ทูตจีน"เผยรัฐบาลจีนซื้อข้าวไทย เป็นหน้าที่เรื่องของเอกชน ระบุไม่ทราบการเปิดแอลซี แต่ยังไม่มีสัญญาซื้อขาย 5 ล้านตัน
นายก่วน มู่ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการขายข้าวแบบจีทูจี ระหว่างไทยกับจีนว่า เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นมาหลาย10 ปีแล้ว เพราะประเทศไทยผลิตข้าวมากที่สุด และขายข้าวได้เป็นอันดับหนึ่งของโลกตลอดมา จึงมีการหารือกันขอให้จีนซื้อข้าวเพิ่มเพื่อช่วยเหลือชาวนาไทย ให้มีรายได้ดีขึ้น ต่อมาก็มีการลงนามในข้อตกลงสนับสนุนค้าสินค้าเกษตร และ สนับสนุนการค้า โดยในเรื่องข้าวนั้น จีนก็เห็นว่าควรที่จะสนับสนุนจึงลงนามในหลักการเรียกว่า ระหว่างรัฐบาลเป็นในระดับหลักการเท่านั้น แต่ถ้าจะซื้อขายจริงๆจะมอบหมายให้บริษัทไปหารือกับประเทศไทยโดยตรง ทั้งนี้ทราบว่ามีการเซ็นสัญญากับบริษัทแล้ว โดยประมาณหลายแสนตัน แต่ไม่เคยมีสัญญาซื้อขาย 5 ล้านตันตามที่รัฐบาลไทยกล่าวอ้าง เพราะจีนไม่ได้ซื้อข้าวจากไทยประเทศเดียว จึงไม่ได้ซื้อมากมาย เพราะเราก็ไม่ได้ขาดข้าวอยู่แล้ว เพียงแต่ซื้อเพื่อปรับตามความต้องการของตลาดที่ชอบรสชาติข้าวไทย แต่บางครั้งก็ซื้อจากเวียดนาม รัสเซีย และอีกหลายประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามว่าบริษัทที่จีนมอบหมายให้ซื้อข้าวกับบริษัทจีเอสเอสจี กับไทยใช่หรือไม่ นายก่วนมู่ กล่าวว่า ไม่ได้มีบริษัทเดียว แต่มีหลายบริษัทประมาณ 4 - 5 บริษัท ซึ่งสัญญาซื้อขายก็ยังไม่ได้ยุติทั้งหมด ต้องตกลงกันต่อไป ซึ่งสาเหตุที่จีนเลือกซื้อข้าวไทยขณะที่ราคาสูงกว่าประเทศอื่นเพราะคุณภาพและรสชาติต่างกัน โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิของไทยมีซื้อเสียงในประเทศจีน โดยเฉพาะผู้บริโภคทางภาคใต้ของจีนชอบข้าวไทย แม้ราคาจะสูงแต่บริษัทเอกชนต้องคิดว่าคุ้ม ไม่เช่นนั้นก็คงไม่ซื้อข้าวจากไทย เพราะทุกอย่างมีกลไกตลาดกำกับ
เมื่อถามว่า สังคมกำลังสงสัยว่าจีทูจีในการขายข้าวระหว่างไทยกับจีน กำลังเป็นเครื่องมือบังหน้าในการทุจริต เอกอัครราชทูตจีน ปฏิเสธที่จะตอบคำถามนี้โดยกล่าวว่า ไม่ทราบ และอยากอธิบายว่าการซื้อข้าวจากไทยเป็นประเพณีที่ทุกปีต้องซื้อ ส่วนการเปิดแอลซี รัฐบาลจะไม่ทราบเพราะเป็นเรื่องของบริษัท เนื่องจากการดำเนินการของบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจจะทำเอง รัฐบาลมีบทบาทเพียงแค่ชี้นำให้มีการซื้อขายเท่านั้น จากนั้นบริษัทจะไปตกลงกันเองกับประเทศไทย
“ ระบบที่ทำอยู่ตอนนี้ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจีนเป็นผู้ซื้อ แต่มีบทบาทชักนำให้รัฐวิสาหกิจ หรือภาคเอกชนเข้ามาซื้อเท่านั้น หลังจากนั้นก็ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลแล้ว รวมถึงเรื่องการตกลงราคาก็เป็นเรื่องที่สองฝ่ายคุยกัน หลักการอยู่ที่กลไกตลาด บริษัทที่ซื้อไปต้องขายได้กำไร เพราะถ้าขาดทุนคงไม่ซื้อเพราะรัฐบาลไม่ได้ช่วย เนื่องจากมีกฏเกณฑ์และระเบียบหลายอย่าง”นายก่วน มู่ ระบุ
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น