


ก่อนอื่นต้องดูทั้งเรื่องปริมาณและคุณภาพสำหรับปริมาณผู้หญิงในสภาของไทยยังมีจำนวนน้อยมาก นอกจากมีนายกฯหญิงแล้ว ก็มีรัฐมนตรีหญิงเพียงคนเดียว (ศันสนีย์ นาคพงศ์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ) อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่เสมอภาคกันแล้ว

"สภาไทยต้องมีปริมาณผู้หญิงในระดับการตัดสินใจมากกว่านี้ ซึ่งตอนนี้ผู้แทนผู้หญิงในสภามีแค่ 15% ขณะที่ในหลายประเทศมีเกิน 50% ไปแล้ว เช่น ในสภาของสวีเดน หรือสวิตเซอร์แลนด์"

ส่วนเรื่องคุณภาพ ไม่ใช่ว่าผู้ชายทำงานไม่ดี แต่ถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงจะเข้ามาช่วยเสริมเติมความละเอียดอ่อนให้สังคมมากขึ้น ต้องเกิดการเรียนรู้และพัฒนาทั้งคุณภาพและปริมาณไปพร้อม ๆ กัน เพื่อปูทางสร้างผู้นำหญิงให้แก่สังคมในอนาคต สังคมไทยต้องเรียนรู้เรื่องนี้กันแล้ว

- กลุ่มสิทธิสตรีเคลื่อนไหวนอกสภาในเมืองไทย


ประเทศไทยมีนักเคลื่อนไหวหญิงที่ทำงานภาคประชาชนเข้มแข็งมากอย่างน้อยเห็นตัวอย่างจากความก้าวหน้าในรัฐธรรมนูญที่มีกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับผู้หญิง พูดเรื่องสัดส่วนระหว่างหญิงกับชาย นั่นก็แสดงว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวด้านนี้มีพลังมากจนนำคำพูดเหล่านี้ใส่เข้าไปในรัฐธรรมนูญได้

- เลือกตั้งสมัยหน้า หากนายกฯไม่ใช่ผู้หญิง การพัฒนาบทบาทสตรีจะสะดุดหรือไม่


อยากให้มองทุกอย่างที่เกิดขึ้นคือการเรียนรู้ ถ้าเกิดความเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้แล้วเปลี่ยนกลับไปเป็นผู้นำชายอีก ก็เป็นเรื่องดีที่จะได้นำมาเปรียบเทียบระหว่างลักษณะหญิงหรือชายจะช่วยอย่างไรบ้าง ถ้าได้ผู้นำชายก็สามารถนำความเป็นหญิงเข้ามาช่วยบริหารประเทศได้

"ดิฉันเชื่อว่าประเด็นเรื่องผู้หญิงต้องมีการพูดคุยมากขึ้นคงไม่หยุดยั้งเพียงเท่านี้ เรายังคงต้องการจำนวนผู้หญิงที่เข้ามามีส่วนในการตัดสินใจให้มากกว่านี้ ถึงจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในระดับประเทศได้แต่ถ้าเกิดได้นายกฯหญิงเป็นผู้นำอีกสมัยเหมือนในเยอรมนี หรือออสเตรเลีย ก็ขอให้เป็นอย่างนั้น สาธุ.." (พร้อมยกมือขึ้นไหว้)

- ชาวต่างชาติมองพัฒนาการสิทธิสตรีเมืองไทยอยู่ระดับใด


เท่าที่ได้ฟังเสียงมาจากหลายประเทศ ทั้งผู้นำ นักการทูต และสื่อต่างชาติ ค่อนข้างชื่นชอบประเทศไทยในลักษณะการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ถึงแม้ไทยต้องเผชิญวิกฤตภายในประเทศมากมาย แต่วันนี้เราได้ผู้นำหญิงแล้ว ขณะที่สหรัฐยังทำไม่ได้เลย รวมถึงผู้นำหญิงของประเทศไทยอยู่บนเวทีเศรษฐกิจจำนวนเยอะมาก เมื่อเทียบกับประเทศฝั่งอเมริกาและยุโรป

"ไทยกลายเป็นต้นแบบเรื่องนี้แล้ว ซึ่งตอนนี้ต่างประเทศกลับอยากฟังความคิดเห็นของคนไทยมากว่า ทิศทางอาเซียนจะไปทางไหน เพราะเห็นศักยภาพของไทยก้าวเป็นผู้นำอาเซียนได้ ทั้งมีต้นทุนเยอะ ต่างชาติชื่นชมทรัพยากรมนุษย์ของเรามาก ด้วยความที่คนไทยเป็นคนละเอียดอ่อนรอบคอบ (Attention to Details) ขณะที่ต่างชาติต้องเสียเงินแพง ๆ ไปเรียนรู้เรื่องนี้ ทำให้ประเทศไทยยังไปไกลกว่านี้ได้มาก"

- ผู้หญิงที่เข้ามาเล่นการเมืองต้องปรับอะไรบ้าง


"คิดว่าไม่จำเป็น แค่ทำหน้าที่ไปตามบุคลิกของตัวเอง โดยไม่ต้องเล่นบทโหด ไม่ต้องถึงขนาดไปดึงแย่งเก้าอี้ประธานสภา อย่างนั้นเรียกว่าอุปทานกันไปเอง ว่าต้องทำให้เกิดความรุนแรงถึงจะประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่จำเป็นเลย"

ปิดท้ายด้วยความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยสามารถขึ้นนำเป็นอันดับ 1 ได้ แม้ออง ซาน ซู จี จะเป็นฮีโร่หญิงของทั้งโลก แต่เมื่อเทียบภาพรวมในระดับประเทศแล้ว บทบาทผู้หญิงของไทยไม่แพ้ชาติใดในอาเซียน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น