โดย.นาวิกนำเสียง
หลังจาก Instagram ถูกควบรวมกิจการไปอยู่ในวงแขนของ Facebook ทำให้มีการพูดถึงของ Instagram มากขึ้น
มีการพัฒนาให้สามารถใช้ได้ทั้ง iOS และ Android จนมีผู้ใช้ทั่วโลกมากกว่า 100 ล้านคน เป็นผู้ใช้คนไทยมากกว่า 3 แสนคน ซึ่งจะว่าไปแล้วกระแสของ Instagram ก็ไม่น้อยไปกว่า Twitter หรือสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆเลย จนทำให้บริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญกับ Instagram มากขึ้น และถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการตลาดออนไลน์
ถึงแม้ว่า Instagram จะไม่ได้เป็นสื่อสังคมออนไลน์หลักอย่าง Facebook, Twitter หรือ G+ แต่เชื่อหรือไม่ว่าในปี 2556 แนวโน้มการใช้ สื่อสังคมออนไลน์รอง จะมีสูงมากยิ่งขึ้น และผู้บริโภคจะใช้เวลากับสื่อสังคมออนไลน์รองมากขึ้นด้วย และอาจจะแซงสื่อสังคมออนไลน์หลักบางตัวด้วยซ้ำ หนึ่งในพระเอกของสื่อสังคมออนไลน์รองก็คือ Instagram
Instagram เป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ผู้ใช้จะแชร์รูปภาพกัน ยังสามารถที่จะแชร์ร่วมไปกับ Facebook และ Twitter ได้ การสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) จะผ่านรูปภาพที่นำเสนอ ถ้าต้องการสร้างการมีส่วนร่วมมากขึ้น คุณก็ต้องโพสต์รูปภาพและข้อความที่สร้างสรรค์ เรามาดูไอเดียเหล่านี้ว่าบริษัทสามารถนำไปใช้ได้อย่างไร
รูปสินค้าและบริการ
ผู้บริโภคที่ติดตาม Instagram ของคุณ พวกเขาส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าหรือชื่นชอบในสินค้าและบริการของคุณอยู่แล้ว จึงไม่แปลกอะไรที่พวกเขาจะเฝ้าติดตามสินค้าและบริการใหม่ๆ จากคุณ ดังนั้นสิ่งง่ายๆ ที่คุณทำได้คือแชร์รูปสินค้าและบริการของคุณ อาจจะแชร์สินค้าเป็นชุดตามฤดูกาล แล้วตั้งคำถามให้เดาว่าสินค้านี้คืออะไรเป็นต้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค คุณจะได้ทั้ง Like และก็คอมเมนท์มากยิ่งขึ้น
รูปภาพขั้นตอนการผลิต
นอกเหนือจากสินค้าสำเร็จรูปแล้ว ผู้ติดตาม Instagram ก็อยากจะทราบกระบวนการผลิตด้วยเช่นกัน อยากรู้ว่ามาได้อย่างไร ใช้วัตถุดิบอะไร ผลิตกันอย่างไร เรียกได้ว่า พวกเขาต้องการทราบต้นกำเนิดกว่าจะมาเป็นสินค้าที่พวกเขาชื่นชอบ ถ้าคุณขายไวน์ คุณก็โพสต์รูปไร่องุ่นต้นกำเนิด หรือวิธีการบ่มไวน์ เป็นต้น
รูปภาพเบื้องหลังการทำงาน
ก่อนที่จะโปรโมทสินค้าและบริการผ่านสื่อโฆษณาคุณก็อาจจะสร้างกระแสใน Instagram ก่อน ด้วยการนำเสนอรูปเบื้องหลังการทำงานในการโปรโมทสินค้า รูปภาพโฆษณาหรือแคตตาล็อกก่อนที่จะใช้จริง รูปนางแบบหรือนายแบบ เป็นต้น
การนำเสนอภาพเบื้องหลังของการทำงานหนักของทีมงานจะสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคกับแบรนด์ของเราได้เป็นอย่างดี
รูปภาพการใช้งานของสินค้า
สินค้าบางอย่างสามารถนำไปประยุกต์การใช้งานที่หลากหลายได้รูปภาพการใช้งานของสินค้าที่หลากหลายใน Instagram จะช่วยสร้างจินตนาการของผู้บริโภคได้ บางครั้งพวกเขาอาจจะไม่ทราบมาก่อนก็ได้
คุณสามารถให้ผู้บริโภคส่งรูปภาพประกวดแข่งขันกันได้ ด้วยการส่งรูปภาพการใช้งานแปลกๆ และอย่าลืมให้ Hash tag ด้วยนะครับ สินค้าประเภทเครื่องสำอางสามารถนำไอเดียนี้ไปใช้ได้เป็นอย่างดีเช่นใครแต่งหน้าสวยเก๋ถูกใจเป็นต้น
รูปภาพหลุด
ผู้บริโภคจะมีอยากรู้อยากเห็นสินค้าใหม่ที่กำลังจะออกวางขายภาพหลุดหรือสินค้าต้นแบบจะได้รับความสนใจเป็นอย่างดีคุณอาจจะแชร์ส่วนหนึ่งของสินค้าใหม่ให้ดูหรือร้านค้าใหม่หรือสถานที่ใหม่ๆ ก็ได้แล้วตั้งคำถามให้เกิดเป็นกระแสต้อนรับสินค้าใหม่นั้นๆ
รูปภาพของสำนักงาน
เชื่อหรือไม่ว่า ผู้บริโภคที่ชื่นชอบในสินค้าของคุณ เค้าก็อยากจะร่วมทำงานกับคุณด้วยเช่นกัน รูปภาพออฟฟิศสถานที่ทำงาน การทำงานประจำวัน การอบรมพนักงาน เป็นต้น ก็สามารถสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้บริโภคได้เช่นกัน
บางบริษัทจะแชร์ภาพพนักงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะโดดเด่น หรือทีมงานที่สร้างสินค้าเหล่านั้น เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นหน้าตาของทีมงานผู้สร้างสรรค์สินค้าตัวจริงๆ เป็นต้น
ภาพลักษณ์สถานที่ทำงานและการทำงานจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ด้วยเช่นกัน อีกอย่างจะสร้างความใกล้ชิดของผู้บริโภคกับแบรนด์ได้มากยิ่งขึ้น
รูปกิจกรรม
คุณอาจจะต้องแสดงตัวเป็นผู้สื่อข่าวกิจกรรมของบริษัทผู้บริโภคก็ต้องการติดตามความเคลื่อนไหวของแบรนด์ที่พวกเขาชื่นชอบการรายงานความเคลื่อนไหวของการแสดงสินค้าการออกงานการอบรมลูกค้าก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคอยากที่จะติดตามด้วยเช่นกันผู้บริโภคจะได้รับความรู้ใหม่ด้วยเช่นกันพวกเขาก็จะเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง
สุดท้าย รูปภาพน่ารักๆ
คงจะไม่มีใครปฏิเสธรูปภาพน่ารักหรือรูปภาพที่น่าสนใจเช่นภาพสัตว์ บุคคล สถานที่หรือสิ่งของ เป็นต้น เราก็สามารถแชร์รูปเหล่านี้ได้ มันจะช่วยผ่อนคลายและไม่ดูเป็นการขายสินค้าหรือยัดเยียดผู้บริโภคมากจนเกินไป คุณอาจจะซ่อนโลโก้ของบริษัทเป็นพื้นหลังหรือบังเอิญถ่ายภาพร่วมกับสินค้าของคุณก็ได้ ก็สามารถสร้างการรับรู้ในแบรนด์ของคุณไปด้วยเช่นกัน
คุณจะต้องให้สัดส่วนของรูปภาพเหล่านี้อย่างเหมาะสมไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป การประเมินการมีส่วนร่วมทุกครั้งที่แชร์จะบอกให้คุณทราบเองว่าผู้บริโภคของคุณชอบรูปภาพประเภทไหนอย่างไร
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น