ธ.ก.ส. ร่วม กรมการพัฒนาชุมชน หนุนองค์กรกองทุนการเงินต่างๆในหมู่บ้านและชุมชน รวมกลุ่มเป็นสถาบันการเงินชุมชน พร้อมเพิ่มความรู้ด้านการบริหารจัดการ และต่อยอดด้านเงินทุน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของชุมชนให้เติบโต โดยวางเป้าสร้างสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน 462 แห่ง
นายอรรถพร สิงหวิชัย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสนับสนุนกลุ่มองค์กรกองทุนการเงินในระดับหมู่บ้านและชุมชน ร่วมบูรณาการและเชื่อมโยงด้านการบริหารจัดการ เงินทุนของชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่สมาชิก พร้อมต่อยอดทั้งด้านความรู้ เงินทุน เพื่อสร้างสถาบันการจัดการเงินทุนที่เข้มแข็ง สู่ระบบเศรษฐกิจฐานราก
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส. มีนโยบายที่จะให้เกษตรกรและประชาชนในชนบทได้มีโอกาสเข้าถึง และได้รับบริการด้านการเงินที่สะดวกรวดเร็ว เฉกเช่นคนในเมือง ดังนั้นการเข้าไปพัฒนากลุ่มการเงินและกลุ่มอาชีพ ภายในชุมชน เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนกลุ่มอาชีพ องค์กรสตรี กลุ่มกองทุนต่าง ๆ เป็นต้น ให้ยกระดับเป็นสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนที่มีประสิทธิภาพ จึงสอดคล้องกับนโยบายของ ธ.ก.ส. เพราะสถาบันการเงินดังกล่าว มีความใกล้ชิด และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของสมาชิกในชุมชนได้เป็นอย่างดี
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้ง 2 หน่วยงานจะส่งเสริมให้กลุ่มการเงิน องค์กร ชุมชนต่างๆ ในหมู่บ้าน/ชุมชน มีการบูรณาการและเชื่อมโยงด้านการบริหารจัดการทั้งด้านเงินทุน การส่งเสริมอาชีพ โดยร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และร่วมกันดำเนินการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญให้กับสมาชิก โดย ธ.ก.ส.จะเข้าไปให้ความรู้แก่ผู้นำชุมชน กรรมการ และสมาชิกสถาบัน ในเรื่องการจัดทำระบบบัญชี การตรวจสอบบัญชี การดำเนินการรับ-ถอนเงินฝา การวิเคราะห์สินเชื่อ การจัดทำบัญชีด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พร้อมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการเงินทุน รวมถึงการสนับสนุนเงินทุน เพื่อต่อยอดธุรกิจของสถาบัน
ในส่วนของกรมพัฒนาชุมชน จะเข้าไปสนับสนุนในเรื่องการจัดทำแผนชุมชน การจัดทำฐานข้อมูลชุมชน การจัดตั้งและพัฒนาวิสาหกิจของชุมชน รวมถึงพัฒนาด้านการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้แก่สมาชิกในชุมชน ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวยึดหลักความต้องการของชุมชนและความพร้อมในการขับเคลื่อนโดยคนในชุมชนเพื่อสรางการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินโครงการครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับกลุ่มการเงินในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ให้เป็นสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนเบื้องต้น 462 แห่ง
นายลักษณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ธ.ก.ส.ได้เตรียมความพร้อมด้านการบริหารจัดการ และการจัดทำบัญชีด้วยโปรแกรมระบบบัญชีกองทุนหมู่บ้านให้แก่กองทุนหมู่บ้านในการพัฒนาไปสู่การจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน โดยปัจจุบันมีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ ธ.ก.ส.ดูแลอยู่ จำนวน 39,191 ชุมชน วงเงินสินเชื่อ 22,506 ล้านบาท และภายในปี 2559 ธ.ก.ส. มีเป้าหมายการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านให้เป็นสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน จำนวน 3,000 แห่ง ซึ่งในขณะนี้สามารถพัฒนากองทุนหมู่บ้านไปสู่การเป็นสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนแล้ว จำนวน 300 แห่ง สนับสนุนสินเชื่อไปแล้ว จำนวน 900 ล้านบาท
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น