เตียง ศิริขันธ์ ขุนพลภูพานและผู้นำเสรีไทยสายอีสาน ผู้มีคุณูปการต่อบ้านเมืองไทย จึงอยากเล่าถึงบทบาทบางด้านของ “เตียง ศิริขันธ์” ในด้านเกี่ยวกับการสนับสนุนอุดมการณ์คณะราษฎรและในด้านการศึกษา
ก่อนอื่นคงต้องขอเริ่มจากประวัติย่อของ “เตียง ศิริขันธ์” ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ. 2452 ที่สกลนคร ได้เข้ารับการศึกษาแบบสมัยใหม่จนจบชั้นมัธยมฯ 6 โรงเรียนอุดรพิทยานุกูร ต่อมาได้เข้ามาเรียนเป็นนิสิตรุ่นแรกที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบวุฒิประกาศนียบัตรครูมัธยมฯ ได้บรรจุเป็นครูที่โรงเรียนมัธยมฯหอวัง ต่อมาได้ย้ายไปเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูร จังหวัดอุดรธานี
ในระหว่างนั้นได้ร่วมกับ “สหัส กาญจนพังคะ” ออกหนังสือเพื่อนครู 5 เล่ม เพื่อช่วยให้ครูต่างจังหวัดได้สอบเลื่อนวิทยฐานะ
เมื่อเกิดการปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 “เตียง ศิริขันธ์” เป็นผู้หนึ่งที่เห็นด้วยและให้การสนับสนุน และมีความสนใจในแนวคิดแบบประชาธิปไตย ต่อมาได้ศึกษาแนวความคิดเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) จึงเห็นด้วยและมีความศรัทธาในแนวคิดแบบสังคมนิยมของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
แต่ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2478 ครูเตียงได้ถูกข้อหาการเมืองครั้งแรก โดยถูกจับกุมพร้อมกับครูอีก 3 คนคือ ครูปั่น แก้วมาตย์ ครูสุทัศน์ สุวรรณรัตน์ และครูญวง เอี่ยมศิลา ในข้อหามีพฤติกรรมต้องสงสัยว่าจะฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ และเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในโรงเรียน
ครูเตียงถูกขังอยู่ราว 2 เดือนก็ถูกศาลยกฟ้อง แต่กระนั้นครูเตียงได้ตัดสินใจลาออกจากราชการใน พ.ศ. 2479 และมารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร์ ในระหว่างนั้นก็ได้ศึกษาและเขียนหนังสือเกี่ยวกับมุสตาฟา เคมาล และเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศส
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2480 “เตียง ศิริขันธ์” ได้สมัครเป็นผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดสกลนคร และได้รับเลือกเป็น ส.ส. สมัยแรกทันที ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดสกลนครอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481
ในระหว่างทำหน้าที่ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรนั้น “เตียง ศิริขันธ์” ได้ตั้งกลุ่มร่วมกับ ส.ส. อีสานและ ส.ส. ภาคอื่นที่มีหัวก้าวหน้าส่วนหนึ่ง กลายเป็นกลุ่ม ส.ส. ที่มีบทบาทนำในสภาในการต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชน ส.ส. ในกลุ่มนี้ที่สำคัญ เช่น ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (อุบลราชธานี) ถวิล อุดล (ร้อยเอ็ด) จำลอง ดาวเรือง (มหาสารคาม) พึ่ง ศรีจันทร์ (อุตรดิตถ์) ทอง กันทาธรรม (แพร่) ชิต เวชประสิทธิ์ (ภูเก็ต) ดุสิต บุญธรรม (ปราจีนบุรี) เยื้อน พานิชวิทย์ (อยุธยา) เป็นต้น
เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นการนำประเทศไทยเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา “เตียง ศิริขันธ์” ได้ร่วมกับจำกัด พลางกูร ก่อตั้งคณะกู้ชาติเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นและรักษาเอกราชอธิปไตยแห่งชาติ โดยคัดค้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ร่วมมือกับญี่ปุ่น ต่อมาได้ร่วมมือกับกลุ่มของนายปรีดี พนมยงค์ ตั้งขบวนการเสรีไทยใต้ดินขึ้น โดย “เตียง ศิริขันธ์” เป็นหัวหน้าใหญ่ของเสรีไทยภาคอีสาน เพื่อทำการฝึกกองกำลังลับต่อต้านญี่ปุ่นที่เขตเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร
หลังสงครามโลก “เตียง ศิริขันธ์” ได้ร่วมกับ ส.ส. ฝ่ายก้าวหน้าหลายคนตั้งพรรคสหชีพ โดยนำแนวทางตามเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ มาเป็นนโยบายพรรค และสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ เมื่อเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 “เตียง ศิริขันธ์” พยายามต่อต้านแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และถูกจับในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนภาคอีสาน
ต่อมาเมื่อพ้นคดีได้จัดตั้งพรรคสหไทยลงสมัครรับเลือกตั้งและได้เป็น ส.ส.จังหวัดสกลนคร จนถึงวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2495 “เตียง ศิริขันธ์” ถูกตำรวจเชิญตัวจากที่ทำการรัฐสภาและหายสาบสูญไป
จากหลักฐานต่อมาปรากฏว่า “เตียง ศิริขันธ์” ถูกตำรวจภายใต้ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ สังหารชีวิตในวันที่ 15 ธันวาคม โดยศพถูกนำไปเผาทิ้งที่ตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
เรื่องที่อยากเล่าต่อคือ ผลงานแปลของ “เตียง ศิริขันธ์” เรื่อง “เอมีล” ซึ่งเป็นผลงานของ “ฌอง ฌาร์ค รุสโซ” นักปรัชญาฝ่ายประชาธิปไตยคนสำคัญ หนังสือเล่มนี้จึงกลายเป็นหนังสือต้องห้ามในฝรั่งเศสสมัยกษัตริย์ปกครอง เรื่อง “เอมีล” มี 5 บรรพ “เตียง ศิริขันธ์” แปลออกมา 2 บรรพ แต่ได้ตีพิมพ์เพียงบรรพเดียวคือ บรรพแรก ส่วนบรรพที่ 2 สูญหายไปแล้ว
แนวคิดสำคัญของเอมีลคือ เรื่องการศึกษา โดยรุสโซเห็นว่ามนุษย์บริสุทธิ์ในสภาพธรรมชาติ การให้การศึกษาจึงไม่ควรบังคับหรือเอาใจเด็กมากเกินไป ควรให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ แล้วเด็กนั้นจะพัฒนาได้ดีเอง
แนวเสนอของรุสโซนี้เองที่นำมาสู่การปฏิวัติในด้านการศึกษาของยุโรปหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส และยังถือว่าหนังสือเอมีลเป็นหนึ่งในหนังสือปรัชญาการศึกษาเล่มสำคัญ
แม้ว่า “เตียง ศิริขันธ์” จะถูกสังหารภายใต้อำนาจของตำรวจของยุคเผด็จการ แต่อุดมการณ์และวีรกรรมของเขาจะเป็นที่จดจำตลอดไป เขาได้แสดงแนวคิดของเขาในหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร์ วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 ว่า
“ข้าพเจ้าเป็นคนไทย ข้าพเจ้าเป็นไทแก่ตัวเอง ข้าพเจ้าเป็นราษฎรไทยราษฎรสยาม ทั้งข้าพเจ้าต้องการให้ทุกๆคนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเป็นราษฎรจึงเป็นอุดมคติที่ข้าพเจ้าบูชาอันหนึ่ง”
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น