
ก.เกษตรฯ ตั้ง กก.สอบโกงฝนหลวง ถ้าไม่ทำจะลุยถึง ป.ป.ช. "ผอ.สำนักฯ" ยันไม่มีล็อคประมูลสารเคมี
ผอ.สำนักฝนหลวงฯยัน ไม่มีล็อคประมูลสารเคมีทำฝนหลวง เพียงแต่มีผู้ผลิตน้อยรายเลยได้หน้าเดิมๆ สตง.เดินหน้าสั่ง จนท.คุ้ยข้อมูลวันนี้ แนะเปิดประมูลนานาชาติถ้าใน ปท.มีการผูกขาด ชี้ถ้าไม่แก้ไขเกรงจะเสียหายต่อโครงการพระราชดำริ กมธ.ทรัพย์ฯเสนอ ก.เกษตรฯ ตั้ง กก.สอบโกงฝนหลวง ถ้าไม่ทำจะลุยถึง ป.ป.ช.
จากกรณี "มติชน" ตรวจสอบพบข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดประกวดราคางานจัดซื้อสารเคมีที่นำมาใช้ในการทำฝนหลวง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งในส่วนของสารยูเรีย และเกลือแป้ง ส่อเค้าว่าจะมีปัญหาเรื่องการผูกขาดของเอกชนเกิดขึ้น เนื่องจากการประกวดราคาในช่วงหลายปีที่ผ่าน แม้ว่าจะมีการใช้วิธีการอี-ออคชั่น แต่มักมีเอกชนไม่กี่รายเข้ามาร่วมการประมูลและได้งานไป โดยเบื้องต้นผู้รับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯ ออกมาระบุว่าสาเหตุมาจากสินค้าเหล่านี้ มีผู้ผลิตในประเทศอยู่น้อยราย
ผู้สื่อข่าว "มติชน" รายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการประกวดราคาจัดซื้อสารเคมีทำฝนหลวงจนถึงปี 2550 พบว่า นอกเหนือจากสารยูเรีย และเกลือแป้งแล้ว สารแคลเซี่ยมอ๊อกไซด์ก็มีการผูกขาดของเอกชนในการเข้ามาประกวดราคาเดียวกัน
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบผลการประกวดราคาจัดซื้อแคลเซี่ยมฯ ในเว็บไซด์ กรมบัญชีกลาง "www.gprocurement.go.th" พบว่ามีการแจ้งผลการประกวดราคาจัดซื้อสารชนิดนี้ ไว้ 3 ครั้ง คือ ปี 2550 มีการแจ้งผลการจัดซื้อจำนวน 2,000 ตัน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2550 โดยใช้วิธีการอี-ออคชั่นเช่นกัน มีเอกชนมายื่นซอง 3 ราย คือ บริษัท กรุงเทพแต่งแร่ จำกัด บริษัท เจมอน จำกัด บริษัท เอส.เอ.แคลเซี่ยม จำกัด เบื้องต้นบริษัทเอส.เอ.แคลเซี่ยม จำกัด ได้รับการคัดเลือกโดยเสนอราคาที่ตันละ 6,240 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,480,000 บาท
ต่อมามีการแจ้งผลการประกวดราคาจัดซื้ออีกครั้งเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2551 รวม1,300 ตัน แต่ครั้งนี้มีเอกชนเข้ามายื่นซอง เพียง 2 รายเท่านั้น คือบริษัทไลม์มาสเตอร์ จำกัด และบริษัทกรุงเทพแต่งแร่ จำกัด ส่วนบริษัท เอส.เอ.แคลเซี่ยมฯไม่ได้เข้าร่วม เบื้องต้น บริษัท ไลม์มาสเตอร์ จำกัดฯเป็นผู้ชนะ รายการที่ 1 ส่งมอบคลังสารฝนหลวง จ.นครสวรรค์ ราคาตันละ 5,852 บาท จำนวน 400 ตัน เป็นเงิน 2,340,800 บาท รายการที่ 2 ส่งมอบคลัง จ.เชียงใหม่ ราคาตันละ 6,250 บาท จำนวน 400 ตัน เป็นเงิน 2,500,000 บาท รายการที่ 4 ส่งมอบ คลัง กทม.ฯ ราคาตันละ 5,500 บาท จำนวน 300 ตัน เป็นเงิน 1,650,000 บาท รวม 3 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 6,490,800 บาท ส่วนบริษัท กรุงเทพแต่งแร่ฯ ได้รับอนุมัติไป 1 รายการ คือ รายการที่ 3 ส่งมอบ คลัง จ.นครราชสีมา ราคาตันละ 5,780 บาท จำนวน 200 ตัน เป็นเงินทั้งสิ้น 1,156,000 บาท
ขณะที่ในจัดซื้ออีกครั้ง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 ปริมาณ 800 ตัน มีเอกชนเข้ามายื่นซอง เพียงแค่ 2 ราย คือ บริษัทกรุงเทพแต่งแร่ฯ และบริษัท ไลม์มาสเตอร์ฯ เหมือนเดิม ผลบริษัทไลม์มาสเตอร์ฯ ชนะในการจัดส่งสารที่คลัง นครราชสีมา ราคาตันละ 6,100 บาท จำนวน 600 ตัน เป็นเงิน 3,660,000 บาท ส่วนบริษัท กรุงเทพแต่งแร่ฯ ชนะการประกวดราคาจัดส่งสารคลัง กทม. ราคาตันละ 6,000 บาท จำนวน 200 ตัน เป็นเงิน 1,200,000 บาท
นายวราวุธ ขันติยานันท์ ผู้อำนวยการสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะบริษัทเอกชนที่ขายสินค้านี้ในประเทศมีอยู่ไม่กี่ราย ซึ่งก็เหมือนกับกรณีสารชนิดอื่นๆ จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
ส่วนที่มีข้อมูลว่าในรายงานผลการตรวจสอบกรณีการจัดซื้อยูเรียที่สำนักฝนหลวงฯ ส่งไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาระบุชื่อบริษัทเอกชนตัวอักษรย่อ "ไอ" ชนะประมูลมากกว่า 6-7 ครั้ง จากเกือบ 10 ครั้งตั้งแต่ปี 2548 ที่ผ่านมา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการผูกขาดยูเรีย ขณะที่การจัดซื้อเกลือแป้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีเพียงแค่ 1-2 ราย ชนะประมูลจัดซื้อเช่นกันนั้น นายวราวุธกล่าวว่า"ไม่สามารถให้ความชัดเจนเรื่องนี้ได้ เนื่องจากข้อมูลไม่ได้อยู่กับตัว"
ผู้สื่อข่าวถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ว่าไม่ได้มีการล๊อคประมูลสารแต่ละชนิด นายวราวุธ กล่าวว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะการประกวดราคาจัดซื้อสารแต่ละครั้งใช้วิธีอี-ออคชั่น เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตทุกรายแข่งขันอย่างเต็มที่ และก็มีการประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่ไม่ได้มีการปกปิดอะไร แต่เมื่อเราประชาสัมพันธ์ไปแล้วมีเอกชนเข้ามาน้อยราย ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกันŽ
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโลภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) กล่าวว่า ในวันที่ 8 มีนาคมนี้ จะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกการประกวดราคาจัดซื้อสารฝนหลวงทุกชนิด เพื่อดูว่าการดำเนินงานแต่ละครั้งเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องคุณภาพของสารนั้นจะเชิญนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาร่วมสอบด้วย ส่วนกรณีที่ทางสำนักฝนหลวงฯ อ้างว่า ที่มีบริษัทเอกชนไม่กี่แห่งเข้าร่วมประมูลเพราะมีผู้ผลิตน้อยรายนั้น ก็จะเข้าไปตรวจสอบเช่นกัน หากเป็นจริง กระทรวงเกษตรฯน่าจะทบทวนรูปแบบใหม่ อาทิ ขยายกฎเกณฑ์การประมูลให้เอกชนต่างชาติเข้าร่วมได้ ไม่ใช่นั่งรับสภาพ ปล่อยให้เอกชนหน้าเดิมๆเข้ามา ขณะที่คุณภาพสินค้าก็ไม่มีการพัฒนา
"ถ้าอะไรที่มันทำแล้วให้งานดีขึ้น ก็ควรลงมือทำ แต่ถ้ามีปัญหาแล้วไม่ยอมทำ ก็อาจเป็นไปได้ว่า มีใครบ้างกลุ่มเห็นว่าทำแบบนี้ดีแล้ว ไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไร หน้าฉากแกล้งทำว่าใช้วิธีอี-ออคชั่น แต่เบื้องหลัง เพราะทุกอย่างทุกกำหนด แบ่งปั่นผลประโยชน์อะไรกันลงตัวแล้ว จะเรื่องที่น่าผิดหวังที่สุด สุดท้ายโครงการฝนหลวงซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโครงการพระราชดำริ ก็จะช่องโหว่ทำให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาแสวงหาประโยชน์ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับโครงการชุมชนพอเพียงมาแล้ว" นายพิศิษฐ์กล่าว
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่เชื่อว่าสารเคมีที่นำมาใช้ในการทำฝนหลวงในประเทศจะมีเอกชนไม่กี่รายผลิตได้ เพราะสารเหล่านี้ไม่ได้มีความพิเศษอะไร เช่น สารยูเรียที่นำมาใช้ ก็ไม่แตกต่างจากยูเรียที่นำไปใช้ทำปุ๋ยเคมี ซึ่งมีเอกชนที่ผลิตจำนวนมาก ที่แต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมน้อยรายอาจจะมีการตกลงอะไรกันไว้หรือไม่ จากข้อมูลที่ตนได้รับแจ้งจากข้าราชการในกระทรวงเกษตรฯ ก็ได้รับการยืนยันมีปัญหาความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นจริง จากการที่ฝายการเมืองพยายามที่เข้าไปล้วงลูกซึ่งทำให้ข้าราชการลำบากใจอย่างมากŽน.อ.อนุดิษฐ์กล่าว
นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กระทรวงการเกษตรฯจะต้องเร่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบปัญหานี้ หากไม่ทำคณะกรรมาธิการจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบเอง โดยตนจะขอมติที่ประชุมในวันที่ 10 มี.ค.นี้หากพบทุจริตจะส่งเรื่องให้คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎรรับไปดำเนินการต่อ เพื่อให้สามารถส่งเรื่องถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป
"คนที่จะมาเป็นคณะกรรมการต้องเป็นบุคคลที่สังคมให้การยอมรับ อาทิ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ นพ.บรรลุ ศิริพาณิชย์ หรือ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ไม่ใช่ตั้งคนในสำนักฝนหลวงฯเข้ามาตรวจสอบกันเอง ทั้งนี้ ในปี 2545-46 ก็เคยมีการทุจริตโครงการฝนหลวง โดยเปลี่ยนสารทำฝนหลวงเป็นสารไม่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ 3 รายแต่น่าแปลกที่เป็นแค่ข้าราชการชั้นผู้น้อย ทั้งที่การมูลค่าการทุจริตสูงถึง 100 ล้านบาท" นายนริศ กล่าวและว่าอยากให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯทั้งรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะโครงการฝนหลวงเป็นโครงการในพระราชดำรีที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้รับชื่อเสียงด้านการสร้างสิ่งประดิษฐ์และเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก นอกจากนี้ยังทำให้พระองค์ได้รับทูลเกล้าฯถวายรางวัลนักประดิษฐ์โลกด้วย
ที่มา.มติชนออนไลน์
***************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น