โดย ชัยพงษ์ สำเนียง
สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่

ภาพจากกรุงเทพธุรกิจ
รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ผ่านนโยบายประชานิยมสร้างมิติใหม่ทางการเมืองที่ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ หันมาต่อสู้เชิงนโยบาย แทนการอิงกับตัวบุคคล การต่อสู้เชิงนโยบายทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการต่อรองกับนักการเมืองมากขึ้น รวมถึงทำให้นักเลง เจ้าพ่อ ผู้อุปถัมภ์ท้องถิ่นลดอิทธิพลลง เกิดชนชั้นใหม่ที่มี “สำนึกทางการเมือง” ในการมีส่วนร่วมกับรัฐในหลายมิติ ทำลายมายาคติ “โง่ จน เจ็บ” ที่คิดว่าประชาชนในชนบทตั้งรัฐบาล และชนชั้นกลางในเมืองล้มรัฐบาล
แต่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลง “ชาวชนบท” จำนวนมากมิได้จำยอมให้ “ชนชั้นกลางในเมือง” ล้มรัฐบาลที่เขาเลือกตั้งได้เช่นในอดีต เช่น เกิดคาราวานคนจน ที่ชุมนุมที่สวนลุมพินี เพื่อสนับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และในการเลือกตั้งทั้งในปี พ.ศ. 2548 และ 2549 ก็ได้ให้การสนับสนุนพรรคไทยรักไทยอย่างท้วมท้น หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้เกิดมิติใหม่ทางการเมืองที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยที่กินได้”
ประชานิยมแม้สร้างความนิยมให้รัฐบาลพรรคไทยรักไทยอย่างมาก และสร้างผลประโยชน์ให้ประชาชนในหลายมิติ แต่การที่ได้รับความนิยมอย่างสูงนี้ (ดู การเมืองสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร: การสร้างประชาธิปไตยที่กินได้ ? (ตอนที่ 1) ) ได้ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
(1) ไม่สนใจต่อระบบรัฐสภา เพราะตลอดเวลาที่เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ค่อยเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร และไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ การที่เป็นพรรคเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียวทำให้ตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ อย่างเด็ดขาด
(2) องค์กรตรวจสอบ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการเลือกตั้ง และสมาชิกรัฐสภา (ส.ว.) ต่างถูกแทรกแซงจากเครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมถึงนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่คอยท้วงติงให้ข้อเสนอแนะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่รับฟัง หรือจากที่ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (2549 : 154-160, 178-184) วิจารณ์ว่าเป็น “ทรราชย์ของเสียงข้างมาก” (tyranny of the majority) (ดูเพิ่มใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 2549 : 136; เกษียร เตชะพีระ 2553ก; 2553ข; ผาสุก พงษ์ไพจิตร 2546; นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2549)
(3) เป็นยุคที่มีการทุจริตขนานใหญ่ เป็นการทุจริตที่มีความซับซ้อน หรือ “การทุจริตเชิงนโยบาย” มี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ของคนในเครือข่ายอย่างกว้างขว้างในหลายเรื่อง (ดูเพิ่มใน นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2549) เช่น การที่ออกนโยบายเอื้อต่อผลประโยชน์ของบริษัทตนเอง และพวกพ้อง การจ่ายเงินใต้โต๊ะถึงร้อยละ 40 ของโครงการที่ลงทุนโดยรัฐบาล การออกหวยบนดินที่ไม่นำเงินเข้าคลังแต่กลับนำมาใช้จ่ายเพื่อโครงการประชานิยม การขายหุ้นให้บริษัทเทมาเส็ก (ประเทศสิงคโปร์) การซื้อที่ดินรัชดา
(4) สร้าง “อาณาจักรแห่งความกลัว” “รัฐตำรวจ” เช่น นโยบายปราบปรามยาเสพติด ทำให้เกิดการฆ่าตัดตอน มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,500 คน ทั้งที่ยังไม่ได้พิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม การหายตัวของทนายสมชาย นีละไพจิตร กรณีล้อมปราบที่มัสยิดกรือแซะ และหน้าที่ว่าการอำเภอตากใบ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 110 คน (OK Nation 2554) เป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน
(5) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มักเป็นผู้ผูกขาดการเสนอญัตติสาธารณะแต่ผู้เดียว (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2549 : 227-233) โดยไม่รับฟังข้อท้วงติง และห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างต่อเนื่องจากประชาชนกลุ่มต่างๆ เช่น ปรากฏการณ์ “สนธิ” หรือ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” หรือ “คนเสื้อเหลือง” ที่ชุมนุมประท้วง โจมตีทักษิณว่าเป็นรัฐบาลที่มีการทุจริตอย่างกว้างขวางและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
(6) การที่ทักษิณได้รับความนิยมอย่างสูง ยิ่งทำให้อำนาจของทักษิณรวมศูนย์มากขึ้น โดยไม่รับฟังข้อท้วงติงของคนรอบข้าง และพลังอื่นๆ ในสังคมที่เคยทัดทานอำนาจรัฐ เช่น นักวิชาการ NGOs การเมืองภาคประชาชน ฯลฯ ล้วนไม่ได้รับความสนใจจากทักษิณ ที่มักอ้างว่ามาจากเสียงข้างมาก 16 หรือ 19 ล้านเสียง กลายเป็นผู้ผูกขาดความคิดเห็นสาธารณะแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายสำหรับสังคมไทย และทักษิณเอง
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ทักษิณถูกต่อต้านอย่างกว้างขวาง คือ ทักษิณ ครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์ ขายหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ให้แก่บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้ง จำกัด (พีทีอี) ทักษิณได้ชี้แจงว่าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ และต่อต้านอย่างรุนแรง เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายที่ว่าด้วยการขายหุ้นในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านั้น เป็นการเอื้อประโยชน์ และการไม่เสียภาษีรายได้จากผลกำไร เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กระแสการต่อต้าน ขยายออกไปในวงกว้าง ท่ามกลางการกดดันจากหลายฝ่าย
ในท้ายที่สุดรัฐบาลต้องยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน 2549 แต่การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคฝ่ายค้าน ที่ประกอบไปด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชนไม่ลงเลือกตั้ง ทำให้สมาชิกพรรคไทยรักไทยบางคนได้จ้างพรรคเล็กลงสมัครเลือกตั้ง
ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาในวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะและให้จัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 แต่ก่อนจะมีการเลือกตั้งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปก.) ได้ทำการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นอันสิ้นสุดรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
แม้ภายหลัง พรรคไทยรักไทยจะถูกรัฐประหาร และต่อมาตั้งรัฐบาลที่มี พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้ความคุ้มครองของ คมช. มีเวลาบริหารประเทศอยู่ปีเศษ และมีการประกาศกฎอัยการศึกหลายจังหวัด แต่การเลือกตั้งในปี 2551 พรรคพลังประชาชนที่เปลี่ยนมาจากพรรคไทยรักไทยก็ชนะเลือกตั้ง มีนายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เครือข่ายภายใต้การสนับสนุนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อมาตามลำดับ
ภายหลังมีการยุบพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ และได้ดำเนินนโยบาย เพื่อเอาใจประชาชนมากมาย เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เรียนฟรี เพิ่มเงินเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี ค่าไฟฟรี ฯลฯ ก็ไม่สามารถชนะเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2554 ได้ พรรคเพื่อไทยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้การสนับสนุนมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคสามารถชนะเลือกตั้งเกินครึ่งถึง 265 เสียงจาก 500 เสียง
พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตได้นายกรัฐมนตรีได้เพียง 159 เสียง แสดงให้เห็นว่าแม้มีความพยายามทำลาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเครือข่าย หรือ “ระบอบทักษิณ” อย่างไรก็ไม่สามารถทำลายความนิยมต่อนโยบายและตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำไว้ได้
แม้ว่ารัฐบาลทักษิณจะมีข้อจำกัดในหลายด้าน แต่ในการขับเคลื่อน และผลของนโยบาย ได้ทำให้เกิดผลในแง่สร้าง “นโยบายที่กินได้” “ประชาธิปไตยที่กินได้” และทำให้คนชนบท และคนในระดับรากฐาน เข้าถึงการบริการของรัฐได้โดยตรง และตระหนักถึงพลานุภาพของ “ฐานเสียง” ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในเมืองได้อย่างแท้จริง
การขึ้นมามีอำนาจของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำให้เกิดปรากฎการณ์ “สนธิ” หรือ “เสื้อเหลือง” ที่ต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยคนเสื้อเหลือง คือ คนระดับกลางหรือสูงกว่าเป็นคนที่ทำงาน “ในระบบ” หรือมีสถานะและการศึกษาที่สูง (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2553 : 132-143) หลังรัฐประหารได้เกิดกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือ “คนเสื้อแดง” โดยขบวนการของคนเสื้อแดงเป็นขบวนการข้ามชนชั้น (อภิชาต สถิตนิรามัย 2554) เป็นคนชั้นกลางในชนบท (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2553) เป็นชาวบ้านผู้รู้โลกกว้าง (Keyes 2553) ฯลฯ
เกษียร เตชะพีระ (2555) ให้คำจำกัดความว่า “…หลังจากก่อหวอดสะสมฐานภาพทางเศรษฐกิจสังคมและบ่มเพาะความสุกงอมทางวัฒนธรรมการเมืองอยู่ในพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบทมานานปี กลุ่มชนผู้กลายมาเป็นคนเสื้อแดงก็ปรากฏตัว บนเวทีการเมืองมวลชนอย่างค่อนข้างกะทันหัน…และเติบใหญ่ขยายตัวอย่างรวดเร็วเหนือความคาดหมายจนกลายเป็นเครือข่ายการเคลื่อนไหวของประชาชนระดับชาติที่กว้างขวาง ยืดหยุ่น เหนียวแน่น ทนทายาด…(เป็น)
ฐานเสียงผลักดันให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้เพียงแค่หนึ่งปีให้หลัง ชั่วแต่ว่าที่ผ่านมาเครือข่ายขบวนการคนเสื้อแดง/ นปช.มีสถานะเสมือนหนึ่ง “ลูกกำพร้า” ทางอุดมการณ์และการเมืองในประวัติศาสตร์ไทย คือเชื่อมต่อไม่ค่อยติดกับขบวนการต่อสู้ใหญ่ๆ ในอดีต …
พูดให้ลงตัวชัดเจนยากว่าตกลงคนเสื้อแดงสืบทอดอุดมการณ์และภารกิจทางการเมืองของขบวนการต่อสู้ใดในอดีตของไทย พวกเขามีที่มาที่ไป ที่อยู่ที่ยืนสืบทอดต่อเนื่องตรงไหนอย่างไร ในกระแสธารประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนไทย ในอันที่จะทำให้พวกเขาปักป้าย ยึดครองพื้นที่และประกาศฐานที่มั่นอันชอบธรรมของตนได้ในจินตนากรรม “ชาติไทย” / “ความเป็นไทย” ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และความทรงจำ…
จนกระทั่งความคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์ความขัดแย้ง การตีความประเด็นข้อเรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลง… คนเสื้อแดงจึงพบความหมายนัยแห่งอุดมการณ์ และภารกิจการต่อสู้ของตนและเลือกตีความแบบ “นับญาติ” กับการอภิวัฒน์ 2475” ซึ่งปรากฏการณ์ทางการเมืองในห้วง 5 – 6 ปีหลังสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงโดยตรงหลายประการ อาทิเช่น
ทักษิณ ชินวัตร
ประการที่หนึ่ง การที่คนเสื้อแดง (นับญาติ) และสืบทอดเจตนาของคณะราษฎร (ตามความคิดของเกษียร เตชะพีระ) เป็นการแสดงให้เห็นว่าแนวคิดประชาธิปไตยในสังคมไทยเกิดความตื่นตัวและต้องการการเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมือง และขบวนการเคลื่อนไหวนี้ทำให้เกิดความตื่นตัวทางการเมืองอย่างไพศาลในสังคมไทย “หน่ออ่อนประชาธิปไตย” ได้ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่คนในอดีตไม่คุ้นชิน
ประการที่สอง ฐานการเมืองที่สำคัญเป็นพื้นที่ชนบท และชุมชนจนเมือง และ “ที่สำคัญ คนชั้นกลางเมืองไม่อาจผูกขาดความต้องการเสรีภาพ การสร้างเส้นสาย ธรรมาภิบาล ความเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเมืองประชาธิปไตยอีกต่อไป” (ผาสุก พงษ์ไพจิตร 2555) เป็นการเปลี่ยนฐานคิดจากชนบทเป็นผู้เลือกรัฐบาล และคนชั้นกลางในเมืองล้มรัฐบาล
การเลือกตั้งในหลายครั้งที่ผ่านมาได้ทลายกรอบคิดนี้ลงอย่างไม่มีชิ้นดี เพราะคนในชนบทได้แสดงให้เห็นถึงพลังของฐานเสียง ที่ช่วยค้ำยันรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ และการต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ แสดงให้เห็นว่าเขาเหล่านั้นไม่สยบยอมต่ออำนาจของของชนชั้นกลางในเมืองอีกต่อไป
ประการที่สาม การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ได้ทำให้ฐานทางเศรษฐกิจของคนชนบทเปลี่ยนไป เขาไม่ได้เป็นเกษตรกรที่พึ่งพาอีกต่อไป เขาเหล่านั้นได้กลายมาเป็นชนชั้นกลาง ที่มีรายได้จากการผลิตที่หลากหลาย และที่สำคัญ อาชีพหรือกิจกรรมของเขาเหล่านั้นสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับนโยบายของรัฐ พื้นที่ทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งจึงสำคัญในแง่ที่ทำให้เขากำหนดทิศทางนโยบายได้ไม่มากก็น้อยผ่าน “ตัวแทน” ในระดับต่างๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยในระบบเผด็จการ หรือการแต่งตั้ง
ประการที่สี่ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในชั่วหนึ่งอายุคนที่ผ่านมาจึงได้สร้างเกิด“วัฒนธรรมของความเสมอหน้า” ในกลุ่มประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่อาจยอมรับการเมืองแบบเก่าซึ่งคนชั้นกลางมีการศึกษาสูงเป็นผู้กำหนดหรือพยายามกำกับอีกต่อไป” (ผาสุก พงษ์ไพจิตร 2555)
ประการที่ห้า ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่ง คือ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของ “คนเสื้อแดง” สัมพันธ์กับการพัฒนาที่ลำเอียงของรัฐไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ที่เน้นการพัฒนาเมือง และทอดทิ้งชนบท ทำให้ช่องว่าคนรวยกับคนจน ชนบทกับเมือง การเข้าถึงทรัพยากรอย่าไม่เท่าเทียม ฯลฯ ถ่างกว้างขึ้น เมื่อมีนโยบายประชานิยมที่เอื้อต่อคนชนบท ทำให้เกิดสำนึกความเป็น “เจ้าของประเทศ” ที่ทุกคนมีส่วนในประเทศนี้มิใช่แต่คนรวย หรือคนชั้นกลางเท่านั้นที่ผูกขาดความเป็นเจ้าของประเทศ
แม้ภายหลังมีการทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างเอาจริงเอาจังจาก “คนเสื้อแดง” ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยม ทำให้คนกลุ่มนี้มีสำนึกทางการเมืองใหม่ ที่เชื่อมั่น ศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย ที่มีการเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญ
รวมถึงเชื่อว่าระบอบนี้สร้างความเป็นธรรม เท่าเทียมให้คนในสังคมไทย ต่อต้าน “สองมาตรฐาน” “อำมาตย์” ซึ่งแตกต่างจาก “ไพร่” (คำนิยามตัวตนของคนเสื้อแดง) เป็นชุดวาทกรรมของความไม่เท่าเทียมในสังคม ความเปลี่ยนแปลงในห้วงเวลานี้ ได้ทำให้เกิดสำนึกทางการเมือง สำนึกความเป็นพลเมืองอย่างกว้างขวางในสังคมไทย
ประการที่หก ดุลอำนาจของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ เกิดการถักทอสายใยของความสัมพันธ์ในแนวราบมากขึ้น แทนระบบอุปถัมภ์ที่เป็นแนวดิ่ง (ดู อภิชาต สถิตนิรามัย และคณะ 2556)
ประการที่เจ็ด จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม “การเมืองมวลชน” ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองแบบตัวแทน และการเมืองแบบอื่นๆ ซึ่งมวลชนเหลือง แดง น้ำเงิน ฟ้า ฯลฯ เป็นพลังขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ สามารถชี้เป็นชี้ตายการเมืองแบบตัวแทนได้
ภายใต้ความสำคัญของ “ฐานคะแนน” ที่สามารถเป็นบันไดสู่ “อำนาจ” ทำให้มวลชนกลุ่มต่างๆ มีพลังในการต่อรองสูง ดั่งเช่นการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในระดับไพรมารี่เพื่อกำหนดตัวแทนของพรรคการเมือง (แม้ในปัจจุบันอาจยังไม่เป็นจริง)
รวมถึงการเมืองมวลชนที่ออกมาเรียกร้องเคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาต่างๆ ออกมากดดันเรียกร้อง ต่อรองอำนาจรัฐในระดับต่างๆ อย่างกว้างขวาง เป็นหนทางหนึ่งของการสร้างอำนาจของประชาชนที่สะเทือนต่อระบบต่างๆ อย่างไม่มีครั้งใดในประวัติศาสตร์
ในท้ายที่สุด “ประชาชน” เป็นยักษ์ที่ “ตื่น” และไม่อาจหวนกลับเข้าไปสู่ตะเกียงเพียงให้อะลาดินช่วง (หลอก) ใช้อีกต่อไปแล้ว ยักษ์ตนนี้ไม่อาจหวนคืนได้อีกแล้ว แม้อาจเป็นโลกที่ไม่คุ้นเคยของ “อะลาดิน” แต่จงทำใจเถิดครับ
ที่มา.
Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////