--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วาทกรรม : การเมืองเรื่อง แรงเงา !!?


มีเสียงเรียกร้องจากชาวอีสานอยากให้วิเคราะห์ (Analysis) ถึงละครเรื่อง “แรงเงา” ทางช่อง 3 ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ขณะนี้ เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเขียนถึงละครเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” บ้าง วันนี้ขอทำตามคำขอเล็กน้อย

ก่อนอื่นขอเล่าสั้นๆถึงเรื่องนี้เพื่อความเข้าใจสำหรับคอการเมืองที่ไม่เคยสนใจละเม็งละครเล็กน้อย เนื้อหาเป็นเรื่องที่สามารถพบเห็นได้ในสังคมไทย ที่ดูเหมือนว่าจะมีการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อ “เจนภพ” ผู้อำนวยการกองงานหนึ่ง แอบไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ “มุตตา” เจ้าหน้าที่ในกองของตน แล้วถูก “นพนภา” ภรรยาของเจนภพจับได้

แต่สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องคือ หากเป็นละครสมัยก่อนผู้ที่เป็นภรรยาหลวงมักเป็นฝ่ายที่ต้องนิ่ง ปล่อยให้ภรรยาน้อยแสดงบทบาทเหนือตน กระทำตัวให้น่าสงสาร แต่ละครเรื่องนี้กลับกันทั้งหมด “นพนภา” ภรรยาหลวง ออกมาอาละวาดตามตบตีทั้งสามีและภรรยาน้อยถึงที่ทำงาน จน “มุตตา” ต้องออกจากงานทั้งที่ตั้งท้องและกลับบ้าน แต่สังคมเล็กๆที่บ้านนอกรับไม่ได้กับการท้องไม่มีพ่อ ในที่สุด “มุตตา” จึงฆ่าตัวตาย

ละครอาจจบลงเพียงนี้ แต่คงเป็นการทิ้งคำถามให้ผู้ชมสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าละครเรื่องนี้ต้องการสอนอะไร ดังนั้น “มุนินทร์” ฝาแฝดของ “มุตตา” จึงเกิดขึ้น ในภาคที่เป็นการตอบสนองความต้องการของผู้ชม “มุนินทร์” ปรากฏตัวขึ้นมาเพื่อแก้แค้นให้กับ “มุตตา” จนทำให้ “เจนภพ” และ “นพนภา” เกือบต้องแยกทางกัน แต่สุดท้าย “มุนินทร์” ก็พบว่าสิ่งที่ดีที่สุดแล้วคือการให้อภัยต่อกันนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าละครเรื่องนี้ได้สอดแทรกธรรมะที่สอนสังคมไทยง่ายๆ 2 เรื่องคือ การรักษาศีล 5 โดยเฉพาะเรื่องการไม่ประพฤติผิดในกาม และการไม่ดื่มสุรา อันจะนำไปสู่สิ่งเสพติดได้ กับอีกเรื่องคือ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เพราะกรรมจะสนองต่อผู้กระทำเอง

“มุตตา” กลายเป็นภาพสะท้อนของนางเอกในยุคก่อนที่ต้องทนถูกโขกสับตลอดเวลา ขณะที่สังคมไทยเปลี่ยนไป ผู้หญิงสามารถพึ่งพาตนเองได้ “นพนภา” จึงกลายเป็นภรรยาหลวงที่มีอำนาจเหนือสามี แม้จะพยายามอธิบายว่าเนื่องจากมีฐานะทางครอบครัวเดิมที่ดีกว่าสามีจนสามารถช่วยสนับสนุนความก้าวหน้าของสามีได้ก็ตาม ส่วน “มุนินทร์” กลายเป็นภาพสะท้อนของผู้หญิงยุคใหม่ที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับความไม่ถูกต้อง แม้บางครั้งจะถูกความแค้นเข้าครอบงำจนตัดสินใจผิดไปบ้างก็ตาม

สังคมไทยยังมีความเห็นใจผู้ที่เสียเปรียบหรือผู้แพ้อยู่ตลอดเวลา ประการหนึ่งอาจเนื่องมาจากการถูกอบรมกล่อมเกลาให้รู้จักการ “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้จากคำสอนในพุทธศาสนา แน่นอนว่าทั้งประเทศมิได้นับถือพุทธศาสนากันหมด แต่ความที่มีชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่ทำให้สังคมรู้จักการประนีประนอม ยอมให้อภัย และเห็นใจผู้เสียเปรียบ แต่ด้วยความเป็นโลกาภิวัตน์ (Globalization) ทำให้เราเห็นภาพการต่อสู้ของสองฝ่ายที่ไม่มีการยอมแพ้กันในซีกโลกทั้งหลาย เกิดการซึมซับความรุนแรง และเชื่อมั่นในศักยภาพของตน จึงเกิดการเลียนแบบขึ้นในสังคมไทย

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ อุดมการณ์ทางการเมือง เมื่อฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่ายหนึ่ง จึงเกิดการปะทะกันทางความคิด เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ต่างฝ่ายต่างหาพรรคพวกเพื่อสนับสนุนการกระทำของตน ส่วนคนที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็กระทำตนเป็นผู้ชมไป กลุ่มหลังนี่เองที่จะเป็นผู้ให้คะแนนสงสารกับผู้แพ้หรือผู้เสียเปรียบในการต่อสู้กัน

ลองนึกถึงเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว ขอแบ่งเป็น 2 เรื่องคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการชุมนุมที่หน้าลานพระบรมรูปทรงม้า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นรัฐบาลถูกฝ่ายค้านยกกรณีต่างๆที่แสดงถึงความไม่โปร่งใสในการบริหารงานขึ้นมาอภิปราย คอการเมืองอาจรู้สึกว่ามีน้ำหนักน่าเชื่อถือ แต่คนที่ไม่สนใจกลับรู้สึกเบื่อที่มีแต่การประท้วงมากกว่าการอภิปรายในเนื้อหาสาระ ขณะเดียวกันก็เห็นใจนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิง แต่กลับถูกผู้อภิปรายที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมาอภิปรายกัน 3 วัน 3 คืน

ส่วนนอกสภา การชุมนุมของ “เสธ.อ้าย” อาจได้รับความสนใจจากคนกลุ่มหนึ่ง แต่ด้วยองค์ประกอบที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ผู้ชุมนุมมีจำนวนไม่มากพอที่จะแสดงพลัง หากแต่ภายหลังที่ เสธ.อ้ายประกาศยุติการชุมนุมเนื่องจากผู้ชุมนุมไม่เป็นไปตามเป้า ทำให้คะแนนสงสารเทไปที่ เสธ.อ้าย แม้จะมีเสียงตำหนิจากผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ยังไม่ต้องการยุติการชุมนุมก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องทางการเมืองนี้แม้จะมีกลุ่มประชาชนผู้เป็นกลางเฝ้าจับตามองคอยเทคะแนนให้ฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ โดยที่อีกสองฝ่ายออกมาแสดงบทบาทฟาดฟันกันให้สังคมได้ประจักษ์และเป็นกำลังใจ กลับไม่ใช่เรื่องที่ดีแต่อย่างใด ประเทศไทยไม่ใช่จอโทรทัศน์ที่จะแสดงบทบาทเป็นรายวันเหมือนละครแล้วคอยเช็กความนิยม รอดูว่าใครจะให้คะแนนฝ่ายไหน หากแต่เราต้องแสดงตัวตนในความเป็นจริง รวมทั้งในเวทีโลกด้วย

ขณะที่เรากำลังตั้งท่าชุมนุมประท้วงเป็นรายวัน ขัดขวางการทำงานของฝ่ายตรงข้ามในทุกเรื่องที่เราไม่ได้ผลประโยชน์ โดยอ้างเรื่องของความโปร่งใส เป็นธรรม ตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) อยู่ตลอดเวลานั้น เราได้หันไปมองเพื่อนบ้างบ้างหรือไม่ว่าเขาก้าวไปเพียงใดแล้ว

การประมูลคลื่น 3G ที่ได้ผลการประมูลแล้ว แต่ก็มีการยื่นเรื่องให้เป็นโมฆะ ขณะที่ลาวใช้ 4G แล้ว ประเทศไทยที่ภูมิใจว่ามีความก้าวหน้าอย่างยิ่งยวด ยังมีแค่คลื่น 2G ใช้เท่านั้น ภาษาอังกฤษยังหาวิธีสอนให้คนพูดกันได้ไม่ทั่วประเทศ หันไปดูพม่าที่เปิดประเทศมาพร้อมกับสำเนียงภาษาอังกฤษที่ลื่นไหล ไม่เชื่อลองไปคุยกับแรงงานพม่าที่ทำงานในบ้านเราก็ได้ ผู้เขียนเคยได้ยินแรงงานพม่าที่ทำงานที่ปั๊มน้ำมันหลุดปากบอกให้ผู้เขียนจอดรถให้ตรงกับเครื่องจ่ายน้ำมันอย่างเต็มปากเต็มคำว่า “stop” ฟังแล้วต้องสะดุ้ง นึกถึงแรงงานไทยที่ไปเมืองนอก จะสามารถสื่อสารกับเขาได้สักเท่าใด

แรงเงาคงเป็นเพียงละครที่สะท้อนสังคมไทยให้เห็นในจอโทรทัศน์เท่านั้น แต่คงไม่ต้องนำมาใช้ในชีวิตจริง เพราะเพียงเท่าที่เป็นอยู่นี้เราก็ตกต่ำไม่ทันเพื่อนบ้านอยู่แล้ว ถ้าเป็นไปได้ผู้เขียนอยากเห็นสังคมไทยเหมือนละครเรื่องนี้ในตอนท้ายที่ทุกฝ่ายหันมาสำนึกถึงความเป็นจริง และให้อภัยกันและกัน นั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการเป็นเช่นเดียวกัน

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข  คอลัมน์ หอคอยความคิด โดย วิษณุ บุญมารัตน์

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น